‘สมคิด’ งานง่าย ทายท้าวิชามาร
ครม.ประยุทธ์ 2 (ที่ถูกควรเรียกว่า 2 เพราะปรับใหญ่ครั้งแรก) กระตุ้นความเชื่อมั่นด้วยชื่อ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ทั้งที่มีหลายเรื่องถูกมองข้ามเช่น “ทีมสมคิด” เอาเข้าจริงมีแค่ 4 คน คือสมคิด, อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์, อุตตม สาวนายน และสุวิทย์ เมษินทรีย์ นอกนั้นเป็นการเพิ่มบทบาทข้าราชการ
ครม.ประยุทธ์ 2 (ที่ถูกควรเรียกว่า 2 เพราะปรับใหญ่ครั้งแรก) กระตุ้นความเชื่อมั่นด้วยชื่อ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ทั้งที่มีหลายเรื่องถูกมองข้ามเช่น “ทีมสมคิด” เอาเข้าจริงมีแค่ 4 คน คือสมคิด, อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์, อุตตม สาวนายน และสุวิทย์ เมษินทรีย์ นอกนั้นเป็นการเพิ่มบทบาทข้าราชการ
ขณะที่ “ทีมประยุทธ์” เพิ่มรัฐมนตรีทหารจาก 12 เป็น 14 คน ทหารถอยจากต่างประเทศ,คมนาคม, พาณิชย์ แต่เข้าไปคุมเกษตรและพลังงาน ซ้ำยังโยกเก้าอี้กันอลวน เช่นโยก รมว.ศธ.ไปรองนายกฯ ย้าย รมว.ทส.มา ศธ. ย้าย รมว.แรงงานไป ทส. แล้วตั้ง รมว.ทส.ใหม่ ทำยังกับย้ายแม่ทัพภาค 3 ไปภาค 2 ภาค 2 ไปภาค 1 ทั้งที่งานแต่ละกระทรวงแตกต่างมากไม่เหมือนแม่ทัพภาคนั่งที่ไหนก็ได้ นี่คนใหม่มาก็ต้องศึกษางานใหม่ ยกตัวอย่างง่ายๆ พล.ร.อ.ณรงค์พิพัฒนาศัย กับ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ ไม่น่ามีใครรู้เรื่องกระทรวงศึกษามากกว่ากัน แต่อย่างน้อย พล.ร.อ.ณรงค์ก็นั่งมา 1 ปี (แถมยังปลด อ.กฤษณพงศ์ กีรติกร ที่คนในแวดวงอุดมศึกษาเชื่อถือ)
ถามว่าสมคิดกับ 3 เกลอจะทำอะไรได้แค่ไหน แน่ละสมคิดเป็นนักการตลาด มีความสัมพันธ์อันดีกับภาคธุรกิจและสื่อ บุคลิก “นิ่ม” กว่าหม่อมอุ๋ย แต่ในภาวะเศรษฐกิจอย่างนี้ สมคิดจะทำอะไรได้มากไปกว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น เพื่อปะทะปะทังรอเวลา
รออะไร ก็รอร่างรัฐธรรมนูญผ่าน สปช.ผ่านประชามติ กลับสู่การเลือกตั้งสิครับ ถ้าเป็นไปตาม step ความกังวลทางการเมืองที่กดดันเศรษฐกิจจนไม่มีใครกล้าลงทุนไม่กล้าใช้จ่าย ก็จะค่อยๆ ผ่อนคลาย
นั่นแหละคือคำตอบ มองมุมกลับ “ทีมสมคิด” ไม่ต้องทำอะไรมากหรอก เพราะเข้ามารับหน้าในโรดแม็พระยะ 2 ช่วง “ถอย” สู่การเลือกตั้ง (เพื่อเข้าสู่ระยะที่ 3 มีรัฐบาลปรองดองภายใต้โปลิตบูโร) นี่เป็นงานง่ายกว่าทีมหม่อมอุ๋ยเยอะ หรือถ้าจะยาก ก็ขึ้นกับการเมืองเป็นหลัก สมมติเช่นร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน คสช.ต้องอยู่นาน
ต่างกันนะครับกับทีมหม่อมอุ๋ยที่เข้ามาในช่วง “รุก” มีความคาดหวังสูงจะปฏิรูปเรื่องต่างๆ คิดเรื่องระยะยาว ระยะกลาง สำเร็จบ้างล้มเหลวบ้าง ถูกด่าก็เยอะ ไม่ยอมใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ “ประชานิยม” ขณะที่เศรษฐกิจโลกย่ำแย่ รัฐประหารเป็นอุปสรรคต่อการค้าการลงทุนรวมทั้งการท่องเที่ยว
ยิ่ง คสช.ปกครองนานยิ่งเกิดความขัดแย้งเกิดกระแสต้าน ก็เกิดความกังวลทางการเมืองว่ารัฐประหารจะลงจากหลังเสือได้อย่างสันติไหม หรือประเทศจะไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงขึ้น เป็นเมฆทะมึนปกคลุมจนคนไม่กล้าลงทุนไม่กล้าใช้จ่าย
แต่ความกังวลทางการเมืองนี้จะคลายลงถ้าสปช.รับร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 ก.ย. แม้แน่ละ ยังต้องวัดกันในการทำประชามติ แต่ คสช.ก็เชื่อว่าคนไทยหยวนยอมง่าย มีการเลือกตั้งไม่เป็นประชาธิปไตยยังดีกว่าอยู่ใต้คสช.ต่อไปโดยไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้น ประกอบกับทำประชามติภายใต้ ม.44 ฝ่ายคัดค้านจะมีน้ำยาแค่ไหนเชียว
ภารกิจของทีมสมคิดจึงไม่ใช่เรื่องยากอะไร แค่ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 2-3 อย่างในการเมืองช่วงถอยก็เป็นพระเอกได้ แต่ถ้าเกิดวิกฤติการเมืองเช่นประชามติคว่ำร่าง อย่างนั้นก็ตัวใครตัวมัน 100 สมคิดก็เอาไม่อยู่
ใบตองแห้ง