“พลังงาน” รอเคาะเกณฑ์ รฟฟ.ชุมชน ในสิ้นเดือนก.ย. ก่อนชง “กพช.” คาดประกาศรับซื้อไฟสิ้นปีนี้

“กระทรวงพลังงาน” รอเคาะเกณฑ์ รฟฟ.ชุมชน ในสิ้นเดือนก.ย. ก่อนชง “กพช.” คาดประกาศรับซื้อไฟสิ้นปีนี้


นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงยังคงผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างรอสรุปหลักเกณฑ์การลงทุนใหม่ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย.นี้ ก่อนจะออกประกาศเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมโครงการเสนอขายไฟฟ้าได้ในช่วงสิ้นปี 63 และคาดว่าจะเกิดการลงทุนได้ในปี 64

สำหรับแนวทางเบื้องต้น กระทรวงตัดสินใจยื่นแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ปี 2561-2580 (PDP2018) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว โดยตามแผนดังกล่าวได้บรรจุเป้าหมายการมีโรงไฟฟ้าชุมชน 1,933 เมกะวัตต์ (MW) โดยการรับซื้อไฟฟ้าจำนวน 700 เมกะวัตต์ จะมีขึ้นภายในปี 65 แบ่งเป็นประเภท Quick Win ไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ และประเภททั่วไป 600 เมกะวัตต์

แต่หาก ครม.ไม่เห็นชอบแผน PDP ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 กระทรวงพลังงานก็มีแผนสำรองเพื่อให้เกิดโรงไฟฟ้าชุมชน ตามแผน PDP2018 ฉบับเดิม ด้วยการโยกโควตาโรงไฟฟ้าชีวมวล โรงไฟฟ้าชีวภาพ มาให้เป็นโควตาของโรงไฟฟ้าชุมชน ราว 100-200 เมกะวัตต์ พร้อมปรับเกณฑ์เงื่อนไขใหม่เพื่อให้มีความเหมาะสมมากขึ้น ส่วนเป้าหมายที่ต้องการมีโรงไฟฟ้าชุมชน 1,933 เมกะวัตต์ตามแผน PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 หรือไม่นั้น ยังต้องรอการพิจารณาในระยะต่อไปก่อน

    “แม้ครม.จะเห็นชอบแผน PDP2018 ดังกล่าวหรือไม่ก็ตาม กระทรวงพลังงานยังสามารถเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนได้แน่นอน แต่อาจต้องปรับรูปแบบใหม่แทน” นายกุลิศ กล่าว

นายกุลิศ กล่าวว่า การปรับเกณฑ์เงื่อนไขโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนใหม่ จะพิจารณาทั้งในด้านโครงการเดิมที่จะเข้าร่วมต้องมีสายส่งรองรับแน่นอน ,การกำหนดสัดส่วนการถือหุ้นระหว่างกลุ่มนักลงทุน และชุมชน ก็อาจจะเปลี่ยนเป็นการรับซื้อพืชพลังงานจากชุมชนในราคาที่สูงทดแทน เพื่อให้ผลประโยชน์ตกสู่เกษตรกร เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดจะเร่งดำเนินการให้เสร็จภายในสิ้นเดือนก.ย. หลังจากนั้นจะนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ประมาณเดือนต.ค. เพื่อให้ประกาศเชิญชวนเข้าร่วมโครงการได้ประมาณสิ้นปีนี้

ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า สำหรับการปรับปรุงหลักเกณฑ์โรงไฟฟ้าชุมชนใหม่นั้น เบื้องต้นกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เห็นว่าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนประเภท Quick Win จะยังคงรับซื้ออยู่ที่ 100 เมกะวัตต์ ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนประเภททั่วไปอีก 600 เมกะวัตต์ อาจจะปรับให้เหลือเพียง 100 เมกะวัตต์ ส่วนกรณีสัญญา Contract Farming โรงไฟฟ้าชีวมวลและก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) เดิมให้ทำกับวิสาหกิจชุมชนนั้น ได้ปรับปรุงใหม่เป็นให้ระบุรายละเอียด เช่น ราคารับซื้อขั้นต่ำ มาตรฐานเชื้อเพลิง ความชื้น โดยจะหารือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องการกำกับดูแลสัญญาต่อไป

ส่วนเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) เดิมให้ทำกับวิสาหกิจชุมชน ได้ปรับเป็นไม่ทำ Contract Farming แต่เพิ่มส่วนแบ่งรายได้มากขึ้น  ขณะที่การปลูกพืช เดิมให้ส่งข้อมูลพื้นที่ที่จะปลูกพืชให้พิจารณา ได้ปรับเป็นให้ส่งข้อมูลพื้นที่ที่จะปลูก และลงพื้นที่ตรวจสอบความเหมาะสมของพื้นที่และการปลูกจริง พร้อมกันนี้ได้เพิ่มเรื่องความยั่งยืนด้วย คือ กำหนดเงื่อนไขในการให้ใบอนุญาตหากไม่ปฏิบัติตามข้อเสนอตอนยื่นข้อเสนอให้ยกเลิกใบอนุญาตหรือกำหนดไว้ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA)

นอกจากนี้การพิจารณาคัดเลือกและประเด็นการให้เงินสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง (FiT) นั้น เดิมกำหนดราคาค่าไฟฟ้า และแข่งขันการให้ผลประโยชน์คืนสู่ชุมชน ก็ได้ปรับใหม่ให้กำหนดผลประโยชน์คืนสู่ชุมชนและแข่งขันประมูลราคาค่าไฟฟ้า โดยกำหนดโควตาของแต่ละเทคโนโลยีเพื่อให้แข่งขันกันเฉพาะในกลุ่มเดียวกัน เป็นต้น

ด้านนายชัชพล ประสพโชค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บมจ.ยูเอซี โกลบอล (UAC) เปิดเผยว่า ขณะนี้เอกชนยังรอความชัดเจนนโยบายจากภาครัฐว่าจะเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนต่อหรือไม่ หลังจากนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน อยู่ระหว่างทบทวนหลักเกณฑ์โรงไฟฟ้าชุมชนใหม่ ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนภายในสิ้นเดือนก.ย.นี้ โดยเอกชนพร้อมดำเนินตามนโยบายของภาครัฐ ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีโรงไฟฟ้าที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว 2 แห่ง ที่จ.ขอนแก่น กำลังผลิตรวม 3 เมกะวัตต์ที่พร้อมเข้าร่วมโครงการ แต่หากรัฐมีการปรับหลักเกณฑ์ใหม่ก็ต้องมาดูว่าจะเข้าข่ายแนวทางใด

Back to top button