พาราสาวะถี

ยิ่งปฏิเสธยิ่งมัดแน่น ยิ่งบอกไม่ยุ่งคนยิ่งเห็นว่าต้องมีใบสั่ง กับปมที่ประชุมรัฐสภามีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนลงมติ ฟังผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจให้สัมภาษณ์ว่าเป็นเรื่องของสภาไม่เกี่ยวฝ่ายบริหาร และตัวเองในฐานะแต่งตั้ง 250 ส.ว.มากับมือไม่ได้ไปสั่งการอะไร แต่พอฟังสิ่งที่อธิบายมาถึงเหตุผลที่จากเดิมจะลงมติรับหรือไม่รับกลายเป็นตั้งคณะกรรมาธิการศึกษา โดยอ้างว่าเพราะมีการก้าวล่วงกันมากเกินไป


อรชุน

ยิ่งปฏิเสธยิ่งมัดแน่น ยิ่งบอกไม่ยุ่งคนยิ่งเห็นว่าต้องมีใบสั่ง กับปมที่ประชุมรัฐสภามีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนลงมติ ฟังผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจให้สัมภาษณ์ว่าเป็นเรื่องของสภาไม่เกี่ยวฝ่ายบริหาร และตัวเองในฐานะแต่งตั้ง 250 ส.ว.มากับมือไม่ได้ไปสั่งการอะไร แต่พอฟังสิ่งที่อธิบายมาถึงเหตุผลที่จากเดิมจะลงมติรับหรือไม่รับกลายเป็นตั้งคณะกรรมาธิการศึกษา โดยอ้างว่าเพราะมีการก้าวล่วงกันมากเกินไป

นี่คือ ใบเสร็จของข้อกังขาที่ว่ามีใครบงการหรือวางแผนก่อนแล้วหรือไม่ ชวน หลีกภัย อาจพูดได้ว่าตัวเองโดนหลอกพร้อม ๆ สมาชิกฝ่ายค้าน รวมไปถึงพรรคประชาธิปัตย์ แต่เรื่องนี้หลุดมาจากปากของ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ก่อนที่จะมาแก้ตัวว่าได้ยินข่าวมาอย่างนั้น นั่นหมายความว่า มีการเตรียมการมาตั้งแต่ต้น ในเมื่อไม่เห็นด้วยและไม่ยอมรับการกระบวนการแก้ไขในมาตรา 256 กับการมีส.ส.ร.มาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ทำไมไม่โหวตคว่ำเสียให้รู้แล้วรู้รอดไป

นั่นหมายความว่า ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจก็ยังมีความกังวลต่อแรงกดดันของกลุ่มเคลื่อนไหวอยู่  จึงใช้วิธีการยื้อเวลาวัดกระแส พ่วงด้วยการดิสเครดิตทำลายความน่าเชื่อถือของขบวนการคนหนุ่มสาวไปในตัวด้วย ต้องยอมรับว่าเผด็จการคณะนี้ไม่ใช่พวกที่ยอมหักไม่ยอมงอ จะใช้ช่องทางที่ไม่ให้ตัวเองถูกถล่มเพื่อดูทิศทางลมว่ากระแสของสังคมเป็นอย่างไร เมื่อเลือกที่จะเดินกันอย่างนี้โดยที่อ้างว่าขอศึกษากันให้ละเอียด เวลาที่เหลืออีก 30 วันก็มาดูกันว่า จะเกิดการเบี้ยวกันหรือไม่

แนวโน้มมีความเป็นไปได้สูง พวกหัวหมอเนติบริกรปลาไหลอยู่รายล้อมรอบกายย่อมที่จะหาหนทางมาอ้างได้อยู่ตลอดเวลา น่าผิดหวังก็เป็นท่าทีของพรรคเก่าแก่ให้ ชินวรณ์ บุญยเกียรติ เล่นละครตบตาประกาศกลางสภาไม่เห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาศึกษา เพื่อให้สอดรับกับท่าทีของ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรคที่พูดไว้ก่อนหน้า แต่สุดท้ายก็เสนอชื่อคนของตัวเองเข้าไปเป็นกรรมาธิการด้วยข้ออ้างต้องเคารพเสียงข้างมาก

นี่ไงที่บอกว่ามันเป็นสไตล์ยากที่พรรคไหนจะลอกเลียนแบบได้ หากไม่เห็นด้วยจริงก็ต้องไม่ร่วมสังฆกรรม ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลอีกพรรคซึ่งไม่ได้อยากจะแก้รัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว พอมีม็อบมากดดันจึงเปลี่ยนท่าทีก็มีคำพูดสวยหรู จะผลักดันให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สำเร็จ แต่ต้องร่วมกับคณะกรรมาธิการที่ตั้งขึ้นมา เพื่อรักษาครรลองของสภา เป็นที่รู้กันอยู่แล้วอย่างหนาไม่มีใครเกินนักการเมืองพวกนี้อยู่แล้ว

