สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 2 ก.ย. 2563
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 2 ก.ย. 2563
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 450 จุดเมื่อคืนนี้ (2 ก.ย.) ทำสถิติทะยานขึ้นในวันเดียวที่แข็งแกร่งที่สุดนับตั้งแต่กลางเดือนก.ค.ปีนี้ ขณะที่ดัชนี S&P500 และ Nasdaq เดินหน้าทำนิวไฮ เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อหุ้นที่ปลอดภัยและสามารถต้านทานวัฎจักรทางเศรษฐกิจได้ดี (defensive stocks) เช่นหุ้นกลุ่มสินค้าผู้บริโภคและกลุ่มสาธารณูปโภค ขณะที่หุ้นกลุ่มเทคโนโลยียังคงได้รับแรงซื้ออย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความหวังที่ว่าบริษัทเทคโนโลยีจะได้ประโยชน์สูงสุดจากการที่ประชาชนต้องพึ่งพาระบบออนไลน์ในช่วงที่ไวรัสโควิด-19 ยังคงแพร่ระบาด
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 29,100.50 จุด เพิ่มขึ้น 454.84 จุด หรือ +1.59% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,580.84 จุด เพิ่มขึ้น 54.19 จุด หรือ +1.54% ส่วนดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,056.44 จุด เพิ่มขึ้น 116.77 จุด หรือ +0.98%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวขึ้นเมื่อคืนนี้ (2 ก.ย.) เนื่องจากนักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้นเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก หลังจากหลายประเทศเปิดเผยข้อมูลกิจกรรมการผลิตค่อนข้างแข็งแกร่ง นอกจากนี้ ความคืบหน้าเกี่ยวกับการพัฒนาวัคซีนต้านโรคโควิด-19 และความหวังเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากธนาคารกลางและรัฐบาลต่างๆ ได้ช่วยหนุนตลาดด้วย
ดัชนี Stoxx Europe 600 บวก 1.66% ปิดที่ 371.28 จุด
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 13,243.43 จุด เพิ่มขึ้น 269.18 จุด หรือ +2.07%, ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,031.74 จุด เพิ่มขึ้น 93.64 จุด หรือ +1.90% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 5,940.95 จุด เพิ่มขึ้น 78.90 จุด หรือ +1.35%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวขึ้นเมื่อคืนนี้ (2 ก.ย.) โดยได้แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มก่อสร้างบ้านที่พุ่งขึ้น หลังอังกฤษเปิดเผยราคาบ้านเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ นักลงทุนยังเชื่อมั่นมากขึ้นเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก หลังหลายประเทศเปิดเผยข้อมูลกิจกรรมในภาคการผลิตที่แข็งแกร่งเกินคาด
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 5,940.95 จุด เพิ่มขึ้น 78.90 จุด หรือ +1.35%
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (2 ก.ย.) เนื่องจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ทำให้ราคาทองคำมีความน่าดึงดูดน้อยลง นอกจากนี้ การที่ตลาดหุ้นนิวยอร์กทะยานขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ยังทำให้นักลงทุนเทขายทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย และหันไปซื้อสินทรัพย์เสี่ยงที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. ร่วงลง 34.2 ดอลลาร์ หรือ 1.73% ปิดที่ 1,944.7 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 1.25 ดอลลาร์ หรือ 4.36% ปิดที่ 27.395 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. ร่วงลง 48.6 ดอลลาร์ หรือ 5.1% ปิดที่ 904.1 ดอลลาร์/ออนซ์
ส่วนสัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนธ.ค. ดิ่งลง 43.60 ดอลลาร์ หรือ 1.9% ปิดที่ 2,267.50 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงเกือบ 3% เมื่อคืนนี้ (2 ก.ย.) หลังมีรายงานว่าการผลิตน้ำมันในอ่าวเม็กซิโกเริ่มฟื้นตัวจากผลกระทบของพายุเฮอร์ริเคนลอรา โดยข้อมูลดังกล่าวได้บดบังปัจจัยบวกจากรายงานสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐที่ปรับตัวลงติดต่อกันหลายสัปดาห์
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนต.ค. ร่วงลง 1.25 ดอลลาร์ หรือ 2.9% ปิดที่ 41.51 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ย. ลดลง 1.15 ดอลลาร์ หรือ 2.5% ปิดที่ 44.43 ดอลลาร์/บาร์เรล
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (2 ก.ย.) โดยดอลลาร์แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง หลังจากมีข้อมูลบ่งชี้ถึงความแข็งแกร่งของภาคการผลิตสหรัฐ ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนส.ค.ของสหรัฐซึ่งมีกำหนดเปิดเผยในวันศุกร์นี้
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.53% แตะที่ระดับ 92.8489 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 106.29 เยน จากระดับ 105.96 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9127 ฟรังก์ จากระดับ 0.9094 ฟรังก์ แต่เมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3069 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3074 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1823 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1907 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3320 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3377 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7317 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7367 ดอลลาร์สหรัฐ