“ธปท.” จี้รัฐ เร่งปรับโครงสร้างศก.-แก้ปัญหาการกระจุกตัวรายได้ ก่อนเผชิญภาวะถดถอย
"ธปท." จี้รัฐ เร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย-แก้ปัญหาการกระจุกตัวรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ ก่อนเผชิญภาวะถดถอย
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤติด้านสาธารณสุข จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบมาถึงการถดถอยของเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งประเทศไทยถือว่าได้รับผลกระทบจากการถดถอยของเศรษฐกิจค่อนข้างมาก
โดยปัจจัยสำคัญที่ยังคงเป็นแรงกดดันให้กับเศรษฐกิจไทยในการเผชิญกับความท้าทายของวิกฤติในครั้งนี้ คือ ปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจที่เป็นสิ่งที่ยังไม่ได้ปรับเปลี่ยนให้เห็นผลจริงอย่างเป็นรูปธรรมออกมาชัดเจน แม้ว่าจะมีการพูดคุยเกี่ยวกับแนวคิดการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่ออกมาจนตกผลึกแล้ว แต่ยังไม่สามารถทำให้เกิดผลจริงขึ้นมา
และหากปัญหาที่มาจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยยังคงไม่ได้รับการปรับเปลี่ยนใหม่นั้นจะส่งผลกระทบต่อความเปราะบางของเศรษฐกิจไทย ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าได้
“เราไม่มีทางเลือก นอกจากเราต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้เห็นผลออกมาชัดเจน ในโลกยุคใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลง และซัพพลายส่วนเกินที่สูงขึ้น เราจะทำอย่างไรในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดของเรานำมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์และเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้ได้มากที่สุด นำพาเศรษฐกิจไปสู่การเป็นเศรษฐกิจที่มีผลิตภาพสูง เกิดการโยกย้ายแรงงานผลิตภาพต่ำไปสู่งผลิตภาพสูง ลดการพึ่งพิงเศรษฐกิจประเทศใดประเทศหนึ่ง
การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยถือเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องลงมือทำ ไม่ใช่เวลาหาแนวคิดออกมาเพิ่มเติมแล้ว เพราะถ้าไม่เริ่มทำให้เห็นผลจริงเศรษฐกิจไทยก็จะถดถอยไปเรื่อยๆ และกระทบความเป็นอยู่ของคนไทยในประเทศในระยะยาวตอนนี้ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันกำหนดทิศทางการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยออกมาอย่างชัดเจน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริง” นายวิรไท กล่าว
ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้มีความยั่งยืนในระยะยาวนั้นจะต้องมองถึงการสร้างรากฐานในระยะยาวที่ยั่งยืน 3 ด้าน ได้แก่
1.การเพิ่มผลิตภาพให้สูงขึ้น เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน
2.การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับเศรษฐกิจไทย และประชาชน ทำให้สามารถรองรับกับความไม่แน่นอน ความผันผวนของเศรษฐกิจ การเมือง และสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการกระจายความเสี้ยง ลดการพึ่งพิงเศรษฐกิจประเทศใดประเทศหนึ่ง
3.การกระจายการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมั่นคง และลดปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างรุนแรงในสังคมไทย
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่อยู่ในโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่อยู่มาหลายทศวรรษ ทำให้เศรษฐกิจไทยมีข้อจำกัดในการขับเคลื่อนไปข้างหน้า แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศที่มีศักยภาพ ได้สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นออกมาทั้งในระดับจุลภาคและมหภาค
โดยด้านความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยในระดับจุลภาคจะเห็นได้จากความสามารถของแรงงานทั้งภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรที่ยังมีผลิตภาพต่ำ ขาดแรงจูงใจในการเรียนรู้และการนำนวัตกรรมใหม่ๆมาใช้ในการทำงาน ทำให้ไม่เกิดการโยกย้ายแรงงานจากผลิตภาพต่ำไปสู่แรงงานที่มีผลิตภาพสูงมาเป็นระยะเวลายาวนาน ทำให้แรงงานไทยขาดทักษะ ความรู้ ความสามารที่ถูกยกระดับขึ้น ส่งผลให้เสียโอกาสในด้านการทำงานไป
ขณะที่ผู้ประกอบการเองยังไม่มีความพร้อมในการยกระดับการผลิตด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพราะไม่มีแรงจูงใจที่จะเข้ามากระตุ้นในเกิดการพัฒนา รวมไปถึงต้นทุนของการปรับเปลี่ยนยังมีต้นทุนสูง และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนยังค่อนข้างจำกัด โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็กและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ทำให้ไม่สามารถนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้ในการพัฒนาและยกระดับกิจการของตนเองได้ ซึ่งเป็นผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจไทยยังมีกรอบจำกัด
ในด้านมหภาคประเทศไทยยังไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนการผลิตสินค้าและบริการที่สร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นมากนัก และส่วนใหญ่ผลิตภาพในการผลิตยังเป็นกิจกรรมที่มีการผลิตที่มีผลิตภาพต่ำ ขาดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง และการกระตุ้นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยยังเผชิญกับความท้าทายของประเทศเพื่อนบ้านที่มีการพัฒนามากขึ้น แม้ว่าพื้นฐานของประเทศไทยจะดีก็ตาม แต่ยังขาดแรงส่งที่ทำให้การผลักดันการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างออกมาอย่างชัดเจน
ขณะเดียวกันการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเศรษฐกิจไทยและประชาชนในประเทศ ถือเป็นด้านที่จะต้องเร่งดำเนินการจากการที่โลกมีความผันผวนมาก และมีความไม่แน่อนเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เศรษฐกิจไทยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำเพราะโครงสร้างเศรษฐกิจยังพึ่งพิงการส่งออกเป็นหลักมาเป็นระยะเวลานาวนาน ซึ่งเป็นการพึ่งพิงเศรษฐกิจโลก เมื่อเศรษฐกิจโลกอ่อนแรง เศรษฐกิจไทยก็อ่อนแรงตามไปด้วย จะเห็นได้จากโควิด-19 เป็นอีกหนึ่งบทเรียนที่เศรษฐกิจไทยต้องหันกลับมามองการพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศมากขึ้น เพื่อกระจายความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่มีอยู่มากในปัจจุบัน
ส่วนภาคครัวเรือนและธุรกิจเอสเอ็มอี ยังต้องเร่งสร้างภูมิคุ้มกันให้เพิ่มขึ้น โดยภาคครัวเรือนยังเผชิญปัญหาด้านการออมและวินัยทางการเงินที่ไม่ดี ซึ่งเป็นปัญหามานาน ทำให้ต้องกลับมาส่งเสริมการสร้างวินัยการออมอย่างจริงจัง กระตุ้นการออม และลดการก่อหนี้ที่ไม่จำเป็น เพื่อทำให้ภาคครัวเรือนมีเงินออมมารองรับการใช้ชีวิตในยามเกษียณได้
ส่วนธุรกิจเอสเอ็มอี ถือว่ายังมีภูมิคุ้มกันเปราะบาง จากการที่เผชิญกับข้อจำกัดด้านการเงินอยู่มาก โดยที่ธุรกิจเอสเอ็มอียังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนต่ำได้ ทำให้ขาดเงินทุนมาสนับสนุนและรองรับการลงทุนในการนำเทคโนโลยีและนวทตกรรมมาไช้เพิ่มความสามารถในการผลิต และยังมีปัญหาในเรื่องของการรักษาวินัยสภาพคล่องที่ขาดคำแนะนำที่ดี ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจเอสเอ็มอีไทยค่อนข้างยังไม่เห็นการเพิ่มขึ้นจากข้อจำกัดที่มีอยู่มาก
นอกจากนี้สิ่งหนึ่งที่สำคัญในปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย คือ ปัญหาการกระจุกตัวของรายได้ ปัญหาการเข้าถึงการศึกษา และปัญหาความเลื่อมล้ำสูง ซึ่งถือเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์มารดา สะท้อนให้เห็นถึงอนาคตข้างหน้าที่เกิดความเลื่อมล้ำขึ้น ซึ่งเด็กที่เกิดในครอบครัวยากจนที่สามารถเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาได้มีเพียง 5% เท่านั้น เมื่อเทียบกับเด็กที่เกิดในครอบครัวที่มีรายได้สูงและร่ำรวยสามารถเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาได้ 100% สามารถสะท้อนความเลื่อมล้ำสูงของสังคมไทยได้อย่างชัดเจน
ความเหลื่อมล้ำที่มาจากภาคการศึกษามีผลต่อการพัฒนาประชากรของประเทศที่นำไปสู่ความสามารถในการทำงาน การสร้างรายได้ การประกอบกิจการ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรในประเทศ ซึ่งเป็นผลที่ส่งต่อกันมารุ่นสู่รุ่น ซึ่งเป็นปัญหาที่ฝั่งลึกอยู่ในสังคมไทย และเป็นเรื่องที่ภาครัฐจะต้องนำกลไกออกมาแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน
ขณะที่ในด้านผู้ประกอบการนั้นการแข่งขันของตลาดยังกระจุกตัวอยู่ที่ผู้ประกอบการรายใหญที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 85% ของตลาดทั้งหมด ผู้ประกอบการรายกลางและรายเล็กยังไม่สามารถเข้าถึงตลาดได้อย่างเต็มที่ และโดนผู้ประกอบการรายใหญ่กีดกันการเข้าตลาด ทำให้รายได้ของภาคธุรกิจยังคงกระจุกตัวอยู่ที่ผู้ประกอบการรายใหญ่
ผู้ประกอบการรายกลางและรายเล็กมีโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจค่อนข้างยาก รวมไปถึงผู้ประกอบการหน้าใหม่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ยากตามไปด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาครัฐจะต้องนำเครื่องมืเข้ามาปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยลงให้ได้มาก เพื่อทำให้เกิดการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง และทำให้ทุกคนได้รับโอกาสที่เท่าเทียม