สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 17 ส.ค. 2563
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 17 ส.ค. 2563
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (17 ส.ค.) โดยได้รับแรงกดดันจากคำสั่งขายหุ้นกลุ่มธนาคารและกลุ่มอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดี ดัชนี S&P500 และ Nasdaq ปิดในแดนบวก เนื่องจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีได้รับแรงซื้ออย่างต่อเนื่อง ขณะที่นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ รวมทั้งรายงานการประชุมเดือนก.ค.ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยในอนาคต
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 27,844.91 จุด ลดลง 86.11 จุด หรือ -0.31% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,381.99 จุด เพิ่มขึ้น 9.14 จุด หรือ +0.27% ส่วนดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,129.73 จุด เพิ่มขึ้น 110.43 จุด หรือ +1.00%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวขึ้นเมื่อคืนนี้ (17 ส.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ ซึ่งปรับตัวขึ้นขานรับมาตรการของจีนในการอัดฉีดสภาพคล่องในระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่ แต่ตลาดก็ยังคงถูกกดดันจากความวิตกเกี่ยวกับการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นของโรคโควิด-19
ดัชนี Stoxx Europe 600 บวก 0.32% ปิดที่ 369.26 จุด
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,127.44 จุด เพิ่มขึ้น 37.40 จุด หรือ +0.61%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 12,920.66 จุด เพิ่มขึ้น 19.32 จุด หรือ +0.15% และดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,971.94 จุด เพิ่มขึ้น 9.01 จุด หรือ +0.18%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวขึ้นเมื่อคืนนี้ (17 ส.ค.) โดยบวกขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 วัน ขณะที่หุ้นกลุ่มเหมืองแร่พุ่งขึ้นขานรับธนาคารกลางจีนอัดฉีดสภาพคล่องเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,127.44 จุด เพิ่มขึ้น 37.40 จุด หรือ +0.61%
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กทำสถิติปิดพุ่งขึ้นในวันเดียวที่แข็งแกร่งที่สุดในรอบ 4 เดือนเมื่อคืนนี้ (17 ส.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่ปรับตัวลดลง นอกจากนี้ ทองคำยังได้รับปัจจัยบวกจากการที่นักลงทุนเข้าซื้อในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย หลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในหลายประเทศกลับมาสูงขึ้นอีกครั้ง
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. พุ่งขึ้น 48.9 ดอลลาร์ หรือ 2.51% ปิดที่ 1,998.7 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นการพุ่งขึ้นในวันเดียวที่แข็งแกร่งที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 22 เม.ย.ปีนี้
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 1.578 ดอลลาร์ หรือ 6.05% ปิดที่ 27.667 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. เพิ่มขึ้น 8.5 ดอลลาร์ หรือ 0.89% ปิดที่ 967.6 ดอลลาร์/ออนซ์
ส่วนสัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. พุ่งขึ้น 90 ดอลลาร์ หรือ 4.2% ปิดที่ 2,233.80 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (17 ส.ค.) ขานรับรายงานข่าวที่ว่า จีนวางแผนที่จะนำเข้าน้ำมันดิบจากสหรัฐในเดือนส.ค.-ก.ย. นอกจากนี้ สัญญาน้ำมันดิบยังได้แรงหนุนหลังจากสื่อรายงานว่า กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ได้ปฎิบัติตามข้อตกลงปรับลดการผลิตมากถึง 97% ในเดือนก.ค.
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 88 เซนต์ หรือ 2.1% ปิดที่ 42.89 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนต.ค. เพิ่มขึ้น 57 เซนต์ หรือ 1.3% ปิดที่ 45.37 ดอลลาร์/บาร์เรล
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (17 ส.ค.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่ผันผวน ขณะที่นักลงทุนจับตารายงานการประชุมเดือนก.ค.ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยในอนาคต
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.25% แตะที่ 92.8591 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 106.03 เยน จากระดับ 106.55 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9063 ฟรังก์ จากระดับ 0.9093 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3196 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3256 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1864 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1837 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.3101 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3090 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.7207 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7173 ดอลลาร์สหรัฐ