KTB มองท่องเที่ยวไทยซึมยาว ปีหน้ายังต่ำกว่าช่วงก่อน “โควิด” หนุน Travel Bubble พยุงรายได้

KTB มองท่องเที่ยวไทยซึมยาว ปีหน้ายังต่ำกว่าช่วงก่อน “โควิด” แนะจับตลาดนักท่องเที่ยวไทยในยุค New Normal-หนุน Travel Bubble ช่วยพยุงรายได้


นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างมากจากโควิด-19 โดยรายได้จากการท่องเที่ยวของไทยในปีนี้ มีแนวโน้มหดตัวถึง 2.1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 70% เหลือเพียง 9.1 แสนล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติหดตัวจาก 39 ล้านคน เหลือเพียง 6.8 ล้านคน ส่วนในปี 2564 ประเมินว่าการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงเป็นไปอย่างจำกัด ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจอยู่ที่ 7.6 ล้านคน และรายได้จากการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวเล็กน้อย มาอยู่ที่ 1.24 ล้านล้านบาท ยังต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดโควิดถึง 59%

“โควิด-19 ทำให้มีผู้ติดเชื้อแล้วมากกว่า 27 ล้านคนทั่วโลก ส่งผลให้การท่องเที่ยวระหว่างประเทศหยุดชะงัก และแม้ว่าจะมีวัคซีนก็ไม่สามารถแก้ปัญหาทุกอย่างได้ในทันที เนื่องจากผู้ได้รับวัคซีนยังอาจติดโรคและเป็นพาหะได้ดังนั้น ธุรกิจท่องเที่ยวจำเป็นต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวในประเทศเป็นหลัก และต้องตีโจทย์ใหม่ในยุค New Normal ให้ได้ โดยรายได้จากนักท่องเที่ยวไทยในช่วงก่อนโควิด ที่เคยมีเพียง 36% จะมีสัดส่วนเพิ่มเป็น 70% ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากคนไทยที่เคยเที่ยวนอกกว่า 12 ล้านทริป ที่อาจกลับมาเที่ยวไทยได้ถึงประมาณ 14 ล้านทริปในปีหน้า เนื่องจากการเที่ยวในประเทศ สามารถเที่ยวได้บ่อยกว่าและใช้วันน้อยกว่า”

ด้านนายกิตติพงษ์ เรือนทิพย์ นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวว่า ช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติหดตัว 71% โดยคาดว่าทั้งปีนักท่องเที่ยวต่างชาติจะหดตัว 83% และในปี 64 อาจจะกลับมาเติบโตได้ราว 11.3%

ทั้งนี้ ประมาณการรายได้ท่องเที่ยวปี 64 ในกรณีพื้นฐาน (Base Case) คือเปิด Travel Bubble ซึ่งรับนักท่องเที่ยวเพียงวันละ 2-3 พันคน และรับนักท่องเที่ยวแถบเอเชียในไตรมาส 3 และรับจากประเทศอื่นๆ เพิ่มในไตรมาส 4 จะอยู่ที่ 1.24 ล้านล้านบาท

กรณี Best Case คือเปิด Travel Bubble กับประเทศแถบเอเชียที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ในระดับต่ำ และเปิดรับนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่นเพิ่มเติมในครึ่งปีหลัง กรณีนี้คาดว่ารายได้จะอยู่ที่ 1.6 ล้านบาท

และกรณี Worst Case คือเปิด Travel Bubble ซึ่งรับนักท่องเที่ยวเพียงวันละ 2-3 พันคนตลอดทั้งปี เนื่องจากต้องการรอให้คนไทยส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนเสียก่อน กรณีนี้รายได้จากการท่องเที่ยวจะอยู่ที่ 0.92 ล้านล้านบาท

สำหรับ New Normal พฤติกรรมการท่องเที่ยวของคนไทยเปลี่ยนไป โดยมีแนวโน้มเลือกเที่ยวในประเทศก่อน เพราะความเสี่ยงในการติดเชื้อในต่างประเทศยังสูงกว่าเที่ยวในประเทศ โดยเที่ยวใกล้ๆ สั้นๆ ขับรถไป ซึ่งอัตราการเข้าพัก (OR) ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าจังหวัดที่มีค่า OR กลับมาสูงกว่า 50% ส่วนใหญ่เป็นจังหวัดไม่ไกลจากกรุงเทพฯ เช่น เพชรบุรี และกาญจนบุรี นอกจากนี้คนไทยมีแนวโน้มเลือกเที่ยวสถานที่ Unseen เช่น แหล่งท่องเที่ยวมหัศจรรย์และธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยวผจญภัย แหล่งท่องเที่ยวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แหล่งท่องเที่ยวประเพณีวัฒนธรรม และแหล่งท่องเที่ยววิถีชีวิต ซึ่งคนไม่พลุกพล่าน ทำให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวหน้าใหม่

