เช็กด่วน! นักกม. แนะข้อควรปฏิบัติ หากไม่ได้รับหนังสือแจ้งประเมิน “ภาษีที่ดินฯ”

เช็กด่วน! นักกฎหมายแนะข้อควรปฏิบัติ หากไม่ได้รับหนังสือแจ้งประเมิน “ภาษีที่ดินฯ”


ศาสตราจารย์พิเศษ พิภพ วีระพงษ์ Partner บริษัท ลอว์อัลลายแอนซ์ จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้มีประชาชนจำนวนมากเกิดข้อสงสัยว่าผู้ที่ไม่ได้รับหนังสือแจ้งประเมินภาษีและสิ่งปลูกสร้าง (ภดส.6,7,8)  จะทำอย่างไร ต้องไปแสดงตนชำระภาษีภายใน 31 สิงหาคมนี้ด้วยหรือไม่  หากไม่ไปจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างไร  จึงขอแนะนำ ดังนี้

1.ตรวจสอบให้แน่ใจว่าไม่ได้รับหนังสือแจ้งประเมินจริงหรือไม่ เพราะตามกฎหมายภาษีที่ดินฯ  สำนักงานเขตหรือเทศบาล จะต้องส่งหนังสือแจ้งประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ภดส.6,7,8) ให้ท่านภายในเดือนสิงหาคม 2563 (หรือภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 และปีถัดๆ ไป)   โดยสามารถส่งด้วยวิธีการต่างๆ ดังนี้

ก. ส่งให้ผู้เสียภาษีโดยตรง (by-hand)

หรือ ข. ส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ณ ภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่ หรือสถานที่ทำการของผู้เสียภาษีนั้น  โดยผู้รับหนังสือไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เสียภาษีเอง

หรือ ค. ถ้าไม่สามารถส่งได้ทั้งสองวิธีตาม ก. หรือ ข. เจ้าหน้าที่ก็จะใช้วิธีการ (1) ปิดหนังสือ ภดส.6 ไว้ ณ ภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่ หรือสถานที่ทำการของผู้เสียภาษี หรือ (2) ลงประกาศหนังสือพิมพ์ก็ได้

ทั้งนี้ หากเจ้าหน้าที่ใช้วิธีการปิดประกาศ (1) หรือลงประกาศหนังสือพิมพ์ (2) จะถือว่าผู้เสียภาษีได้รับหนังสือแจ้งประเมินในอีก 7 วันถัดมา

ศ.พิเศษ พิภพ ระบุว่า กฎหมายภาษีที่ดินฯ อนุญาตให้เจ้าหน้าที่สามารถส่ง ภดส.6 ให้ผู้เสียภาษีได้หลายช่องทาง แม้ช่องทางอันเป็นที่นิยมส่งกันมากที่สุดคือการส่งทางไปรษณีย์ตอบรับเพราะมีหลักฐานการส่งชัดเจน แต่ถ้าเจ้าหน้าที่จะใช้วิธีการอื่นก็ย่อมสามารถทำได้ จึงขอให้ตรวจสอบให้ดีเสียก่อนว่าเจ้าหน้าที่ได้ส่ง ภดส. 6 ให้แล้วหรือยัง โดยการตรวจสอบที่อยู่ทุกๆ หลัง ทั้งที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน และที่อยู่ตามความเป็นจริงว่ามีจดหมายส่งมาถึง หรือมีการปิดหนังสือหรือไม่ รวมถึงสอบถามเจ้าหน้าที่เขตหรือเทศบาลที่อสังหาริมทรัพย์ตั้งอยู่ด้วย

