ทำนบแตกอย่าทุรัง
วุฒิสภาเกิดกลุ่มอิสระ 60 ส.ว. ยอมปิดสวิตช์ตัวเอง ยกเลิกอำนาจโหวตนายกฯ ขนาดหมอพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ยังยอมรับ เคยคิดว่าเป็นเรื่องดี แต่วันนี้ทำให้รู้ว่า ส.ว.ไม่สามารถคัดกรองรัฐบาลที่ดีได้
ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง
วุฒิสภาเกิดกลุ่มอิสระ 60 ส.ว. ยอมปิดสวิตช์ตัวเอง ยกเลิกอำนาจโหวตนายกฯ ขนาดหมอพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ยังยอมรับ เคยคิดว่าเป็นเรื่องดี แต่วันนี้ทำให้รู้ว่า ส.ว.ไม่สามารถคัดกรองรัฐบาลที่ดีได้
ไม่ต้องพูดถึงทนายวันชัย “ปรบมือให้หน่อย” ผู้เสนอบทเฉพาะกาล ที่ดิ้นพล่านก่อนเพื่อน บอกว่าถ้าไม่ถอย นรกอาจมาเยือน 250 ส.ว.
แม้อีกด้าน 60 ส.ว.คัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับโดย สสร. ก็สะท้อนได้ว่า ส.ว.เหล่านี้พร้อมลอยแพประยุทธ์ เพื่อให้ตัวเองอยู่ต่อครบ 5 ปี
ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลเสนอญัตติ แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับโดยตั้ง สสร. ซึ่งในสถานการณ์วันนี้ดูจะไม่เพียงพอ เพราะใช้เวลาเกือบสองปี
พรรคก้าวไกลก็ร่วมมือกับ ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล 13 พรรค 99 คน ยื่นญัตติ “ปิดสวิตช์ ส.ว.” ยกเลิกอำนาจโหวตนายกฯ โดยไม่ต้องใช้ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และพรรคเพื่อไทย (ซึ่งรีบยื่นญัตติตามไป ไม่ตกขบวน) ในจำนวนนี้มี ส.ส.รัฐบาล 23 คน ปชป.16 คน
ด้านนอกสภา ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อดีตวีรบุรุษประชาธิปไตย สมัย พ.ค. 35 ก็โผล่ออกมาเสนอให้ประยุทธ์ ลาออก ให้อานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกฯ ตามสูตร 25 ปีก่อน แม้ลบโพสต์ไปและไม่เป็นที่ยอมรับของฝ่ายประชาธิปไตย ก็สะท้อนให้เห็นภาพอีกฝ่าย คือกลุ่มคนที่เคยไล่ทักษิณยิ่งลักษณ์ สนับสนุนรัฐประหาร ณ วันนี้ไม่เอาประยุทธ์แล้ว แม้ยังไม่ชัดว่ามีมากน้อยเพียงไร
อาจจะวัดจาก ดร.อาทิตย์ไม่ได้ เพราะออกอาการไม้เบื่อไม้เมามาหลายปี แต่ก็เชื่อว่ามีคนชั้นกลางในเมืองจำนวนไม่น้อย เบื่อหน่ายระบอบทุกวันนี้ แม้ไม่เอาฝ่ายค้าน ไม่เห็นด้วยกับม็อบ ก็ถอยมาอยู่ห่าง ๆ ไม่ออกมาปกป้องประยุทธ์ ปล่อยให้เป็นหน้าที่หมอวรงค์กับ อุ๊ หฤทัย
คนชั้นกลางไม่เชื่อประชาธิปไตย เชื่อ “คนดีปกครองบ้านเมือง” แต่ 6 ปีรัฐประหารทำให้สิ้นหวัง เสื่อมศรัทธาในอำนาจอนุรักษนิยม มีเลือกตั้งยิ่งพังพินาศเมื่อกวาดต้อนนักการเมืองที่เคยด่า
สถานการณ์ “ทำนบแตก” อย่างนี้ชัดเจนว่า ระบอบประยุทธ์ในแบบที่เป็นอยู่ ไม่สามารถลากถูได้อีกแล้ว ขึ้นกับจะหาทางออกอย่างไร
ประชาชนปลดแอกจะม็อบใหญ่วันที่ 19 ก.ย. ขั้นต่ำคือเรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญ ยุบสภา ไล่ 250 ส.ว. ส่วนเพดานสูงกว่านั้น? กดดันให้เปลี่ยนแปลงได้มากเท่าไหร่ยิ่งดี
สัปดาห์ถัดไป ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเข้าสภา โดยมีหลายญัตติสำคัญ แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ตัดอำนาจ ส.ว. + แก้ระบบเลือกตั้ง ที่เพื่อไทยเสนอ เพื่อสร้างทางออกถ้าจะยุบสภา
ถ้ายอมหาทางลงร่วมกัน ก็นั่นละ หาทางออกด้วยการแก้รัฐธรรมนูญ ยุบสภา เลือกตั้งใหม่พร้อมลงประชามติ มีรัฐบาลใหม่ที่ไม่ได้มาจาก 250 ส.ว. แล้วให้เวลาตั้ง สสร.ร่างรัฐธรรมนูญใหม่
แต่ไม่รู้ว่าจะยอมไหม เพราะขึ้นกับพรรคร่วมรัฐบาล 250 ส.ว. (ซึ่งมาจากการสรรหาโดยประยุทธ์ประวิตร) กองทัพ และโครงสร้างอำนาจอนุรักษนิยมที่หนุนหลัง
ขณะที่ฝั่งนักศึกษาประชาชน นี่ก็เป็นแค่ข้อเรียกร้องขั้นต่ำสุด เพดานจริง ๆ สูงกว่านั้น แต่ถ้าฝ่ายอำนาจยอมถอย ก็ลดแรงกดดันได้ชั่วขณะ
เว้นเสียแต่จะเกิดรัฐประหาร ตามที่มีข่าวสะพัด ซึ่งไม่ใช่เป็นไปไม่ได้ ถ้าฝ่ายอำนาจอยากรัฐประหาร จะทำเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่ต้องซ้อมรบให้เห็น แต่รัฐประหารแล้วจะแก้ปัญหาอย่างไร ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง ความไม่พอใจของประชาชน ฯลฯ รัฐประหารเมื่อไหร่ อำนาจอนุรักษนิยมก็พาตัวเองไปสู่ความพินาศ
ทำไมมีข่าวรัฐประหาร? ก็เพราะปัญหาที่เป็นจริงใหญ่โตสะสม เกินกว่าจะแก้ไขโดยการแก้รัฐธรรมนูญแบบมีข้อจำกัดและใช้เวลา ถ้าฝ่ายอำนาจไม่ปรับไม่ถอยบ้าง ก็จะชนกับพลังคนรุ่นใหม่อย่างเลี่ยงไม่พ้น