“อย่างไรก็ตาม แม้ผู้ประกอบการบางรายสามารถปรับตัวรับ New Normal ของนักท่องเที่ยวในประเทศได้ แต่ในภาพใหญ่ หากยังไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ รายได้ท่องเที่ยวไทยยากที่จะกลับมาสู่จุดเดิม ในปีหน้าไทยอาจมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพียง 9 แสนคน หรือมากถึง 14.9 ล้านคน ขึ้นอยู่กับแนวทางการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งในขณะนี้ก็มีหลายแนวทางที่น่าสนใจ ได้แก่ การเลือกเปิด Travel Bubble กับกลุ่มประเทศแถบเอเชียที่มีอัตราผู้ติดเชื้อใหม่ต่ำ อย่าง จีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ เวียดนาม ไต้หวัน หรือการเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวประเภทเกาะที่มีสนามบิน เช่น ภูเก็ต สมุย ที่ในภาวะปกติมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวถึง 1 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวที่มาไทยทั้งหมด หรือการเปิดรับนักท่องเที่ยวกลุ่ม Medical ที่มารักษาตัวหรือทำศัลยกรรม ตลอดจนกลุ่มที่มาตีกอล์ฟ หรือกลุ่มที่มาเที่ยวระยะยาว ซึ่งมีการใช้จ่ายต่อทริปสูงกว่าค่าเฉลี่ยอย่างน้อย 2 เท่า”

น.ส.จารุวรรณ เหล่าสัมฤทธิ์ นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวถึง Travel Bubble ว่า เป็นทางเลือกที่จะมาพยุงรายได้ของการท่องเที่ยวได้ โดยการระบาดของโควิดส่งผลกระทบต่อหลายประเทศที่พึ่งพารายได้จากธุรกิจท่องเที่ยว ปัจจุบันจึงมีความพยายามที่จะเปิดประเทศเพื่อรับต่างชาติแต่ยังต้องมีมาตรการเพื่อคัดกรองและควบคุมเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดการระบาดระลอก 2

โดย Travel Bubble ต้องพิจารณาถึงผลทางเศรษฐกิจ รวมถึงสุขอนามัยชของคนในประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับนักวิชาการและบริษัทที่ปรึกษาในสิงคโปร์ที่ให้ข้อมูลว่าการทดลองเปิด Travel Bubble ทำให้ทราบว่าจะสามารถทำได้จริงหรือไม่และอาจจะขยายมากขึ้นหากไม่พบปัญหา

Travel Bubble คือการเปิดให้มีการท่องเที่ยวกับประเทศใดประเทศหนึ่งที่เป็นประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในระดับต่ำ ในบางประเทศต้องการทั้งผลตรวจและทำการกักตัวแต่บางประเทศไม่ต้องการกักตัว

โดย 2 ประเทศที่ทำ Travel Bubble คือสิงคโปร์และสหราชอาณาจักร โดยสิงคโปร์ เริ่มทำ Fast Lane ครั้งแรกกับจีน โดยอนุญาตให้นักธุรกิจจาก 6 เมือง เช่น เซี่ยงไฮ้ ฉงชิ่ง สามารถเดินทางเข้าสิงคโปร์ได้โดยต้องมีผลตรวจเชื้อโควิด-19 ทั้งก่อนเดินทาง ระหว่างกักตัว 14 วันในสิงคโปร์และก่อนเดินทางกลับ

และขณะนี้สิงคโปร์อยู่ระหว่างการหารือเพื่อทำ Travel Bubble กับ ไทย เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย

ส่วนกรณีของสหราชอาณาจักร ผู้เดินทางจาก 67 ประเทศ สามารถเข้าสหราชอาณาจักรโดยไม่ต้องกักตัว แต่หากมาจากประเทศอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในข้อยกเว้น ต้องกักตัวนาน 14 วัน

สำหรับประเทศไทยอาจพิจารณาทำ Travel Bubble กับประเทศในเอเชียที่มาไทยมากและมีจำนวนผู้ติดเชื้อในระดับต่ำ เช่น จีน มาเล เกาหลีใต้ เวียดนาม ไต้หวัน ซึ่งในช่วงก.ค.-ส.ค.มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ย 100-200 ราย

นอกจากนี้ยังมีรูปแบบการเปิด Travel Bubble อื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น 1.การเปิดบางพื้นที่ เช่น เกาะท่องเที่ยวที่มีสนามบิน อย่างภูเก็ต สมุย ซึ่งมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยว 1 ใน 3 หรือประมาณ 33% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาไทย

2.การเที่ยวรายกิจกรรม หรือตลาดเฉพาะกลุ่ม เช่น Medical กอล์ฟ และ 3.เน้นนักท่องเที่ยวแบบ Long Stay ที่ใช้จ่ายต่อทริปสูง

Back to top button