NRF เคาะราคาไอพีโอ 4.60 บ. ปักธงเทรด SET 9 ต.ค.นี้
NRF เคาะราคาไอพีโอ 4.60 บ. ปักธงเทรด SET 9 ต.ค.นี้
นางสาววีณา เลิศนิมิตร กรรมการ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย หุ้นที่เสนอขายให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ของ บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF เปิดเผยว่า กำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO ของ NRF ที่ 4.60 บาท/หุ้น จากช่วงราคา 4.00-4.60 บาท/หุ้น หลังการสำรวจความต้องการจองจากนักลงทุนสถาบัน (Bookbuilding) ได้รับความสนใจอย่างมากถึง 8 เท่าของจำนวนหุ้นที่จัดสรรแก่นักลงทุนสถาบัน และคาดว่าจะซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในวันที่ 9 ต.ค.63 ใช้ชื่อย่อหลักทรัพย์ “NRF”
“การกำหนดราคาหุ้น IPO ของ NRF ที่ราคา 4.60 บาทต่อหุ้น ถือเป็นระดับราคาที่เหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง จากศักยภาพการเติบโตและแผนการลงทุนที่ชัดเจน ประกอบกับมีความมั่นคงของผลการดำเนินงาน และโอกาสที่จะเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต เนื่องจากธุรกิจอาหารเป็นปัจจัยสี่ที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ซึ่งจะได้รับประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรทั่วโลกและการใส่ใจเลือกทานอาหารที่มีคุณภาพและดีต่อสุขภาพ ทำให้ NRF มีความสามารถเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว” นางสาววีณา กล่าว
ขณะที่แบบแสดงรายการข้อมูลเสนอขายหุ้น IPO (ไฟลิ่ง) ของ NRF ระบุว่าการกำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO พิจารณาจากอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (Price to Earnings Ratio : P/E) โดยราคาหุ้นสามัญที่เสนอขายหุ้นละ 4.60 บาท คิดเป็น P/E เท่ากับ 95.12 เท่า โดยคำนวณกำไรสุทธิต่อหุ้นจากผลกำไรสุทธิในช่วง 4 ไตรมาสย้อนหลัง ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.62 ถึงวันที่ 30 มิ.ย.63 ซึ่งมีกำไรสุทธิเท่ากับ 65.57 ล้านบาท เมื่อหารด้วยจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วภายหลังการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ เท่ากับ 1,355.78 ล้านหุ้น (Fully Diluted) จะได้กำไรสุทธิต่อหุ้นเท่ากับ 0.05 บาท
สำหรับ NRF เป็นผู้ผลิต จัดหา และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปรุงรสอาหาร อาหารสำเร็จรูป เครื่องปรุงสำหรับประกอบอาหาร อาหารมังสวิรัติที่ไม่มีส่วนผสมของไข่และนม อาหารโปรตีนจากพืช อาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุงและพร้อมรับประทาน และเครื่องดื่มสำเร็จรูปชนิดผงและน้ำ รวมถึงผลิตภัณฑ์สินค้าอุปโภคที่ไม่ใช่อาหารในบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม (V-shape) ได้เสนอขายหุ้น IPO ไม่เกิน 340 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นไม่เกิน 25.08% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัท แบ่งเป็น การเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 290 ล้านหุ้น และเสนอขายหุ้นสามัญโดยผู้ถือหุ้นเดิมคือ บริษัท ดีพีเอ ฟันด์ เอส จำกัด จำนวนไม่เกิน 50 ล้านหุ้น
นายแดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ NRF กล่าวว่า บริษัทมีเป้าหมายเป็นผู้นำระดับโลกในการเป็นผู้ผลิตอาหารแห่งอนาคต “Food For Future” โดยจะลงทุนในเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับนวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร (The Next Evolution of Food) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต วัตถุดิบและส่วนประกอบของอาหาร (Processing, Productivity, Raw Material, Ingredients) เพื่อผลิตอาหารที่มีคุณภาพและสามารถเติบโตอย่างยั่งยืน มีรสชาติที่ถูกปากเพื่อสร้างความสุขและส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ให้กับผู้บริโภคทั่วโลก
พร้อมตั้งเป้าภายในปี 67 จะเพิ่มยอดขายเป็นประมาณ 3,000 ล้านบาท หรือเติบโตประมาณ 3 เท่า จากปัจจุบัน และมีสัดส่วนรายได้จากผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนจากพืช (Plant-based) เพิ่มขึ้นประมาณ 30-40% นอกจากนี้ มีแผนเพิ่มสัดส่วนยอดขายออนไลน์เพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป
บริษัทได้วางแผนขยายการลงทุนเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ประกอบด้วย
1) การขยายกำลังการผลิต โดยลงทุนซื้อโรงงานผลิตอาหารที่ได้รับการรับรองมาตรฐานในระดับเดียวกับบริษัท พร้อมนำเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยและการบริหารจัดการข้อมูล (Smart production) มาปรับใช้
