ฟื้นฟูวันวานกับวันนี้
เปรียบเทียบกรณีฟื้นฟูกิจการธุรกิจขนาดใหญ่ 2 กิจการ นั่นคือ บมจ.อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย หรือ TPI ซึ่งประสบความสำเร็จงดงามในอดีต กับการฟื้นฟูกิจการบมจ.การบินไทยในวันนี้
ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์
เปรียบเทียบกรณีฟื้นฟูกิจการธุรกิจขนาดใหญ่ 2 กิจการ นั่นคือ บมจ.อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย หรือ TPI ซึ่งประสบความสำเร็จงดงามในอดีต กับการฟื้นฟูกิจการบมจ.การบินไทยในวันนี้
ซึ่งค่อนข้างจะน่าเป็นห่วง
คณะผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนทีพีไอในนามตัวแทนกระทรวงการคลัง 5 คน ได้แก่พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ ประธานกรรมการ และกรรมการประกอบด้วยดร.ทนง พิทยะ, ปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา, พละ สุขเวช และอารีย์ วงศ์อารยะ ต่อมาดร.วีรพงษ์ รามางกูร เข้าแทนที่ดร.ทนง
ส่วนคณะผู้ทำแผนการบินไทย 7 คน ประกอบด้วย 1.พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน 2.จักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล3.พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค 4.บุญทักษ์ หวังเจริญ 5.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ 6.ชาญศิลป์ ตรีนุชกร และ7.บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส
อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ฯ เป็นคนละบริษัทกับอีวาย หรือเอิร์ล แอนด์ ยัง ที่เป็นผู้ตรวจสอบบัญชีระดับโลก นอกจากนั้นก็ยังไม่มีความแน่ชัดว่า เป็น “อีวาย” เครือข่ายเดียวกันหรือไม่ เพราะผู้ทำแผนเองก็ยังตอบกำกวมในศาลฯ ซึ่งหากไม่ใช่เครือข่ายเดียวกันก็ยิ่งน่าเป็นห่วงเข้าไปใหญ่
เพราะ “อีวาย คอร์ปอเรทฯ” ชื่อนี้ “โนเนม” มาก
การจัดทัพทำแผนและบริหารแผนของทีพีไอในอดีต ก็จัดแบบเต็ม ดูมีความเป็น “มืออาชีพ” ค่อนข้างมาก
นอกจากผู้บริหารแผน 5 ท่าน ทำหน้าที่อำนวยการทั่วไปแล้ว ก็ยังมีสต๊าฟทำงานจากผู้เชื่ยวชาญด้านต่าง ๆ ดังนี้
1.บริษัท ซินเนอจี โซลูชั่น เป็นผู้ดำเนินงานบริหารกิจการและทรัพย์สิน รวมทั้งปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการและประสานงานเจ้าหนี้ ค่าจ้างเดือนละ 20 ล้านบาท 2.บริษัท ยูนิเวอร์แซล แอสเซทส์ เป็นผู้ควบคุมสถานะเงินสดและเงินฝากธนาคาร ค่าจ้างเดือนละไม่เกิน 2.3 ล้านบาท
3.บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ เป็นผู้สอบสถานะทางการเงินทีพีไอและบริษัทในเครือ ค่าจ้าง 2.5 ล้านเหรียญสหรัฐ และค่าที่ปรึกษารายเดือน 1.5 แสนหรียญสหรัฐ เช่นเดียวกับ 4.บริษัท มอร์แกน สแตนเลย์ ทำหน้าที่เดียวกันและรับค่าจ้างเหมาและรายเดือนเท่ากัน
5.บริษัท เคมีคอลมาร์เก็ต แอสโซซิเอท เป็นที่ปรึกษาด้านการตลาดปิโตรเคมี ค่าจ้าง 9.3 ล้านบาท 6.บริษัทนอร์ตัน โรส เป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ค่าจ้างเดือนละ 150,000 บาท และบริษัท เอบีบี จำกัด เป็นผู้จัดทำงบการเงิน ค่าจ้าง 45 ล้านบาท (ภายใน 3 เดือน)
สำหรับเงินเดือนผู้บริหารแผน ตำแหน่งประธานได้ 1,000,000 ล้านบาท กรรมการได้ 750,000 บาท ทำงานแบบเต็มเวลา
ทีพีไอ ใช้เวลาแก้หนี้ประมาณ 120,000 ล้านบาทในเวลา 2 ปี 10 เดือน ส่วนการบินไทย ซึ่งมียอดหนี้สะสม 3.5 แสนล้านบาท และได้รับผลกระทบรุนแรงจากการปิดน่านฟ้า ยังไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะใช้เวลากี่ปีในการฟื้นฟูกิจการ
คิดไปก็น่าเห็นใจและน่าห่วง! การบินไทย ต้องใช้ความเป็น “มืออาชีพ” และ “มองการณ์ไกล” ในการทำแผนและบริหารแผนฟื้นฟูกิจการให้มาก ๆ
การเลือกจ้างบริษัท อีวาย คอร์ปอเรทฯ ยังไม่น่าประทับใจ ซึ่งไม่ใช่เพราะค่าจ้าง 22 ล้านบาท และค่าจ้างรายเดือน 15 ล้านบาท แต่เนื่องจากผลงานไม่เป็นที่ประจักษ์ และไม่มีอะไรให้เชื่อถือได้ว่า จะเข้ามากอบกู้การบินไทยได้
ทนายฝ่ายเจ้าหนี้ THAI ถล่มซะยับว่า ล้มเหลวในการฟื้นฟูกิจการสหฟาร์ม และตัวแทนอีวาย คอร์ปอเรทฯ ก็ยังยอมรับในศาลเองว่า ไม่มีประสบการณ์ในธุรกิจการบิน
คณะผู้ทำแผนการบินไทย น่าจะตั้งหลักทบทวนใหม่เกี่ยวกับ “สต๊าฟทำงาน” เถอะ ถ้าเลือกผิด มันก็เหมือนติดกระดุมเม็ดแรกผิด ย่อมกลัดผิดไปตลอด และขอโทษทีเถอะ ไม่มีใครเขาเอาบริษัทลูกจ้างอย่าง “อีวาย คอร์ปอเรทฯ” มาขึ้นชื่อขึ้นชั้นหราเป็น 1 ในคณะผู้ทำแผนหรอกนะ
ทำไมไม่คิดเลือกที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจการบิน เช่น เจแปน แอร์ไลน์ ซึ่งล้มลุกคลุกคลานมา 2 ครั้งจนกลับมาผงาดได้ในปัจจุบันนี้