คัด 5 หุ้นสุดตรอง! เน้นธีมกำไรเด่น-แรงต้านภาวะศก.สูง
คัด 5 หุ้นสุดตรอง! เน้นธีมกำไรเด่น-แรงต้านภาวะศก.สูง
“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจและรวบรวมบทวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในระยะสัปดาห์ เพื่อที่จะให้นักลงทุนสามารถวางกลยุทธ์รับมือภาวะตลาดที่ยังคงผันผวนสูงได้
ทั้งนี้ บล.ทรีนีตี้ ระบุในบทวิเคราะห์ โดยมองว่า Fund flow: มีสัญญาณเชิงลบเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดตราสารหนี้ไป 3,800 ล้านบาท ทำให้ยอดรวม 2 วันสุดท้ายของสัปดาห์ขายสุทธิไปถึง 7,100 ล้านบาท ส่วนทางฝั่งของตลาดหุ้นก็ขายสุทธิ 3 วันติดกันโดยมียอดรวมถึง 6,000 ล้านบาท ถือเป็นประเทศอันดับ 2 ในเอเชียที่มียอดขายสูงสุดในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นรองเพียงแค่เกาหลีใต้เท่านั้น และทำให้บาทเป็นสกุลเงินในเอเชียที่ถูกเทขายมากที่สุดอย่างเห็นได้ชัด (ดูรูป) ส่วนประเด็นที่น่าสนใจเมื่อคืนวันศุกร์ก็คือการปรับตัว Underperform อย่างมีนัยสำคัญของ ETF หุ้นไทยที่ปรับลดลงไปถึง 1% ทั้งๆที่ดัชนี MSCI Thailand ปรับตัวติดลบไปเพียง 0.4% ในวันเดียวกัน
SET: ด้วยเหตุนี้ จึงคาดว่าทั้งสัปดาห์นี้ หาก SET Index มีการรีบาวด์ ก็คงจะทำได้ไม่เต็มที่มากนัก โดยมองกรอบ Upside เต็มที่เพียงแค่ 1320 จุดเท่านั้น ส่วนกรอบ Downside ประเมินอิงจากประมาณการ EPS ปีหน้าล่าสุดที่ 76.9 บาท จะได้ว่าระดับแรกที่ SET มีโอกาสลงไปทดสอบก็คือ 1290 จุด ส่วนพัฒนาการหลังจากนั้นจะขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของประมาณการ EPS ที่เกิดขึ้นตลอดทั้งสัปดาห์นี้
Factors: สำหรับปัจจัยที่น่าสนใจติดตามประจำสัปดาห์นี้ได้แก่
1) รายงานตัวเลขส่งออก-นำเข้าของไทยประจำเดือนก.ค.ในวันนี้ ซึ่งล่าสุดตลาดคาดการณ์การหดตัวที่ระดับ 19% และ 22% ตามลำดับ โดยมีหมวดที่เราสนใจได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ / อาหาร / เกษตร
2) การประชุมของผู้นำธนาคารกลางโลกที่ปกติจะจัดที่เมือง Jackson Hole แต่ปีนี้จะอยู่ในรูปแบบของ Online streaming โดยนาย Jerome Powell ประธาน Fed มีคิวกล่าวสุนทรพจน์ในวันที่ 28 ส.ค.
Theme: ยังคงแนะนำนักลงทุนโฟกัสไปกับ 4 ธีมการลงทุนเด่นของเราประจำช่วงที่เหลือของปีนี้ ซึ่งทั้ง 4 กลุ่มเป็นกลุ่มหุ้นที่คาดว่าจะเห็น Earnings momentum ในเชิงบวกชัดเจนมากที่สุด และเป็นกลุ่มที่ทนทานต่อการท่องเที่ยวและบริโภคภายในที่น่าจะยังคงอ่อนแอต่อไป ซึ่งได้แก่
1) กลุ่มบริหารหนี้ โดย Top pick ยังคงได้แก่ JMT
) กลุ่ม Packaging โดย Top pick ยังคงได้แก่ SFLEX
3) กลุ่มปั๊มน้ำมัน โดย Top pick ยังคงได้แก่ PTG
4) กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ Top pick ยังคงได้แก่ KCE และ HANA
นอกจากนี้ “ผู้สื่อข่าว” ได้รวบรวมบทวิเคราะห์ของบริษัททั้ง 5 บจ.ได้แก่ JMT SFLEX PTG KCE และ HANA มาดังนี้
บล.บัวหลวง ระบุในบทวิเคราะห์ฯแนะ”ซื้อ”หุ้น บมจ.เจ มาร์ท (JMART) นับแต่นี้มุมมองที่นักลงทุนมีต่อ JMART จะต้องเปลี่ยนไป เพราะเงินลงทุนในบริษัทย่อยต่าง ๆ ที่เดิมเคยกำไรบ้างขาดทุนบ้าง จะมีแต่กำไรเท่านั้น
ด้าน บมจ.ซิงเกอร์ ประเทศไทย (SINGER) ม้ามืดในปีนี้ ทำกำไรเติบโตโดดเด่นหลังจากที่ปรับระบบหลังบ้านอย่างสมบูรณ์ และยังมีพระเอกตลอดกาลอย่าง บมจ.เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) ที่กำไร New high ไปแล้วทั้งกำไร และราคาหุ้น
