“ธปท.” เผยใช้จ่ายภาครัฐ-ผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง หนุนศก.ไทย ก.ค. ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง
“ธปท.” เผยใช้จ่ายภาครัฐ-ผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง หนุนศก.ไทย ก.ค. ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง แต่ภาคลงทุน-ท่องเที่ยว ยังหดตัวสูง
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยเดือนก.ค.63 ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง ตามการใช้จ่ายภาครัฐและการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองทั้งในและต่างประเทศ โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน มูลค่าการส่งออกสินค้า และการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลง
อย่างไรก็ดี ภาวะการลงทุนยังเปราะบาง สะท้อนจากเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่หดตัวสูงขึ้น ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวหดตัวสูงต่อเนื่อง จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังคงมีอยู่
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลง ตามอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ปรับสูงขึ้นเป็นสำคัญ เนื่องจากมาตรการบรรเทาค่าครองชีพของรัฐบาลบางมาตรการสิ้นสุดลง สำหรับตลาดแรงงานปรับตัวดีขึ้นบ้าง สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่ภาวะการจ้างงานในภาพรวมยังอ่อนแอ ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลจากการส่งออกทองคำเป็นสำคัญ ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายใกล้สมดุล
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนหดตัวน้อยลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน ตามการใช้จ่ายที่ปรับดีขึ้นในเกือบทุกหมวด โดยเป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง และปัจจัยชั่วคราวที่ในเดือนนี้มีวันหยุดยาวมากกว่าระยะเดียวกันปีก่อน ส่วนหนึ่งมาจากการประกาศวันหยุดชดเชยวันสงกรานต์ที่เลื่อนมาจากเดือนเม.ย. ประกอบกับสถานการณ์การจ้างงาน รายได้ครัวเรือน และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับดีขึ้นบ้าง ส่งผลให้ประชาชนออกมาเดินทางท่องเที่ยวและใช้จ่ายมากขึ้น
มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัว 11.9% จากระยะเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมการส่งออกทองคำ มูลค่าการส่งออกหดตัวที่ 14.3% โดยเป็นการหดตัวน้อยลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนทั้งที่รวมและไม่รวมการส่งออกทองคำ ตามการส่งออกที่ปรับดีขึ้นในหลายหมวดสินค้า อาทิ หมวดยานยนต์และชิ้นส่วน หมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ และหมวดอิเล็กทรอนิกส์ สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ทยอยฟื้นตัวตามการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองในหลายประเทศ ทั้งนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลงในเกือบทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกับการส่งออกและการบริโภคภาคเอกชนที่ปรับดีขึ้น
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนหดตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อน ตามการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ ทั้งการนำเข้าสินค้าทุน ยอดจดทะเบียนรถยนต์ และยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศ เนื่องจากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการฟื้นตัว รวมทั้งยังมีกำลังการผลิตส่วนเกินเหลืออยู่มาก อีกทั้งเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง อย่างไรก็ดี การลงทุนหมวดก่อสร้างขยายตัวเล็กน้อยจากที่หดตัวในเดือนก่อนตามยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น
มูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัว 25.4% จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการหดตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนในทุกหมวดสินค้า ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานการนำเข้าน้ำมันดิบ และสินค้าทุนที่ต่ำในปีก่อนหมดลง ขณะที่อีกส่วนหนึ่งสะท้อนถึงอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่แม้ปรับดีขึ้น แต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศหดตัวสูงต่อเนื่องที่ 100% จากระยะเดียวกันปีก่อน จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทยที่ยังคงมีอยู่ ส่งผลให้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน ตามรายจ่ายลงทุนที่ขยายตัวสูง จากการเบิกจ่ายของทั้งรัฐบาลกลางและรัฐวิสาหกิจ อย่างไรก็ดี รายจ่ายประจำหดตัวเล็กน้อยตามการเบิกจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