2) ขยายตลาดผลิตภัณฑ์ในบรรจุภัณฑ์ V-Shape ทั้งผลิตภัณฑ์อาหารและที่ไม่ใช่อาหาร เพื่อจำหน่ายในไทยและต่างประเทศ โดย NRF เริ่มผลิตเจลล้างมือแบบพกพาในบรรจุภัณฑ์ V-Shapes และได้เข้าทำสัญญากับ Fluid Energy Group LTD ผู้นำนวัตกรรมเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อให้บริการเครื่องจักร V-shape สำหรับผลิตสินค้า Sanitization เพื่อจำหน่ายในประเทศแคนาดา สหรัฐอเมริกา และแถบตะวันออกกลาง รวมถึงมีแผนร่วมลงทุนเครื่องจักร V-shape อีก 5 เครื่อง
3) การลงทุนในเครื่องจักรผลิตเส้นบุกเครื่องที่ 2 เพื่อขยายกำลังการผลิตรองรับความต้องการของตลาดอาหารสุขภาพที่กำลังเติบโต หลังจากผลิตภัณฑ์เส้นบุกในรูปแบบเส้นเปล่าและแบบพร้อมรับประทานของบริษัท ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค โดยลูกค้ารายใหญ่ของบริษัทได้ลงนามในบันทึกตกลงความเข้าใจการรับจ้างผลิตระยะเวลาประมาณ 3 ปี เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์จากบุกประมาณ 15 ล้านหน่วย
4) การเข้าซื้อโรงงานผลิตอาหารโปรตีนจากพืชในประเทศอังกฤษและสหรัฐฯ ผ่านการลงทุนใน Plant and Bean Ltd. ซึ่งร่วมทุนกับ THE BRECKS COMPANY LIMITED หรือ เบรคส์ จัดตั้งบริษัท Plant and Bean Ltd. ที่ประเทศอังกฤษ เพื่อรับจ้างผลิตอาหารโปรตีนจากพืชให้กับบริษัทอาหารชั้นนำของโลก โดยปัจจุบัน NRF ถือหุ้นในสัดส่วน 25% และมีแผนจะลงทุนเพิ่มอีกสัดส่วน 25% รวมเป็น 50% ในปี 2564 และจะเพิ่มกำลังการผลิตจากปัจจุบันประมาณ 3,400 ตัน เป็น 36,000 ตัน ภายในปี 2564
รวมถึงเป็นพันธมิตรทางธุรกิจระยะยาว โดยการถือตราสารหนี้แปลงสภาพ ซึ่งในเดือนกรกฎาคม 2563 บริษัทฯ ได้แปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญ ใน Meatless Farm โดยถือหุ้นประมาณ 1% ในประเทศอังกฤษ ซื่งเป็นผู้ผลิตอาหารจำพวกแฮมเบอร์เกอร์เนื้อเทียม โปรตีนจาก ข้าวและถั่ว รวมถึงหัวไชเท้าโดยตั้งเป้าหมายเป็นผู้จัดจำหน่ายให้กับ Meatless Farm ในภูมิภาคเอเชียในอนาคต
5) ลงทุนเพิ่มเติมใน Big Idea Venture และกองทุนนิวโปรตีน ที่มีขนาดกองทุน 1,500 ล้านบาท เพื่อให้เงินทุนสนับสนุนและคำปรึกษาแก่ธุรกิจสตาร์ทอัพเกี่ยวกับอาหารโปรตีนจากพืช โดยมีเป้าหมายลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพ 100 ราย ภายใน 3 ปี เพื่อโอกาสขยายฐานลูกค้าโดยการเป็น preferred co-packer ให้กับสตาร์ทอัพเหล่านั้น และแลกเปลี่ยนความรู้พร้อมศึกษาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับบริษัท ปัจจุบันกองทุนดังกล่าวเข้าลงทุนแล้วประมาณ 27 สตาร์ทอัพ ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งมียอดขายแล้ว
ล่าสุด NRF ได้เข้าลงทุนใน Phuture Food Limited (Phuture) สตาร์ทอัพด้าน Food Tech ในทวีปเอเชียที่ได้รับความสนใจจากบริษัทลงทุนระดับโลก เน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์หมูสับเทียมที่ผลิตจากโปรตีนจากถั่วเหลืองเป็น เพื่อรองรับการผลิตให้กับสตาร์ทอัพและลูกค้า Plant-based food นอกจากนี้ บริษัทมีแผนสร้างโรงงานผลิตอาหารโปรตีนจากพืชแห่งใหม่ในไทย (Plant-based dedicated manufacturing facilities)
6) ร่วมทุนกับ Boosted ECommerce Inc. (Boosted) ใน 2 รูปแบบ คือ ลงทุนในกลุ่มบริษัท Boosted Ecommerce Inc. (Boosted) เพื่อบริหารจัดการธุรกิจ e-commerce ของ Third-party seller บน Amazon e-commerce platform และร่วมจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อลงทุนใน Consumer Package Goods ในอุตสาหกรรมอาหาร (รวมถึง pet food)
นอกจากนี้ บริษัทมุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวทางของสหประชาชาติ (United Nations) ขับเคลื่อนสู่สังคมสีเขียว โดยได้ริเริ่มโครงการ Carbon Footprint เมื่อเดือน ต.ค.62 ปัจจุบันถือเป็นองค์กรปราศจากคาร์บอน (Carbon Neutral) ที่เป็นโรงงานผลิตอาหารภาคเอกชนรายแรกในประเทศไทยที่ได้รับประกาศนียบัตรรับรองดังกล่าว พร้อมกันนี้ บริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ คือ
1) สร้างเครือข่ายโปรตีนทางเลือก (plant-based) ที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้บริโภค 2) สนับสนุนสตาร์ทอัพที่มีนวัตกรรมด้านอาหารใหม่ ๆ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ 3) โปรโมทการบริโภคและผลิตอาหารอย่างยั่งยืน 2) สนับสนุนสตาร์ทอัพที่มีนวัตกรรมด้านอาหารใหม่ ๆ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ 3) โปรโมทการบริโภคและผลิตอาหารอย่างยั่งยืน