ส่วนปีหน้าจะมีกองหนุนเพิ่มเข้ามาจาก J-Fintech หลังจากที่พันธมิตรเกาหลีเข้ามาร่วมทุน จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงพื้นฐานหน้ามือเป็นหลังมือ
ดังนั้น จึงปรับกำไรปี 63-64 ขึ้น 17% เป็น 608 และ 754 ล้านบาท ตามลำดับ พร้อมปรับราคาเป้าหมายพื้นฐานขึ้นเป็น 19 บาท อิง PE 28 เท่า (ค่าเฉลี่ยในอดีต +1SD) บน EPS ปี 2564 (fully diluted)
บล.ทิสโก้ แนะนำ “ซื้อ” PTG ราคาเป้าหมาย 20 บาท/หุ้น สำหรับ PTG ด้วยมูลค่าที่เหมาะสม 20 บาท โดยคาดผลประกอบการครึ่งปีหลังจะเติบโต 18% จากครึ่งปีแรกจาก 1) ปริมาณขายน้ำมันที่คาดเติบโตจากการกลับมาเดินทางหลังจากการคลายล็อคดาวน์และการท่องเที่ยวในประเทศหนุนการใช้น้ำมัน โดยเดือน ก.ค. เติบโตกว่า +10% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน 2) ค่าการตลาดน้ำมันยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 1.80-2.0บาทต่อลิตร ซึ่งในบางวันอยู่ในระดับที่เกินกว่า 2 บาทต่อลิตร ในขณะที่ 3) ธุรกิจ Non-oil เริ่มมีทิศทางที่ฟื้นตัวดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน MaxMart และ Punthai ที่เริ่มกลับมาเติบโตในระดับก่อนการระบาด
ด้าน บล.ทรีนีตี้ ระบุในบทวิเคราะห์ฯว่า กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ มีความน่าสนใจว่าการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่ล่าสุดลงไปทำจุดต่ำสุดใหม่ของรอบนั้น กลับไม่ได้ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น แถมในทางกลับกัน กลับปรับตัวอ่อนค่ามากที่สุดในเอเชียในรอบ 1 วันที่ผ่านมาอีกด้วย โดยปัจจัยดังกล่าวเป็น Sentiment เชิงบวกต่อหุ้นในกลุ่มส่งออก ซึ่งหากจะต้องเลือกกลุ่มส่งออกสำหรับการลงทุนในช่วงที่เหลือของปี มองไปยังกลุ่มที่น่าจะมีผลประกอบการครึ่งปีหลังแข็งแกร่งกว่าครึ่งปีแรกอย่างกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากได้ประโยชน์จากภาคการผลิตทั่วโลกที่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ
สำหรับ Top pick ในเชิงกลยุทธ์ยังคงมองไปยังตัว บมจ.เคซีอี อิเลคโทรนิคส์ (KCE) ที่ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา เห็นการปรับประมาณการปี 2564 ขึ้นราว 18% และในวันนี้ได้เพิ่มหุ้นบมจ.ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส (HANA) เข้ามาเป็น Top pick อีก 1 ตัว เนื่องจากเป็นตัวที่เห็นโมเมนตัมเชิงบวกของการปรับประมาณการขึ้นด้วยเช่นกัน
ด้าน บล.ทิสโก้ แนะนำ “ซื้อ” HANA ราคาเป้าหมาย 40 บาท/หุ้น หลังรายงานผลประกอบการ 682 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน และ 235% จากไตรมาสก่อน ดีกว่าที่ตลาดคาด 88% และ 220% ตามลำดับ เนื่องจาก 1) ยอดขายที่ดีกว่าคาด 2) อัตรากำไรที่เพิ่มขึ้น 3) กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 205 ล้านบาท หากไม่รวมรายการพิเศษแล้ว ผลประกอบการจะอยู่ที่ 478 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน และ -6% จากไตรมาสก่อน HANA ได้ประโยชน์จากกลุ่ม PC/Laptops และกลุ่มสื่อสาร (สัดส่วนรายได้ 35%) หนุนผลประกอบการจากไตรมาสก่อน ท่ามกลาง COVID-19
*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน