“ธปท.” มองแนวโน้มศก. ยังผันผวนสูง-ฟื้นช้า เหตุต่างชาติเจอ “โควิด” ระบาดซ้ำ ทำไทยกระทบ

“ธปท.” มองแนวโน้มศก. ยังผันผวนสูง-ฟื้นช้า เหตุต่างชาติเจอ “โควิด” ระบาดซ้ำ ทำไทยกระทบ


นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมาทยอยฟื้นตัวตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่สถานการณ์โควิด-19 ที่ยืดเยื้อและกลับมาระบาดซ้ำในหลายประเทศ ทำให้แนวโน้มการฟื้นตัวในระยะข้างหน้าล่าช้ากว่าที่เคยประเมินไว้ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว

โดยเศรษฐกิจไทยในปี 63 คาดว่าจะหดตัวที่ -7.8% ดีกว่าที่ประเมินไว้เล็กน้อย โดยผลกระทบจากมาตรการปิดเมืองน้อยกว่าที่ประเมินไว้ สะท้อนจากข้อมูลจริงในไตรมาส 2 ที่ดีกว่าคาด โดยมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการช่วยพยุงเศรษฐกิจในปีนี้

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอนและยืดเยื้อ จะส่งผลต่ออุปสงค์ต่างประเทศทั้งการส่งออกสินค้าและภาคการท่องเที่ยว โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 9 ล้านคนในปี 2564 จึงประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะขยายตัวที่ 3.6% ลดลงจากการประเมินครั้งก่อน

นายทิตนันทิ์ กล่าวว่า แนวโน้มของเศรษฐกิจในระยะถัดไปยังมีความไม่แน่นอนสูงและจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ที่สำคัญได้แก่ แนวโน้มเศรษฐกิจโลก มาตรการจ้างงานและการลงทุนของภาครัฐในด้านต่างๆ การปรับตัวของภาคธุรกิจและประชาชน และสถานการณ์โรคโควิด-19 รวมถึงมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ทั้งนี้ คาดว่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี ก่อนที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมจะกลับสู่ระดับก่อนแพร่ระบาด โดยการฟื้นตัวจะแตกต่างกันมากระหว่างภาคเศรษฐกิจและผู้ประกอบการแต่ละกลุ่ม มาตรการภาครัฐจำเป็นต้องตรงจุดและทันการณ์มากขึ้น โดยจะต้องเร่งสนับสนุนการจ้างงาน การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่ละภาคส่วนต้องบูรณาการมาตรการให้สอดคล้องและเชื่องโยงกัน เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน

Back to top button