“สุพัฒนพงษ์” จี้แบงก์เร่งปรับโครงสร้างหนี้-ช่วยธุรกิจได้รับผลกระทบ เชื่อแก้ปัญหาจบใน 2 ปี
“สุพัฒนพงษ์” จี้แบงก์เร่งปรับโครงสร้างหนี้-ช่วยธุรกิจได้รับผลกระทบ เชื่อแก้ปัญหาจบใน 2 ปี
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาวน์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษ “ทางเลือก ทางรอด ประเทศไทย” ว่า สถานการณ์ของประเทศไทยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา มีความจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากทุกภาคส่วนต่างได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้รัฐบาลมีความจำเป็นต้องล็อกดาวน์ประเทศ เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดให้ได้ผล
ขณะที่ในส่วนของการเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบนั้น รัฐบาลได้ใช้งบประมาณรวมแล้วกว่า 8 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเรื่องสภาพคล่องให้แก่ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นประชาชน เกษตรกร ร้านค้ารายย่อย คนหาเช้ากินค่ำรวมแล้วกว่า 33 ล้านคน เพื่อให้ทุกภาคส่วนพร้อมสำหรับการฟื้นฟูและเริ่มต้นใหม่ได้
“ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลได้พยายามใช้มาตรการเยียวยา ให้สภาพคล่องแก่ภาคธุรกิจที่ได้ปิดกิจการไปชั่วคราว ยอดเงินเกือบ 8 แสนล้านบาท ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการ เกษตรกร คนหาเช้ากินค่ำ ผู้มีรายได้น้อย รวมแล้วกว่า 33 ล้านคน” รองนายกฯ และรมว.พลังงาน กล่าว
ส่วนในระยะต่อไปการแก้ไขปัญหาคงจะเน้นไปที่การปรับโครงสร้างหนี้ มากกว่าการพิจารณาให้สภาพคล่อง โดยจะขอความร่วมมือจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในการร่วมให้ข้อมูลของผู้ประกอบการที่เป็นลูกหนี้กับสถาบันการเงิน เพื่อให้สถาบันการเงินได้มีข้อมูลประกอบการพิจารณาในการให้ความช่วยเหลือทางการเงินได้อย่างรวดเร็วและตรงจุด
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า แม้ขณะนี้รัฐบาลจะมีมาตรการผ่อนคลายไปถึงระยะที่ 6 แล้ว แต่ยอมรับว่ามีบางธุรกิจที่ยังคงได้รับความเดือดร้อนจากผลของการที่ยังไม่สามารถเปิดประเทศหรือได้อย่างเต็มที่ นั่นคือกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว แต่สถานการณ์นี้ก็เกิดขึ้นกับทุกประเทศทั่วโลก โดยมีบางประเทศเท่านั้นรวมทั้งไทย ที่แก้ปัญหาจนทำให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ในขณะที่อีกหลายประเทศยังสาละวนอยู่กับการแก้ปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ รวมทั้งธนาคารพาณิชย์ได้ร่วมกันออกแนวทางการช่วยเหลือเรื่องสภาพคล่องในการพักชำระหนี้ให้แก่ทั้งภาคประชาชน เกษตรกร รวมทั้งภาคธุรกิจ ซึ่งล่าสุดมีหนี้ที่ได้รับการพักชำระรวมแล้วกว่า 7 ล้านล้านบาท จากลูกหนี้รวมทั้งหมดราว 12.8 ล้านคน
ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ รัฐบาลกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาเรื่องการกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชน ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ที่จะพิจารณาใช้มาตรการชิมช้อปใช้ หรือช้อปช่วยชาติ แต่ทั้งนี้จะเป็นลักษณะของการร่วมจ่าย (Co-pay) มากกว่าที่จะให้เงินอย่างเดียว ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการหรือภาคธุรกิจที่มีความเข้มแข็งได้มีโอกาสเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการที่อ่อนแอกว่า ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมกันทำให้ประเทศพ้นวิกฤตไปได้
โดยมองว่า สถานการณ์จะเริ่มกลับมาสู่สภาพปกติได้ราว 1-2 ปีนับจากนี้ ซึ่งเมื่อประชาชนและภาคธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้เป็นปกติ การบริโภค การจับจ่ายใช้สอยก็จะดีขึ้น โดยปัจจุบันจะเห็นได้ว่าดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจหลายตัวมีสัญญาณที่ดีขึ้น ในขณะที่เราจะต้องสร้างความหวังและความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นด้วยว่าปัญหานี้จะต้องมีวันจบ
“ผมมีความหวัง และมีความเชื่อของผมเอง ว่าปัญหาหนี้มันจะจบภายใน 1-2 ปี และกลับสู่สภาพเดิมได้ ถ้าเราตั้งสมมติฐานไว้แบบนี้ การแก้ปัญหาหนี้ที่เคยคิดว่าแก้ไม่ได้ ก็จะทำได้” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว