EA เซ็น MOU “สวทช.” ร่วมวิจัย-พัฒนาแบตเตอรี่ ชูนวัตกรรมทันสมัย
EA เซ็น MOU “สวทช.” ร่วมวิจัย-พัฒนาแบตเตอรี่ ชูนวัตกรรมทันสมัย
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ความร่วมมือด้านการวิจัยพัฒนาวัตถุดิบและชิ้นส่วนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการทำงานของอุปกรณ์กักเก็บพลังงานไฟฟ้าความจุสูงที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยสูง โดยพึ่งพาทรัพยากรและการผลิตภายในประเทศนี้ สวทช.
โดยศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ (National Security and Dual-Use Technology Center-NSD) หน่วยงานหลักในการดำเนินงานวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อความมั่นคงของประเทศที่สามารถประยุกต์ใช้งานทั้งในหน่วยงานด้านความมั่นคงและในภาคประชาชนทั่วไปเชิงพาณิชย์ ร่วมมือการวิจัยและพัฒนากับ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ในระยะเวลา 5 ปี (2563 – 2568)
พร้อมทั้งเปิดศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ที่มีเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ทันสมัย เป็นศูนย์กลางในการทดสอบมาตรฐานของแบตเตอรี่และผลิตแบตเตอรี่ที่มีมาตรฐานในระดับสากล ด้วยการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านความมั่นคงทางพลังงานในการขับเคลื่อนและขยายผลของงานวิจัยไปสู่การประยุกต์การใช้งานจริง โดยการสนับสนุนในการใช้ทรัพยากรร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่งเสริม แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ บุคลากร และขยายผลการวิจัยในด้านอุปกรณ์กักเก็บพลังงานไฟฟ้าความจุสูง (แบตเตอรี่) ที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยสูง
อาทิ ตัวเก็บประจุยิ่งยวด (Supercapacitor) แบตเตอรี่สังกะสี – ไอออน แบตเตอรี่ลิเทียม – ซัลเฟอร์ การผลิตคาร์บอนกัมมันต์ (Activated Carbon) จากผลิตผลทางการเกษตร เช่น กะลาปาล์ม การพัฒนากระบวนการผลิตและการสังเคราะห์กราฟีน ซึ่งเป็นวัสดุคาร์บอนแบบสองมิติที่มีคุณสมบัติช่วยทำให้แบตเตอรี่และตัวเก็บประจุมีประสิทธิภาพสูงกว่าที่มีอยู่ในท้องตลาด
รวมถึงวงจรจัดการระบบการทำงานของแบตเตอรี่ เพื่อความปลอดภัยและประสิทธิภาพสูง โดยให้ความสำคัญกับการพึ่งพาทรัพยากรและการผลิตภายในประเทศ เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงสนับสนุนและสร้างความเข้มแข็งให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศอย่างยั่งยืน
ด้านนายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร EA เปิดเผยว่า การเซ็น MOU ร่วมกับ สวทช. ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ที่จะนำเทคโนโลยีที่จะได้รับไปใช้เพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการผลิต และพัฒนาคุณสมบัติของแบตเตอรี่ อันจะเป็นประโยชน์ต่อโครงการผลิตแบตเตอรี่ของบริษัทที่จะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ต้นปีหน้าเป็นต้นไป ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้
สำหรับจุดเด่นที่สำคัญอย่างยิ่งอีกประการหนึ่งของการประสานความร่วมมือครั้งนี้คือ การพัฒนาบุคลากร รวมถึงการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนการใช้ศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ระหว่างกันของทั้งสองฝ่าย ซึ่งต่างก็มีการลงทุนติดตั้งเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ทันสมัย และมีมาตรฐานสูงในระดับสากล นับเป็นการประสานประโยชน์เพื่อใช้ทรัพยากรที่ลงทุนไปอย่างคุ้มค่า การพัฒนาเทคโนโลยีและบุคลากรภายใต้ความร่วมมือในโครงการนี้ จะก่อให้เกิดการส่งเสริมจุดแข็งซึ่งกันและกันยิ่งขึ้นต่อไป