“ธอส.” เผยยอด NPL ต่ำกว่าคาด ชี้มาตรการแบงก์ ช่วยลูกหนี้ บรรเทาผลกระทบ “โควิด”
“ธอส.” เผยยอด NPL ต่ำกว่าคาด ชี้มาตรการแบงก์ ช่วยลูกหนี้ บรรเทาผลกระทบ “โควิด”
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า จากมาตรการพักชำระหนี้และเงินต้นให้แก่ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น คาดว่าจะส่งผลให้ธนาคารฯ มีหนี้เสีย (NPL) เพิ่มขึ้น 9,000 ล้านบาท จากปัจจุบัน ณ วันที่ 31 ส.ค.63 มียอด NPL อยู่ที่ 5.15 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 4.05% ของสินเชื่อคงค้างที่ 1.27 ล้านล้านบาท
“เดิมที ธอส. คาดว่าจะมีหนี้เสียจากมาตรการพักชำระหนี้ประมาณ 25% แต่ผลออกมาว่าเรามีหนี้เสียเพิ่มขึ้นแค่ 9 พันล้านบาท ถือว่าต่ำกว่าเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้อย่างมาก โดยมองว่าหนี้เสียในส่วนที่เพิ่มขึ้นนี้ จะไม่กลายเป็นปัญหาทั้งหมด หากมีการปรับโครงสร้างหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะทำให้สัดส่วนหนี้เสียในส่วนนี้ลดลงได้” นายฉัตรชัย กล่าว
สำหรับหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นนั้น ไม่ได้สะท้อนศักยภาพการชำระสินเชื่อของลูกหนี้อย่างแท้จริง เพราะยังอยู่ระหว่างดำเนินมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ที่ธนาคารฯ มีมาตรการอยู่ทั้งหมด 10 มาตรการ โดยมีลูกค้าที่อยู่ระหว่างการรับความช่วยเหลือจากมาตรการดังกล่าวนี้ 5.11 แสนบัญชี คิดเป็นวงเงินสินเชื่อ 4.3 แสนล้านบาท ซึ่งหากธนาคารสามารถเจรจาช่วยเหลือลูกหนี้ได้ ก็คาดว่าจะช่วยทำให้ยอด NPL ลดลงได้
โดย NPL จำนวน 9,000 ล้านบาทนี้ แบ่งเป็น กลุ่ม 4,000 ล้านบาท ที่ชำระหนี้ไม่เต็มงวด ซึ่งหลังจากนี้ธนาคารจะเข้าไปดูประวัติ และปรับสัญญาเงินกู้ให้ เพราะยังถือว่าเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพ ส่วนกลุ่ม 5,000 ล้านบาท ที่ผิดนัดชำระหนี้นั้น ธนาคารจะเข้าไปสำรวจถึงการผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าวว่ามาจากสาเหตุใด เพื่อหาแนวทางในการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกค้ากลุ่มนี้ต่อไป
นายฉัตรชัย เชื่อว่า แนวโน้มลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ส่วนหนึ่งก็จะกลับมาเป็นลูกหนี้ได้ตามปกติ และอีกส่วนหนึ่งยังคงต้องให้ความช่วยเหลือต่อไป ภายใต้ 10 มาตรการของธนาคารที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งธนาคารสามารถช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบได้อย่างต่อเนื่อง โดยที่ไม่ต้องมีมาตรการอื่นเข้ามาเสริมอีก เพราะเชื่อว่ามาตรการที่ออกมาเพียงพอและสามารถดูแลลูกค้าได้อย่างครบถ้วนแล้ว
พร้อมมองว่า แนวโน้มการเกิดหนี้เสียในสินเชื่อที่อยู่อาศัยจะไม่เพิ่มไปมากกว่าช่วงเวลาปกติ เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ทำให้มีการคัดกรองการปล่อยสินเชื่อให้ได้มีคุณภาพมากขึ้น ดังนั้นจึงเชื่อว่าการติดเครดิตบูโรของสินเชื่อบ้านจะไม่ได้เพิ่มสูงขึ้น จนส่งผลกระทบต่อภาคอสังหาริมทรัพย์
“มองว่าสถานการณ์คงจะไม่เลวร้ายมาก ด้วยบรรยากาศที่ดอกเบี้ยต่ำระดับ 3% เอื้อต่อการกลับมาลุกขึ้นได้อย่างแข็งแรงได้ในปีหน้า ถ้าลูกหนี้ไม่หมดกำลังใจ ทุกคนน่าจะฟื้นได้หมด แต่ธนาคารพาณิชย์เองก็ต้องช่วยลูกค้าด้วย” นายฉัตรชัย กล่าว