พาราสาวะถีอรชุน

เสร็จสิ้นพิธีกรรมไปเป็นที่เรียบร้อยสำหรับการส่งมอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับดอกเตอร์ปื๊ด โดย บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ถือฤกษ์งามยามดี 11 โมง 59 นาทีส่งร่างกฎหมายสูงสุดปกสีทองผูกด้วยริบบิ้นสีธงชาติที่หน้าตาคุ้นๆ ให้กับ เทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ พร้อมส่งร่างอีก 250 ฉบับให้กับสมาชิกสปช.ทุกคน


เสร็จสิ้นพิธีกรรมไปเป็นที่เรียบร้อยสำหรับการส่งมอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับดอกเตอร์ปื๊ด โดย บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ถือฤกษ์งามยามดี 11 โมง 59 นาทีส่งร่างกฎหมายสูงสุดปกสีทองผูกด้วยริบบิ้นสีธงชาติที่หน้าตาคุ้นๆ ให้กับ เทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ พร้อมส่งร่างอีก 250 ฉบับให้กับสมาชิกสปช.ทุกคน

สรุปแล้วร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีทั้งหมด 285 มาตรา 4 ภาค มีความหนา 124 หน้า เนื้อหาสาระนั้นเบื้องต้นยังไม่ต้องศึกษาอะไรมาก เพราะวันนี้คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองภายใต้การนำของ สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กับ คณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่มี เสรี สุวรรณภานนท์ เป็นประธาน ได้นัดชำแหละร่างรัฐธรรมนูญกันโดยละเอียด

สำหรับภาพที่จะมองกันเบื้องต้น สมบัติได้เปรยๆ ไว้ว่า จะดูเนื้อหายังกำหนดให้นายกรัฐมนตรีมาจากคนนอกได้หรือไม่ ยังให้มีระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมเพื่อให้ได้รัฐบาลที่อ่อนแอมาบริหารประเทศในรูปแบบนักการเมืองเข้ามาหาผลประโยชน์ เป็นบุฟเฟ่ต์ทางการเมืองในอนาคตอีกหรือไม่ ก่อนที่จะนำมาซึ่งบทสรุปการเขียนไว้เช่นนี้ทำให้รัฐบาลอ่อนแอจะเดินหน้าปฏิรูปประเทศได้อย่างไร

เมื่ออ่านท่าทีของคณะกรรมาธิการทั้งสองคณะดังว่า ท่วงทำนองคงต้องดุเดือดอย่างแน่นอน เพราะสิ่งหนึ่งซึ่งสมบัติตั้งเป็นปุจฉาก็คือ การได้รัฐบาลอ่อนแอจะบริหารประเทศกันอย่างไร ขนาด พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีอำนาจเบ็ดเสร็จเสริมใยเหล็กด้วยมาตรา 44 ยังบ่นอยู่เป็นประจำว่าบริหารประเทศยาก แล้วรัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพในอนาคตจะเดินกันอย่างไร

อย่างไรก็ตาม ในวันพรุ่งนี้ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ถนนแจ้งวัฒนะ ได้มีการนัดหารือเป็นพิเศษระหว่างสมาชิกสปช.กับคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ว่ากันว่า น่าจะเป็นการเปิดใจ เคลียร์ปมปัญหากันครั้งสุดท้าย ก่อนที่จะไปยกมือโหวตรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 กันยายน ดูจากหนทางที่แผ้วถางกันไว้ในช่วงโค้งสุดท้ายไม่น่าจะมีอะไรทำให้สะดุด

จุดใหญ่ใจความต้องไปวัดกันในชั้นการลงประชามติโดยอาศัยเสียงประชาชนเป็นชี้ขาด หากจะให้มองเมื่อถึงเวลานั้น ฝ่ายผู้มีอำนาจคงงัดมุกเดิมออกมาใช้คือให้รับกันไปก่อนเพื่อจะได้มีการเลือกตั้ง เป็นการบีบเจ้าของเสียงทั้งประเทศไปในตัว แต่บทเรียนจากรัฐธรรมนูญฉบับหน้าแหลมฟันดำ น่าจะมีคนหลงกลเชื่อตามการโฆษณาชวนเชื่อน้อยลง

สิ่งสำคัญคงอยู่ที่ท่าทีของพรรคการเมืองทั้งหลายแหล่โดยเฉพาะสองพรรคการเมืองใหญ่ เพื่อไทยและประชาธิปัตย์ ฟากฝั่งพรรคนายใหญ่นั้นชัดเจนแล้วว่า ยากที่จะทำใจยอมรับรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและมีการวางกลเกมอำนาจเหมือนเป็นการรัฐประหารโดยรัฐธรรมนูญไว้ล่วงหน้าไม่ได้ แต่พรรคเก่าแก่ยังแทงกั๊กไม่แสดงออกมาอย่างชัดเจน

