อนาคตโอเปกพลวัต2015

สถิติย้อนหลังดัชนีดาวโจนส์และ S&P500 ร่วงหนักทันทีมากกว่า 5% ในสัปดาห์เดียวในรอบ 35 ปีที่ผ่านมารวมกันมากกว่า 28 ครั้งยืนยันว่าจะฟื้นตัวกลับมา 1.65% ภายใน 4 สัปดาห์และจะกลับมามากกว่า 5%ภายใน 12 สัปดาห์ อาจช่วยให้คนที่เป็น "ชาวดอย" ใจชื้นขึ้นได้บ้างว่าจะปรับกลยุทธ์จัดพอร์ตลงทุนอย่างไรดี


สถิติย้อนหลังดัชนีดาวโจนส์และ S&P500 ร่วงหนักทันทีมากกว่า 5% ในสัปดาห์เดียวในรอบ 35 ปีที่ผ่านมารวมกันมากกว่า 28 ครั้งยืนยันว่าจะฟื้นตัวกลับมา 1.65% ภายใน 4 สัปดาห์และจะกลับมามากกว่า 5%ภายใน 12 สัปดาห์ อาจช่วยให้คนที่เป็น “ชาวดอย” ใจชื้นขึ้นได้บ้างว่าจะปรับกลยุทธ์จัดพอร์ตลงทุนอย่างไรดี

คำอธิบายประกอบสถิติถึงการฟื้นตัวหลังจากภาวะดัชนีหุ้นร่วงหนักจากแรงขาย วินาศสันตะโร คือ เกิดจากพื้นฐานของบริษัทจดทะเบียนไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมี นัยสำคัญ

ครั้งล่าสุดนี้ก็เช่นกันแรงขายที่ออกมามากจนตลาดเซซวน มาจากรากฐานของการร่วงหนักของราคาน้ำมันตามด้วยราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เพราะคาดว่าสินค้าจะล้นตลาดเนื่องจากความต้องการซื้อในอนาคตของจีนจะลดลง

สรุปสั้นที่สุดคือราคาน้ำมันคือปฐมเหตุของปัญหาตลาดหุ้นพังทลายรอบนี้

คำถามคืออะไรเป็นสาเหตุให้ราคาน้ำมันดิ่งเหวและภาวะดิ่งเหวจะจบลงเมื่อไหร่ ถ้าตอบได้ตลาดหุ้นก็จะฟื้นตัวทันทีสู่ระดับเดิมหรือสูงกว่าเดิม เพราะสถิติเก่าๆ ก็ยืนยันเช่นกันว่าภาวะตกต่ำของราคาน้ำมันไม่ได้เกิดขึ้นจาก ธรรมชาติแต่เกิดจากน้ำมือมนุษย์กระทำ

ครั้งนี้ก็ไม่ต่างกัน ผู้ที่มีบทบาทสำคัญให้ราคาน้ำมันดิ่งเหวคือ สหรัฐฯและชาติสมาชิกโอเปก ที่ประกาศสงครามราคาอย่างไม่เป็นทางการ  ด้วยเหตุผลที่ไม่เปิดเผยแต่เหตุผลเบื้องหน้าคือการแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดน้ำมันดิบโลก

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะในสองเดือนที่ผ่านมาทั้งชาติโอเปกสำคัญอย่างอิรัก และ ซาอุดีอาระเบียพากันขุดน้ำมันออกมาขายอย่างหนักจนเกินจำนวนเป้าหมายวันละ 31.5 ล้านบาร์เรลต่อวันเพิ่มขึ้นประมาณล้านบาร์เรลต่อวัน

ขณะที่บริษัทขุดเจาะน้ำมันสหรัฐอเมริกาก็ไม่ย่นระย่อ เพราะว่ามีการเพิ่มหลุมขุดเจาะน้ำมันมากขึ้นจนปริมาณสำรองน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นอย่างผิดสังเกตสัปดาห์ละประมาณ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน

การเร่งปริมาณอุปทานน้ำมันดิบในตลาดอย่างไม่บันยะบันยัง ในขณะที่อุปสงค์ไม่เพิ่มขึ้นมากนักทำให้ปริมาณน้ำมันล้นตลาดวันละ 2 ล้าน บาร์เรลต่อวัน คือสาเหตุสำคัญที่สะท้อนการต่อสู้ของชาติผลิตน้ำมันหลักของโลก

