พาราสาวะถีอรชุน
เป็นท่าทีแรกและน่าจะชัดเจนสำหรับพรรคประชาธิปัตย์จากการให้สัมภาษณ์ของหัวหน้าพรรค อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เรียกร้องให้สปช.คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติหรือคปป.คือตัวสร้างปัญหาเป็นการตั้งรัฐซ้อนรัฐ สร้างความขัดแย้งในอนาคต ดังนั้น จึงไม่ควรปล่อยผ่าน
เป็นท่าทีแรกและน่าจะชัดเจนสำหรับพรรคประชาธิปัตย์จากการให้สัมภาษณ์ของหัวหน้าพรรค อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เรียกร้องให้สปช.คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติหรือคปป.คือตัวสร้างปัญหาเป็นการตั้งรัฐซ้อนรัฐ สร้างความขัดแย้งในอนาคต ดังนั้น จึงไม่ควรปล่อยผ่าน
ตามมาด้วยวาทะเด็ด เมื่อมีการรัฐประหารสังคมตั้งความหวังให้สะสางปัญหาเดิมเพื่อเดินไปข้างหน้า แต่ทุกวันนี้เป็นเรื่องสร้างวาทกรรมทั้งการปฏิรูป ปรองดองและประชาธิปไตย จึงทำให้เกิดการโต้เถียงนำไปสู่ความวุ่นวายเช่นเดิม เมื่อเป็นเช่นนี้คสช.และสปช.ต้องทำหน้าที่ของตัวเอง ให้พิจารณาเนื้อหาว่าด้วยกติกาสูงสุดของประเทศที่ร่างขึ้นมีความเหมาะสมหรือไม่ อย่าไปคิดว่าคว่ำรัฐธรรมนูญและให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ในตำแหน่งต่อไป
อย่างไรก็ตาม อภิสิทธิ์ปฏิเสธที่จะแสดงจุดยืนของพรรคในการเดินหน้าคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ โดยยืนยันว่า สปช.ไม่ผ่านรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะดีกว่า เพราะเมื่อไปถึงประชามติจะมีปัจจัยอื่นเข้ามา ทั้งภาวะเศรษฐกิจ ความต้องการเลือกตั้ง ยิ่งมีการพ่วงคำถามแทรก จะทำให้เกิดความสับสนมากขึ้น ทำให้เกิดความยุ่งยาก จึงขอให้คำนึงด้วยว่ากติกาใหม่นี้ต้องใช้ตลอดไป
ที่ต้องขีดเส้นใต้ในคำพูดของหัวหน้าพรรคเก่าแก่คือ อย่าคิดว่าให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านๆ ไปก่อนไม่ได้ เพราะต่างจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งยืนยันว่ายังเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้ได้ และไม่ใช่ต้นตอของปัญหาในขณะนี้ โดยไม่อยากให้มองว่าจะเกิดการเลือกตั้งได้หรือไม่ แต่ต้องมองว่า หากมีการเลือกตั้งแล้วจะอยู่ในภาวะใด
แต่ดูเหมือนว่าข้อเรียกร้องของอภิสิทธิ์น่าจะเป็นหมัน เนื่องจากบิ๊กตู่ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมครม.เมื่อวานถึงปฏิกิริยาของนักการเมืองที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มคนเหล่านี้ เพราะที่ผ่านมาไม่เคยที่จะแก้ปัญหาอะไรได้ หากไม่หยุดออกมาเสนอความเห็น แม้ขณะนี้ยังไม่สั่งห้ามให้มีการแสดงความคิดเห็นเพราะอยากให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน แต่เมื่อถึงเวลาจะหาวิธีจัดการคนพวกนี้ด้วยตัวเอง
ก่อนที่จะขู่สำทับต่อ ขอให้สื่อมวลชนระมัดระวังการนำเสนอความเห็นของกลุ่มคนเหล่านี้ เพราะอดีตนักการเมืองทุกคนที่ออกมาพูดล้วนแต่มีคดีเกือบทั้งสิ้น ซึ่งตัวอภิสิทธิ์เองก็ไม่มีข้อยกเว้น การที่ตนเองพูดมาทั้งหมดไม่ได้จะขัดแย้งกับใคร นอกจากนี้ยังบอกด้วยว่า ขอให้คนที่เคยออกมาพูดว่าจะไม่ลงสมัครรับการเลือกตั้งจำไว้ว่าได้พูดอะไรไว้บ้าง
ประเด็นวิวาทะว่าด้วยร่างรัฐธรรมนูญในส่วนของผู้มีอำนาจกับฝ่ายการเมืองน่าจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่มีปมใหม่ที่เกิดจากการตั้งข้อสังเกตของ อุดม เฟื่องฟุ้ง สมาชิกสปช.ว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่สมบูรณ์เพราะยังขาดคำปรารภ แต่เนติบริกรประจำคสช.และรัฐบาลอย่าง วิษณุ เครืองาม ก็ออกมาไขข้อกระจ่างยืนยันว่าไม่มีปัญหา
