สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 9 ต.ค. 2563
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 9 ต.ค. 2563
ดัชนีดาวโจนส์ปิดบวกเมื่อวันศุกร์ (9 ต.ค.) เนื่องจากนักลงทุนขานรับความคืบหน้าในการเจรจามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ โดยคาดว่าการเจรจาระหว่างนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรและนายสตีเวน มนูชิน รมว.คลัง จะยังคงดำเนินต่อไป แม้จะยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจจากผลกระทบของโรคโควิด-19 ก็ตาม
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 28,586.90 จุด เพิ่มขึ้น 161.39 จุด หรือ +0.57%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,477.13 จุด เพิ่มขึ้น 30.30 จุด หรือ +0.88% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,579.94 จุด เพิ่มขึ้น 158.96 จุด หรือ +1.39%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวขึ้นเมื่อวันศุกร์ (9 ต.ค.) และบวกขึ้นเป็นสัปดาห์ที่สองติดต่อกัน โดยได้แรงหนุนจากความหวังเกี่ยวกับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในสหรัฐ รวมถึงการคาดการณ์แนวโน้มผลประกอบการในเชิงบวกจากบริษัทยุโรป
ดัชนี Stoxx Europe 600 บวก 0.55% ปิดที่ 370.35 จุด
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 4,946.81 จุด เพิ่มขึ้น 34.87 จุด หรือ +0.71%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 13,051.23 จุด เพิ่มขึ้น 9.02 จุด หรือ +0.07% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,016.65 จุด เพิ่มขึ้น 38.62 จุด หรือ +0.65%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวขึ้นเมื่อวันศุกร์ (9 ต.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการแผนการสร้างงานใหม่ในอังกฤษ และความคืบหน้าในการเจรจาทำข้อตกลงการค้าระหว่างอังกฤษและสหภาพยุโรปหลังจาก Brexit
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,016.65 จุด เพิ่มขึ้น 38.62 จุด หรือ +0.65%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อวันศุกร์ (9 ต.ค.) หลังจากมีรายงานข่าวว่า การผละงานประท้วงเป็นเวลา 10 วันของแรงงานในอุตสาหกรรมน้ำมันของนอร์เวย์ได้ยุติลงแล้ว ซึ่งข่าวดังกล่าวได้คลายความวิตกในตลาดเกี่ยวกับผลกระทบด้านการผลิตน้ำมัน และทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวลง
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ย. ลดลง 59 เซนต์ หรือ 1.4% ปิดที่ 40.60 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 49 เซนต์ หรือ 1.1% ปิดที่ 42.85 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อวันศุกร์ (9 ต.ค.) โดยได้ปัจจัยหนุนจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ และความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งกระตุ้นให้นักลงทุนเข้าซื้อทองในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. พุ่งขึ้น 31.1 ดอลลาร์ หรือ 1.64% ปิดที่ 1,926.2 ดอลลาร์/ออนซ์ และในรอบสัปดาห์นี้ สัญญาทองคำปรับตัวขึ้น 1%
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธ.ค. พุ่งขึ้น 1.232 ดอลลาร์ หรือ 5.16% ปิดที่ 25.108 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนม.ค. พุ่งขึ้น 30.3 ดอลลาร์ หรือ 3.51% ปิดที่ 894.3 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนธ.ค. พุ่งขึ้น 60.20 ดอลลาร์ หรือ 2.5% ปิดที่ 2,463.20 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อวันศุกร์ (9 ต.ค.) โดยลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ เนื่องจากนักลงทุนพากันเทขายดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย หลังจากมีความคืบหน้าในการเจรจาเพื่อออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ในสหรัฐ
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน อ่อนค่า 0.59% แตะที่ 93.0532
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 105.62 เยน จากระดับ 106.01 เยน, อ่อนค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9097 ฟรังก์ จากระดับ 0.9171 ฟรังก์ และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3131 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3199 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1825 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1758 ดอลลาร์, ปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.3038 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2933 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.7231 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7163 ดอลลาร์สหรัฐ