เจตนาทำให้ผลผลิตน้ำมันล้นโลกยามนี้คืออะไร ข้ออ้างเรื่องส่วนแบ่งการตลาดเป็นประเด็นที่รับรู้แต่ไม่น่าจะเป็นเหตุผลที่ แท้จริง

หลายเดือนก่อน นักวิเคราะห์วงการน้ำมันในยุโรปและสหรัฐฯ พากันให้ความเห็นว่า การที่โอเปกได้ตัดสินใจครั้งสำคัญเมื่อปลายปีก่อน โดยยืนกรานคงระดับการผลิต 31.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งส่งผลให้ราคาน้ำมันดิ่งแรง จนแตะระดับต่ำสุดรอบ 5 ปี เพราะต้องการให้ผู้ผลิตน้ำมันของสหรัฐฯที่มีต้นทุนสูงกว่าจำต้องลดกำลังการผลิตลง

การตัดสินใจดังกล่าวได้ผลระยะหนึ่ง เพราะช่วยให้ชาติสมาชิกโอเปก 12 ประเทศ ซึ่งผลิตน้ำมันดิบป้อนตลาดโลกถึง 1 ใน 3 รักษาส่วนแบ่งในตลาดน้ำมันเอาไว้ได้

ครั้งนั้นผู้นำชาติโอเปกเชื่อว่า การลดกำลังผลิตเพียงฝ่ายเดียวโดยปราศจากความเคลื่อนไหวแบบเดียวกันของคู่แข่ง มีความเสี่ยงที่พวกเขาจะสูญเสียส่วนแบ่งตลาดเพิ่มเติม โดยเฉพาะกับเหล่าชาติผู้ผลิตน้ำมันในอเมริกาเหนือ

ครั้งแรกนั้นนักวิเคราะห์พากันเชื่อว่า สงครามราคาที่มีต้นทุนสูงกว่า ทำให้ผู้ผลิตของสหรัฐฯเสียเปรียบและเสียความสามารถในการแข่งขันในอนาคต เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตสูงกว่า ช่วยคลายแรงกดดันต่อโอเปกระยะยาว แต่เมื่อเวลาผ่านไปความเชื่อนั้นได้ถูกทำลายลงด้วยข้อเท็จจริงว่าผู้ผลิต สหรัฐฯ ปรับตัวเก่งมากด้วยแรงส่งของวิศวกรรมการผลิตและการเงิน

ผลที่ตามมาอย่างคาดไม่ถึง คือ การปรับลดและเพิ่มผลผลิตยืดหยุ่นทำให้สหรัฐฯมีอิทธิพลต่อราคาน้ำมันอย่างเข้มข้นมากขึ้น ผู้ผลิตของสหรัฐฯกลายเป็นผู้ชนะที่ไม่ได้มีเจตนาโดยปริยาย

การรีบาวด์กลับนาน 2 เดือนเศษ เมื่อกลางปีนี้ของราคาน้ำมันดิบสะท้อนว่า ผู้ผลิตในสหรัฐฯคือผู้กุมชะตากรรมของราคาน้ำมันดิบที่แท้จริง

หากมองจากมุมของการบริหารจัดการความยืดหยุ่นและการปรับเทคโนโลยีการผลิตที่ ยืดหยุ่นมากกว่าหมายถึงความสามารถในการแข่งขันที่เหนือกว่าและต้นทุนการผลิตที่มากกว่าของสหรัฐฯ กลับไม่ได้เป็นปัจจัยลบมากอย่างที่คาด เพราะหากคิดถึงการขนส่งผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯมีต้นทุนค่าขนส่งต่ำกว่าโอเปกหลายเท่าเพราะแค่ผลิตป้อนตลาดสหรัฐฯเองก็แทบไม่ต้องหาตลาดอื่นๆ อยู่แล้ว

ความได้เปรียบเช่นนี้ทำให้โอเปกตกเป็นเบี้ยล่างในสงครามกำหนดราคาน้ำมันอย่างเลี่ยงไม่พ้น

