MFC ออกกอง MGTECH ลงทุนกลุ่มเทคโนโลยี
MFC ออกกอง MGTECH ลงทุนกลุ่มเทคโนโลยี
นายธนโชติ รุ่งสิทธิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ บลจ. เอ็มเอฟซี (MFC) เปิดเผยว่า เอ็มเอฟซีเห็นโอกาสการลงทุนในธุรกิจ และนวัตกรรมใหม่ ๆ ซี่งมีโมเมนตัมที่แข็งแกร่ง และรายได้ที่เติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงได้เสนอขาย กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี เน็กซ์ เจนเนอเรชั่น เทคโนโลยี (MGTECH) เสนอขายครั้งแรก (IPO) ระหว่างวันที่ 19-28 ต.ค.63 โดยเป็นกองทุนรวมตราสารทุนต่างประเทศ ประเภท Feeder Fund ในหมวดอุตสาหกรรมเทคโนโลยี (Technology Sector) ที่มีนโยบายลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน BGF Next Generation Technology Fund (กองทุนหลัก) ซึ่งบริหารโดย BlackRock (Luxembourg) S.A. เพียงกองทุนเดียว โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่ต่ำกว่า 80% ของ NAV ซึ่งกองทุนหลักจดทะเบียนจัดตั้งที่ประเทศลักเซมเบิร์ก
กองทุนดังกล่าวลงทุนอย่างน้อย 70% ของ NAV ในตราสารทุนของบริษัททั่วโลกที่มีความโดดเด่นในการประกอบธุรกิจทั้งด้านการวิจัย การพัฒนา การผลิต และหรือการบริการ โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับอนาคต นอกจากนี้กองทุน MGTECH อาจลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (derivatives) เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารการลงทุน (efficient portfolio management) โดยมี Benchmark MSCI AC World Information Technology Net Total Return Index เป็นดัชนีชี้วัดผลการดำเนินงาน
กองทุน MGTECH เน้นลงทุนในหุ้นบริษัทเทคโนโลยีเพื่อยุคหน้าที่จะเป็นผู้ชนะในวันพรุ่งนี้ โดยคัดเลือกจากบริษัทที่มีศักยภาพประมาณ 1,100 บริษัท รายได้และกำไร (EPS) ของบริษัทกลุ่มนี้มีลักษณะ Hyper Growth ที่คาดว่าจะเติบโตประมาณ 40-50% ต่อปี และมีศักยภาพจะเติบโตสูงต่อเนื่องไปอีกหลายปีเพื่อบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ในทศวรรษหน้า MGTECH จึงแตกต่างจากกองทุนหุ้นเทคโนโลยีทั่วไปที่ลงทุนในบริษัท Mega Technology (ที่มีอยู่ประมาณ 100 บริษัท) ที่รายได้และกำไรอาจจะขยายตัว 10-20% ต่อปี แต่กำลังจะเข้าสู่ช่วงเติบโตช้าลงและอาจเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่อัตราการเติบโตต่ำในที่สุด
ส่วนกองทุนหลัก BlackRock Next Generation Technology มีทีมบริหารลงทุนนำโดย Tony Kim (ได้รับ rating AA โดย CITYWIRE และบริหารกองทุนเทคโนโลยีที่ได้รับการจัดอันดับ Morningstar 5 ดาว) ที่มีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีกว่า 25 ปี และมีความรู้เชิงลึกที่สามารถคัดเลือกประเภทธุรกิจและบริษัทตามนโยบายลงทุน นอกจากนี้กองทุนหลักมีการบริหารความเสี่ยง และกระจายการลงทุน (diversification) ไปในหุ้นประมาณ 100-125 ตัว และน้ำหนักลงทุนสูงสุดต่อหุ้นมักจะอยู่ที่ 1-2% ของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ ดังนั้นกองทุน จึงมีความเสี่ยงจากความผันผวนของหุ้นรายตัวต่ำ
โดยกองทุน MGTECH เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนในระยะกลางถึงระยะยาว คาดหวังผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวจากการลงทุนในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี
สำหรับสภาวะเศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 สร้างความเสียหายให้กับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจดั้งเดิม แต่เป็นโอกาสการเติบโตแบบก้าวกระโดดให้กับบริษัทที่คิดค้น นวัตกรรมใหม่ ๆ หรือ ธุรกิจประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อยุคหน้า ที่ตอบโจทย์ความต้องการและตอบสนองพฤติกรรมของผู้ใช้งานในยุค New Normal สามารถสร้างรายได้เติบโตได้แบบทวีคูณ
โดยเทคโนโลยีและนวัตกรรมถือว่าเป็นสิ่งสำคัญต่อการสร้างผลผลิตของโลก ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์สินค้าและบริการในรูปแบบใหม่ ที่ตอบสนองความต้องการผู้บริโภค ปัจจุบันหุ้นบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเติบโตในอัตราก้าวกระโดดโดยสัดส่วนของหุ้นกลุ่มนี้ต่อหุ้นทั่วโลกเพิ่มขึ้นสูงกว่า 4 เท่า (เมื่อเทียบกับเมื่อปี 2548) และมีมูลค่าตลาดมากกว่า ที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม15 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ McKinsey Global Institute คาดการณ์ว่า เทคโนโลยีและนวัตกรรม จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอีกกว่า 13 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2573
อย่างไรก็ตามการลงทุนส่วนใหญ่มุ่งไปที่บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ (Mega Technology) ซึ่งเป็นผู้ชนะในวันนี้ เช่น กลุ่ม FAANG ซึ่งยังเติบโตได้ดี แต่มีแนวโน้มอาจเข้าสู่ช่วงเติบโตช้าลง (ตามวัฎจักรธุรกิจ) ในที่สุด ขณะที่การลงทุนในบริษัทที่จะเป็นผู้ชนะในวันพรุ่งนี้ คือเทคโนโลยีเพื่อยุคหน้า (Next Generation Technology) ที่จะปฏิรูปรูปแบบของการใช้ชีวิตของเราที่จะมีความเชื่อมต่อเข้าด้วยกัน (Future of Connected Living) หุ้น Next Generation Technologies มีศักยภาพเติบโตรวดเร็ว Hyper Growth และต่อเนื่องไปอีกทศวรรษ
ทั้งนี้สถานการณ์ปัจจุบัน ตลาดทุนต่างประเทศแกว่งตัวในทิศทางขาขึ้น ด้วยความคาดหวังสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 จะดีขึ้น และมีนโยบายกระตุ้นด้านการคลังและการเงินเพิ่มเติม และเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวในปี 2564 ขณะที่มีปัจจัยเสี่ยงและความไม่แน่นอนของการระบาดของโควิด-19 รอบที่สอง , การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ,ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีน ,การเจรจาข้อตกลงหลังการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ (Brexit) และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์อื่น ๆ