เปิดงบฯ ไตรมาส 2 หุ้นสายการบินอ่วมหนัก เจอวิกฤต “โควิด”

เปิดงบฯ ไตรมาส 2 หุ้นสายการบินอ่วมหนัก เจอวิกฤต “โควิด”


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในกลุ่มสายการบิน และหุ้นที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัส “โควิด-19” โดยตรง ทั้งนี้ พบว่าผลประกอบการ บจ.ในกลุ่มดังกล่าว ปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

อันดับที่ 1 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2/63 สิ้นสุด ณ วันที่ 30 มิ.ย.2563 มีผลขาดทุนสุทธิ 5.34 พันล้านบาท โดยมีผลขาดทุนลดลง 23% จากปีก่อนขาดทุน 6.88 พันล้านบาท

ด้านงวด 6 เดือนแรกปี 2563 มีผลขาดทุน 2.8 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 335% จากปีก่อนขาดทุน 6.44 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเชื่อมั่นและมีข้อสังเกต/เรื่องอื่น เนื่องจาก 1. การขาดสภาพคล่องทางการเงินและการผิดนัดชำระหนี้ 2. ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ต่อการดำเนินงานของกลุ่มบริษัท และ3. การเข้าสู่กระบวนการแผนฟื้นฟูกิจการ

อย่างไรก็ตามในรายงานของผู้สอบบัญชี ผู้สอบบัญชีไม่สามารถให้ข้อสรุปต่อข้อมูลทางการเงินระหว่างกาลรวมของบริษัทฯ และบริษัทย่อยแต่เนื่องจากระบบของตลาดหลักทรัพย์ไม่มีตัวเลือกที่ตรงกับความเห็นของผู้สอบบัญชีบริษัทจึงจำเป็นต้องเลือกหัวข้อไม่แสดงความเชื่อมั่นและมีข้อสังเกต/เรื่องอื่น

อันดับที่ 2 บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA รายงานผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 2/63 สิ้นสุด วันที่ 30 มิ.ย.2563 มีผลขาดทุนสุทธิ 2.97 พันล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 329% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนซึ่งมีผลขาดทุนสุทธิ 69.90 ล้านบาท

ด้านงวด 6 เดือนแรก มีผลขาดทุนสุทธิ 3.31 พันล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 1648% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนซึ่งมีกำไรสุทธิ 189.58ล้านบาท

ทั้งนี้ผลการดำเนินงานในไตรมาสดังกล่าวมีผลขาดทุนเพิ่มขึ้น เนื่องจากบริษัทฯ มีรายได้จากการดำเนินงานในไตรมาสที่ 2ของปี 2562และปี 2563เท่ากับ 5,645.9 ล้านบาท และ 800.4 ล้านบาทตามลำดับ ซึ่งลดลงร้อยละ 85.8 โดยรายได้จากการให้บริการเที่ยวบินแบบประจำในไตรมาส 2/63 เท่ากับ 106.7 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 97.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เป็นผลมาจากจำนวนผู้โดยสารลดลงร้อยละ 97.8 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า จากการหยุดดำเนินการบินชั่วคราวในทุกเส้นทางบินของบริษัทฯ ตามประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย อันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนำ 2019(COVID19) ในเดือนเมษายน 2563

อย่างไรก็ตาม ในเดือนพฤษภาคม 2563 บริษัทฯ ได้เริ่มเปิดดำเนินการบินในเส้นทางภายในประเทศในเส้นทางกรุงเทพ–สมุย โดยได้เปิดดำเนินการบินเพิ่มเติมในเส้นทำงกรุงเทพ–เชียงใหม่, กรุงเทพ-สุโขทัย และ กรุงเทพ-ลำปาง ในช่วงเดือนมิถุนายน 2563 ส่งผลให้ในไตรมาส 2 ปี 2563 บริษัทฯ มีจำนวนผู้โดยสารลดลงร้อยละ 97.8เทียบกับปีก่อนหน้า มีอัตราขนส่งผู้โดยสำรอยู่ที่ร้อยละ 47.3

อันดับที่ 3 บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/63 สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.63 มีผลขาดทุนสุทธิ 2.93 พันล้านบาท จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนซึ่งมีผลขาดทุนสุทธิ 5.88 พันล้านบาท

ด้านงวด 6 เดือนแรก มีผลกำไรสุทธิ 8.05 พันล้านบาท ลดลง 59.57% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนซึ่งมีกำไรสุทธิ 1.99 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ผลการดำเนินงานในไตรมาสดังกล่าวพลิกขาดทุน มีสาเหตุมาจากรายได้รวมอยู่ที่ 1,743.88 ล้านบาท ลดลง 13,830.85 ล้านบาท หรือร้อยละ 88.80 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 15,574.73 ล้านบาท โดยเป็นรายได้จากการขายหรือบริการลดลง 13,795.43 ล้านบาท หรือร้อยละ 91.27 จากการลดลงทั้งรายได้เกี่ยวกับกิจการการบิน 8,110.38 ล้านบาท หรือร้อยละ 97.46 และรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน 5,685.05 ล้านบาท หรือร้อยละ 83.69 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้จำนวนเที่ยวบินและจำนวนผู้โดยสารโดยรวมลดลง รวมทั้งรายได้อื่นลดลง 35.42 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.70

อันดับที่ 4 บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV รายงานผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 2/2563 สิ้นสุด 30 มิ.ย.2563 มีผลขาดทุนสุทธิ 1.14 พันล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 137% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนซึ่งมีผลขาดทุนสุทธิ 482.48 ล้านบาท

ด้านงวด 6 เดือนแรก มีผลขาดทุนสุทธิ 1.81 พันล้านบาท จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนซึ่งมีกำไรสุทธิ 14.73 ล้านบาท

โดยผลการดำเนินงานไตรมาสดังกล่าวขาดทุนเพิ่มขึ้นเนื่องจาก บริษัทมีรายได้ 2,221 ล้านบาท ลดลง 78% จากไตรมาส 2 ปี 2562 ได้รับผลกระทบจากภาพรวมเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอย และคาดว่าจะเป็นจุดต่ำสุดของปี เนื่องจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซบเซาจากการควบคุมการเดินทางเข้าออกประเทศ ส่งผลห้มีนักท่องเที่ยวเดินทางมายังประเทศไทยในไตรมาสดังกล่าวลดลง

 

อันดับที่ 5 บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)  หรือ BAFS รายงานผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 2/63 สิ้นสุด วันที่ 30 มิ.ย.2563 มีผลขาดทุนสุทธิ 228 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนซึ่งมีกำไรสุทธิ 176.13 ล้านบาท

ด้านงวด 6 เดือนแรก มีผลขาดทุนสุทธิ 73.52 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนซึ่งมีกำไรสุทธิ 524 ล้านบาท

โดยผลการดำเนินขาดทุนเนื่องจากรายได้ค่าบริการไตรมาส 2/63  อยู่ที่ 213.99 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน   930.27 ล้านบาท

ส่วนบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK ได้ทำการขอเลื่อนการส่งงบการเงินของบริษัทฯ และบริษัทย่อย สำหรับไตรมาสที่ 2/2563 โดยล่าสุดตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ทำการขึ้นเครื่องหมายพักการซื้อขาย SP ออกไปโดยไม่มีกำหนด

*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

 

Back to top button