PORT คาดรายได้ปีนี้หดตัว 10% หลังส่งออกนำเข้ายังไม่ฟื้น เน้นชะลอลงทุนรักษาสภาพคล่อง

PORT คาดรายได้ปีนี้หดตัว 10% หลังส่งออกนำเข้ายังไม่ฟื้น เน้นชะลอลงทุนรักษาสภาพคล่อง


นายบัญชัย ครุจิตร รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สหไทย เทอร์มินอล จำกัด (มหาชน) หรือ PORT เปิดเผยว่า บริษัทปรับลดเป้าหมายรายได้ในปี 63 เป็นครั้งที่ 2 มาที่ -10% จากครั้งล่าสุดก่อนหน้านี้คาดว่าจะ -5% เนื่องจากสัญญาณการฟื้นตัวของการนำเข้า-ส่งออกยังไม่กลับมา แม้ว่าในช่วงปลายไตรมาส 2/63 หลายประเทศเริ่มผ่อนคลายล็อกดาวน์ และเริ่มกลับมาดำเนินกิจกรรมการค้าได้มากขึ้นแล้วก็ตาม แต่ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่องทำให้การนำเข้า-ส่งออกชะลอตัวตามไปด้วย

โดยก่อนหน้านี้ในเดือน ส.ค.63 การนำเข้า-ส่งออกเริ่มเห็นการฟื้นตัวขึ้นจากไตรมาส 2/63 โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักที่ใช้บริการท่าเรือของบริษัท โดยได้ใช้บริการเรือขนส่งนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์มาประกอบในประเทศ ทำให้ปริมาณการใช้บริการเรือขนส่งของบริษัทปรับเพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 80% ของปริมาณปกติก่อนเกิดโควิด-19 แต่ในกลุ่มผู้ส่งออกรถยนต์นั้นยังไม่กลับมาใช้บริการเพิ่มขึ้น ทำให้การฟื้นตัวกลับมาของการใช้บริการท่าเรือยังไม่ได้กลับมาเต็มที่ แม้ว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะเห็นสัญญาณบวกมาบ้างก็ตาม

ขณะที่บริษัทได้เลื่อนแผนการลงทุนที่อยู่ระหว่างดำเนินการทั้ง 2 โครงการ หลังจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว โดยโครงการท่าเรือแห่งใหม่ ซึ่งเป็นแห่งที่ 3 ภายใต้ บริษัท บางกอก ริเวอร์ เทอมินอล จำกัด ที่ PORT ร่วมลงทุนกับบริษัท APM Terminals จำกัด และกลุ่มน้ำตาลมิตรผล ได้เลื่อนแผนเปิดให้บริการออกไปเป็นช่วงครึ่งหลังของปี 64 จากเดิมคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ช่วงครึ่งปีแรกของปี 64 เนื่องจากการก่อสร้างเกิดความล่าช้าในช่วงล็อกดาวน์ประเทศ และติดปัญหาการขนส่งวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ในการก่อสร้าง

อย่างไรก็ตาม หากโครงการท่าเรือแห่งที่ 3 สามารถเปิดให้บริการได้แล้ว บริษัทประเมินว่าจะสามารถสร้างรายได้มากกว่า 500 ล้านบาท/ปี หรือสูงสุด 750-1,000 บาท/ปี โดยจะทำให้ PORT มีรายได้เข้ามาปีละ 150-160 ล้านบาทตามสัดส่วนการถือหุ้น

ส่วนโครงการโลจิสติกส์พาร์คและศูนย์กระจายสินค้า บนพื้นที่กว่า 50 ไร่ ซึ่งเป็นการร่วมทุนกับ บมจ.เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) (FPT) ได้เลื่อนเปิดให้บริการไปเป็นปี 64 จากเดิมที่จะเปิดให้บริการในช่วงปลายปี 63 เพราะโควิด-19 ทำให้ภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกเกิดการชะลอตัว ส่งผลให้ความต้องการลงทุนและเช่าคลังสินค้า หรือการใช้บริการโลจิสติกส์ของภาคธุรกิจชะลอตัวลงค่อนข้างมาก

ทั้งนี้ บริษัทยังคงติดตามภาวะของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง หากเศรษฐกิจโลกเริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน และเริ่มมีความชัดเจนของวัคซีนรักษาโควิด-19 ออกมาแล้ว จะพิจารณาการเปิดให้บริการของโครงการดังกล่าวที่แน่นอน อย่างไรก็ตามโครงการดังกล่าวไม่กระทบต่อการเติบโตของบริษัทในระยะต่อไปมากนัก เพราะโครงการโลจิสติกส์พาร์คและศูนย์กระจายสินค้า รายได้จากค่าเช่าไม่ได้มากนัก และบริษัทถือหุ้นในสัดส่วนเพียง 25% เท่านั้น ทำให้ไม่กระทบต่อแนวโน้มของรายได้ในอนาคตมากนัก

Back to top button