คำปรารภสามารถเขียนภายหลังได้ เพราะกว่าจะนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯถวาย ก็ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ หากเขียนคำปรารภในช่วงนี้จะเป็นการอ้างอิงจากเหตุการณ์เดือนสิงหาคมส่งผลให้ต้องมาแก้ไขกันอีก นอกจากนี้ คำปรารภจะมีคำกล่าวที่ว่าเนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้รับความเห็นชอบจากประชามติแล้ว ดังนั้น จะเขียนคำปรารภในช่วงนี้ไม่ได้ จึงขอยืนยันว่าในส่วนของคำปรารภสามารถเขียนภายหลังได้
น่าจะเป็นหลักการที่ถูกต้องเพราะสอดคล้องกับความเห็นของอภิสิทธิ์ เรื่องนี้ในปี 2540 เคยมีบทสรุปไปแล้วว่า คำปรารภเขียนล่วงหน้าไม่ได้ เพราะต้องบรรยายกระบวนการทั้งหมด จนกระทั่งเกิดการตรารัฐธรรมนูญ จึงอย่านำเรื่องนี้มาเป็นประเด็นหลัก ปมนี้ถือว่ามีอันตกไป ส่วนเรื่องความเคลื่อนไหวของส.ว.บางรายที่ตอกย้ำเรื่องคว่ำร่างรัฐธรรมนูญนั้น คงปลุกกระแสไม่ขึ้น
เป็นเพราะวิษณุได้มองทะลุไปไกลกว่านั้นแล้ว โดยโยนให้เป็นภาระของประชาชนในการตัดสินว่าจะผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่ในการลงประชามติ อันเป็นท่าทีที่สอดรับกับท่วงทำนองของ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่ไม่หวั่นว่าสปช.จะคว่ำร่าง เวทีแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างสปช.กับคณะกรรมาธิการยกร่างฯเมื่อวันวานน่าจะเคลียร์ใจกันไปเรียบร้อยแล้ว
หันกลับไปดูที่การประชุมครม.วาระร้อนคือการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงตำแหน่งปลัดกระทรวง คนที่น่าเห็นใจมากที่สุดคือ ชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯที่ถูกเด้งไปนั่งตบยุงในตำแหน่งผู้ตรวจราชการพิเศษ ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยที่เจ้าตัวยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี แต่ก็ยอมรับคำสั่งแต่โดยดี
ขณะเดียวกันมีการแต่งตั้งปลัดอีก 4 ตำแหน่ง สมชัย สัจจพงษ์ ขึ้นชั้นปลัดคลังตามคาด อาทิตย์ วุฒิคะโร นั่งปลัดอุตสาหกรรม โดยรอบนี้มีปลัดหญิง 2 รายคือ สุวณา สุวรรณจูฑะ เป็นปลัดยุติธรรม และ หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ เป็นปลัดกระทรวงแรงงาน ถือเป็นการขยับรับกับรัฐมนตรีใหม่ที่ได้รับบัญชามาจากบิ๊กตู่จะต้องเร่งสร้างผลงานเพราะหมดเวลาฮันนีมูนไปแล้ว
แต่ที่น่าติดตามคงเป็นบัญชีแต่งตั้งนายทหารระดับนายพล เพราะนายกฯและหัวหน้าคสช.บอกว่าได้นำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯถวาย แล้ว พร้อมทิ้งปริศนา ว่าด้วยเก้าอี้ผบ.ทบ.ที่อาจไม่มีชื่อของ พลเอกปรีชา จันทร์โอชา น้องชายว่า ไม่ได้เดือดร้อนใดๆ ขอสื่ออย่าทำให้เกิดความวุ่นวาย น้องชายตนเป็นได้หมด เพียงแต่สถานการณ์ขณะนี้ควรจะเป็นอย่างไร ใครอาวุโสตรงไหน ทุกคนรู้ตัวอยู่แล้ว
ออกมาอีหรอบนี้แสดงว่า “บิ๊กหมู” พลเอกธีรชัย นาควานิช คู่แคนดิเดตจะสมหวังและถือเป็นความสำเร็จของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่สามารถผลักดันให้เด็กในคาถาเข้าป้ายได้ทั้งสองตำแหน่งทั้งผบ.ตร.และผบ.ทบ. อีกด้านเป็นเพราะบิ๊กตู่เองติดเงื่อนไขสำคัญหลายประการ เป็นอันว่าบูรพาพยัคฆ์ยังได้ไปต่อในการเป็นผู้นำกองทัพบก ส่วนบิ๊กติ๊กน่าจะหลบไปเลียแผลใจในเก้าอี้ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นอันจบข่าว