ส่วนพรรคการเมืองขนาดกลาง ชาติไทยพัฒนาน่าจะไหลตามพรรคนายใหญ่ ภูมิใจไทยคงออกลูกกลางๆ ปล่อยให้ประชาชนเป็นคนตัดสินใจเอง แต่การลงประชามติรอบนี้สิ่งที่ต้องเกาะติดกันอย่างใกล้ชิดคือ คำถามที่จะถูกส่งมาประกบจากสปช.และสนช.องค์กรละ 1 คำถาม ในส่วนของสปช.นั้นน่าจะชัดเจนว่าคงมีแค่ของฝ่ายสมบัติกับบวรศักดิ์

กับคำถามที่ว่าจะให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง 2 ปีหรือไม่กับเห็นด้วยกับการมีรัฐบาลปรองดองแห่งชาติหรือไม่ ส่วนสนช.ก็ไม่น่าจะแตกต่างกัน ทั้งหมดทั้งมวลล้วนแต่เป็นการวางเกมสอดรับเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับอำนาจเบ็ดเสร็จได้อยู่ต่อไป ไม่ว่าจะด้วยระยะเวลานานเท่าใด 3 หรือ 5 ปี มองเงื่อนไขที่มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติงอกมาในรัฐธรรมนูญ 5 ปีน่าจะเป็นเวลาที่ถูกเลือก

แต่ก่อนจะมองกันไปไกลถึงขนาดนั้น กว่าจะถึงวันที่ 6 กันยายนน่าจะเกิดภาวะฝุ่นตลบในส่วนของสมาชิกสปช.กันเสียก่อน เพราะจะมีคนอย่างน้อย 50 รายไม่ได้ไปต่อในการถูกเลือกให้เข้าไปปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปแห่งชาติ ส่วนโควต้าอีก 200 ที่นั่งก็ใช่ว่าอดีตสมาชิกสปช.จะได้รับการเลือกกลับเข้าไปทำหน้าที่ทั้งหมด

เพราะมองดูสภาพปัญหาจากการทำงานที่ผ่านมา ผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จน่าจะต้องคิดหนักหน่อย แต่ด้วยข้อจำกัดในแวดวงคนดี การที่จะไปหาคนกลุ่มใหม่นอกเหนือจากคนมีสีเข้ามาทำหน้าที่ในสภาดังกล่าวก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น เชื่อได้ว่าน่าจะมีอดีตสมาชิกสปช.อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 100 คนจะได้ไปต่อ ไม่แน่ว่าพวกที่คอยขัดคอขัดขาอาจจะถูกใจได้รับเลือก ส่วนพวกเชลียร์บางทีอาจจะไม่เป็นที่ถูกใจ

เหตุระเบิดแยกราชประสงค์มาจนถึงวันนี้ครบรอบ 1 สัปดาห์พอดิบพอดี ฝ่ายเจ้าหน้าที่ยังคงทำงานกันอย่างเข้มงวด ท่ามกลางการติดตามกันใกล้ชิดทั้งสื่อไทยและสื่อเทศ แต่ที่ทำให้นักข่าวต่างชาติไม่สบายใจคือ กรณีคนร้ายลงมือก่อเหตุมีความพยายามปลดล็อกว่าไม่ได้เป็นการก่อการร้ายข้ามชาติ ขัดกับภาพคนที่ถูกออกหมายจับตามที่พนักงานสอบสวนระบุต่อศาลว่าเป็นชายชาวต่างชาติ

ของพรรค์อย่างนี้ไม่ต้องกลัวเสียหน้าหรือว่าจะสร้างความเสียหายให้กับบ้านเมือง เพราะหากเป็นเรื่องจริงจะได้หามาตรการในการป้องกันและแจ้งเตือนประชาชนกันทันเวลา หรือจะเหมือนอย่างที่ ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ว่าไว้ หยุดดัดจริต มะงุมมะงาหรา หามือระเบิดเสียที เพราะการเดินโดยไม่รู้ทิศรู้ทาง ถึงขนาดป่านนี้ยังไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่า เหตุระเบิดที่ราชประสงค์ มีวัตถุประสงค์อะไร จะอมพะนำอ้างเรื่องความเสียหายต่อรูปคดีแต่ความเชื่อมั่นของประเทศป่นปี้กลับไม่คำนึงถึง

ส่วนการที่ผู้ว่าฯกทม.ออกอาการหงุดหงิดที่รีบไปทำความสะอาดจุดเกิดเหตุนั้นก็อยากให้ใจเย็นๆ เงยหน้ามามองโลกแห่งความเป็นจริงบ้าง การเร่งทำให้เห็นว่าสถานการณ์กลับมาปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น มันสวนทางกับความเป็นจริงไม่ว่าจะเป็นกรณีหุ้นตกระเนระนาด ทัวร์ยกเลิก ต่างประเทศออกคำเตือนนักท่องเที่ยวที่จะมาประเทศไทย ศูนย์การค้าเงียบเหงา เลิกงานคนรีบกลับบ้าน สามทุ่มเงียบสงบทั้งกรุงเทพฯ ความเชื่อมั่นในระยะยาวต่างหากคือสิ่งสำคัญไม่ใช่การสร้างภาพแค่ประเดี๋ยวประด๋าว

Back to top button