เมื่อตรวจสอบถี่ถ้วนแล้วว่าไม่ได้รับหนังสือแจ้งประเมินฯ ขอให้สบายใจว่ายังไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีที่ดินฯ เนื่องจากตามหลักการของกฎหมายภาษีที่ดินฯ นั้นเป็นภาษีที่รัฐต้องเป็นฝ่ายประเมินก่อนภาระภาษีจึงจะเกิดขึ้น ดังจะเห็นได้จากข้อความในหลายๆ มาตราของพระราชบัญญัติภาษีที่ดินฯ เช่น มาตรา 46, 49, 51 ที่ระบุว่า “ให้ผู้เสียภาษีชำระภาษีตามแบบแจ้งการประเมิน….” กล่าวคือ เมื่อไม่ได้รับแบบแจ้งการประเมินก็ไม่มีหน้าที่ชำระภาษีนั่นเอง

กรณีนี้จะต่างจากภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามประมวลรัษฎากรที่ใช้หลักการประเมินตนเองซึ่งผู้เสียภาษีต้องประเมินตนเองและเสียภาษีตามกำหนดเวลาในกฎหมายเสมอไม่ต้องรอให้เจ้าหน้าที่ประเมินภาษีของก่อน

อย่างไรก็ตาม ผู้เสียภาษีควรไปแสดงตัวเพื่อชำระภาษีที่ดินฯ ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้รับหนังสือแจ้งประเมินฯ ภายใน 31 ส.ค.63 นี้หรือไม่ ศ.พิเศษ พิภพ ระบุว่า การที่ไม่ได้รับหนังสือแจ้งประเมินฯ ภดส.6  จากสำนักงานเขตหรือเทศบาล มีความเป็นไปได้หลายกรณี  เช่น  ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างของท่านได้รับยกเว้นภาษี โดยเจ้าหน้าที่อาจตีความว่าเป็นที่ดินที่ประกอบการเกษตร หรือเป็นบ้านที่ท่านเป็นเจ้าของและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน หรือเจ้าหน้าที่ยังสำรวจไม่พบ, ตรวจสอบไม่แล้วเสร็จหรือยังไม่ได้ตรวจสอบ จึงไม่ได้ออกหนังสือแจ้งประเมิน (ภดส.6) ส่งมาให้

กรณีนี้ไม่จำเป็นต้องไปแสดงตัวเพื่อเสียภาษีแต่อย่างใด เพราะไม่มีแบบแจ้งประเมินให้ต้องเสียภาษี

อย่างไรก็ดี หากสำนักงานเขตหรือเทศบาลได้ส่ง ภดส.6 ไปแล้ว แต่เกิดความผิดพลาดส่งไปยังที่อยู่เก่าที่ได้เคยโอนหรือขายที่ดินฯ ไปแล้ว หรือส่งไปยังที่อยู่ใดๆ ที่ไม่ใช่ที่อยู่ปัจจุบันของผู้เสียภาษี แล้วมีบุคคลอื่นลงนามรับเอกสารการประเมินภาษีฯแทน กรณีนี้อาจก่อให้เกิดปัญหา เพราะระบบคอมพิวเตอร์ของเขตหรือเทศบาลจะขึ้นแล้วว่าท่านมีหน้าที่ต้องเสียภาษี เพียงแต่ไม่ได้รับหนังสือและจะต้องเกิดข้อพิพาททางภาษีกับสำนักงานเขตหรือเทศบาลต่อไป

ดังนั้น หากมั่นใจว่าที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างในครอบครองมีแนวโน้มที่จะต้องเสียภาษีที่ดินฯ ก็ขอให้ไปแสดงตัวกับเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบในระบบคอมพิวเตอร์ว่ามีชื่อเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีที่ดินฯ แล้วหรือยัง เมื่อมีชื่อปรากฏเป็นผู้ต้องเสียภาษีแล้วก็ขอให้ท่านตรวจสอบต่อไปว่า การประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมินถูกต้องหรือไม่ ซึ่งมีสิทธิคัดค้านการประเมินได้ภายใน 30 วัน นับแต่ได้รับหนังสือแจ้งประเมินฯ และอาจขอขยายระยะเวลาในการคัดค้านการประเมินต่อผู้บริหารท้องถิ่นได้

 

 

Back to top button