โจทย์ที่โอเปกคาดไม่ถึงจึงเป็นโจทย์ที่ต้องแก้แต่การแก้ต่อมาด้วยการผลิตน้ำมันมากขึ้น กลับไม่ใช่ทางออกเพราะมีแต่ทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลง

ฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ราคาน้ำมันเริ่มดิ่งเหวคือข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่าง มหาอำนาจ 5+1กับอิหร่าน ที่อนุญาตให้อิหร่านส่งออกน้ำมันระลอกใหม่ในตลาดโลก ได้แม้ว่าจะยังไม่มีผลทันทีต้องรอถึงกลางเดือนมกราคมหน้าเป็นต้นไป ก็มีผลทางจิตวิทยาที่ทำให้การร่วงของราคาน้ำมันเกิดขึ้นต่อเนื่อง

คำถามคือเบื้องหลังข้อตกลงนิวเคลียร์นั้นสหรัฐฯซ่อนเจตนาทุบราคาน้ำมันโลกลงด้วยหรือไม่ เป็นโจทย์ที่น่าทบทวนหาคำตอบเช่นกัน

สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากราคาน้ำมันร่วงลงคือแทนที่จะมีการลดกำลังการผลิตน้ำมันลงจากชาติต่างๆ กลับมีการเร่งเพิ่มจำนวนการผลิตสูงขึ้นเสมือนกำลังเร่ง ใช้สัญชาตญาณอยากตายหรือ death instinct อย่างเอาเป็นเอาตายทั้งที่รู้ดีว่าสงครามราคาดังกล่าวจบลงด้วยหายนะแน่นอน

อยู่ที่ใครจะหายนะมากกว่า หรือก่อนหลังเท่านั้น

ท่าทีในการต่อสู้ในสงครามราคาน้ำมันรอบนี้ ทั้งของสหรัฐฯและโอเปก ค่อนข้างต่างจากอดีตที่โอเปกเคยจับมือหรือเสียท่าตกลงรับปากเมื่อปี ค.ศ. 1973 มาแล้วว่า จะใช้ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้นในการค้าน้ำมันทั่วโลก ซึ่งยังดำรงอยู่มาถึงปัจจุบันอย่างสุดขั้ว

สำหรับชาติโอเปกที่มีรายได้หลักจากน้ำมันมายาวนาน ผลของการต่อสู้ครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องที่ดีเลย์ เพราะทำให้ฐานะความร่ำรวยที่เคยมีมายาวนานร่อยหรอลง แม้จะมีทุนสำรองทางการเงินที่เอาไปลงทุนทั่วโลกอยู่มากแต่ก็จะทำให้ทรุดโทรมลงไปรุนแรง

ส่วนสหรัฐฯนั้น แม้ว่าด้านหนึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมขุดเจาะน้ำมันเสียหาย แต่เมื่อคิดเทียบกับจีดีพีของประเทศแล้วความเสียหายต่ำและยังอาจได้ประโยชน์ในส่วนอื่นที่ใช้น้ำมันราคาถูกมาชดเชยจึงไม่ได้เสียหายมากนัก

หากดูจากรูปการณ์แล้วอนาคตของเศรษฐกิจสหรัฐฯหลังราคาน้ำมันร่วงแรงครั้งนี้    จะฟื้นตัวเร็วยิ่งขึ้นแต่อนาคตของชาติสมาชิกโอเปกหลังจากนี้ไปจะเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน

ข้อสรุปนี้อาจเร็วและหยาบเกินไป แต่แนวโน้มและทิศทางจะเกิดขึ้นเป็นไปได้สูง

หลายคนอาจคิดเลยเถิดไปว่าแท้จริงแล้วเล่ห์กลและทฤษฎีเกมของผู้อยู่เบื้องหลังเกมน้ำมันสหรัฐฯรอบนี้ ช่างอำมหิตยิ่งนัก

โลกอาจจะไม่ได้เห็นพลังอำนาจเหนือธุรกิจน้ำมันหรือพลังงานของโอเปกเหมือนหลายทศวรรษที่ผ่านมาอีกเลย หากวิกฤตรอบนี้ผ่านไปสักระยะหนึ่ง

 

 

Back to top button