หากเป็นความจริงจากใจก็ต้องตีมือดัง ๆ ให้ คำนูณ สิทธิสมาน ที่บอกว่าไม่เห็นด้วยกับแนวทางครั้งนี้และเห็นใจพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งก็น่าสนใจกับความเห็นของส.ว.รายนี้ ความจริงไม่จำเป็นต้องศึกษาอะไร ง่าย ๆ เพื่อพิสูจน์ว่าไม่ได้มีการซื้อเวลาและไม่ต้องทำให้ใครมากล่าวหาว่าพวกลากตั้งเล่นเกม รับใบสั่ง คือการโหวตให้มันจบ ๆ ไปเลยจะรับหรือไม่รับ และการไม่เห็นด้วยกับเรื่องมีส.ส.ร.มาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ก็จะไม่ได้จะจบแค่ชั้นการเห็นชอบของรัฐสภาเท่านั้น

เพราะก่อนที่จะมีส.ส.ร. เมื่อสภาผ่านร่างกฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว ยังจะต้องถูกนำไปทำประชามติเสียก่อนว่าประชาชนเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะให้มีการแก้ไขหรือไม่ ซึ่งตรงนี้ส.ว.ทั้งหลายก็เลิกอ้างเสียทีว่าต้องคำนึงถึง 16.8 ล้านเสียงที่ผ่านประชามติรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้มา เพราะถ้ามีกระบวนการแก้ไขก็ปล่อยให้ประชาชนทั้งประเทศได้ร่วมกันพิสูจน์อีกครั้งว่า รัฐธรรมนูญติดหนวดยังเป็นที่ต้องการของคนส่วนใหญ่จริงหรือไม่

ความจริงมันก็ควรเป็นเช่นนั้น แต่เมื่อเผด็จการสืบทอดอำนาจมันถนัดกับการชี้นิ้วและให้เป็นไปตามความต้องการ มันจึงต้องจบลงแบบนี้ ก็ต้องเฝ้าดูกันต่อไปความเคลื่อนไหวหลังจากนี้ไม่ธรรมดาแน่ แค่วันหลอกต้มคนก็มาชุมนุมหน้ารัฐสภากันไม่น้อย  เป็นการไหลกันมาด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ ทั้งที่เป็นวันทำงาน นี่ย่อมเป็นภาพสะท้อนอะไรได้หลายอย่าง ดังนั้น ที่นัดหมายกันไว้ 14 ตุลาคมจึงน่าสนใจขึ้นมาทันที จะมีแบบเบิ้ม ๆ กว่า 19 กันยายนหรือไม่

ยิ่งได้ยินผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจแยกเขี้ยวใส่ ขู่ดำเนินการทางกฎหมายกับม็อบทุกช่องทาง พร้อมกับคำพูดที่ว่า ผมรับไม่ได้” มันไม่ใช่การปรามม็อบแต่จะกลายเป็นการเรียกแขกให้อีกต่างหาก ย้ำมาโดยตลอดประวัติศาสตร์ทางการเมืองมักจะเดินย่ำรอยทุกครั้งกับผู้นำที่เหลิงในอำนาจ ยิ่งรอบนี้มั่นใจกันว่าวางแผนกันแยบยล ถึงขั้นรัฐประหารผ่านรัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งมีกฎหมายและเครือข่ายองค์กรทั้งหลายคอยปกปักรักษาในทุกเรื่อง แต่วันที่คลื่นประชาชนลุกฮืออะไรก็ช่วยไม่ได้

บทเรียนเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ถ้าจำกันได้ไม่ใช่แค่ว่าประชาชนออกมาต่อต้านเผด็จการสืบทอดอำนาจเท่านั้น แต่ยังมีปมเรื่องพรรคร่วมรัฐบาลเวลานั้นที่เบี้ยวเรื่องการให้นายกรัฐมนตรีมาจากส.ส. สุดท้ายบทสรุปเป็นอย่างไรก็อย่างที่เห็น หนนี้ก็เช่นเดียวกัน หากผ่านวันที่ 14 ตุลาคมนี้ไปโดยไม่มีอะไร ก็ต้องไปวัดกันหลังเปิดประชุมสภา 1 พฤศจิกายน ที่ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาบอกว่าไม่ได้ยื้อเวลา และบางพรรคร่วมรัฐบาลอ้างว่าจะไม่มีการเบี้ยวกันแน่ จะเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่

ถ้าไม่เป็นไปตามสัญญา ก็อย่าได้หวังว่าทุกอย่างมันจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น เหมือนที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ไม่ยอมทำตามสัญญาที่อ้างว่าขอเวลาอีกไม่นาน เที่ยวโกหกผู้นำต่างประเทศไปทั่วโลก กว่าประเทศไทยจะได้เลือกตั้ง สุดท้ายเลือกตั้งมาแล้วนอกจากตัวเองได้สมหวังและเครือข่ายได้มีตำแหน่งแห่งหนกันหน้าสลอนแล้ว ประเทศไม่ได้มีอะไรดีขึ้น กลับเป็นไปในทางตรงข้าม ไม่ต้องอ้างเรื่องสารพัดสารพันปัญหา สุดท้าย มันอยู่ที่ปัญญาและความสามารถของคนเป็นผู้นำ ซึ่งต้องยอมรับกันว่ามีน้อยเต็มที

Back to top button