วิบากกรรมหุ้นกลุ่มธนาคาร

9 เดือนแรกหรือ 3 ไตรมาสแรกของปีนี้ หุ้นขนาดใหญ่ 5 อันดับของกลุ่มธนาคาร (ไม่นับหุ้น TMB) ยังคงมีผลประกอบการที่ย่ำแย่ต่อไป แม้ว่าฝ่ายบริหารและประชาสัมพันธ์จะยังคงอ้างว่ามีผลงานกระเตื้องขึ้นชนิด “พ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว” เพราะกำไรสุทธิและกำไรสุทธิต่อหุ้นยังคงส่อออกอาการน่าสุ่มเสี่ยงต่อไปในไตรมาสสุดท้าย


พลวัตปี 2020 : วิษณุ โชลิตกุล

9 เดือนแรกหรือ 3 ไตรมาสแรกของปีนี้ หุ้นขนาดใหญ่ 5 อันดับของกลุ่มธนาคาร (ไม่นับหุ้น TMB) ยังคงมีผลประกอบการที่ย่ำแย่ต่อไป แม้ว่าฝ่ายบริหารและประชาสัมพันธ์จะยังคงอ้างว่ามีผลงานกระเตื้องขึ้นชนิด “พ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว เพราะกำไรสุทธิและกำไรสุทธิต่อหุ้นยังคงส่อออกอาการน่าสุ่มเสี่ยงต่อไปในไตรมาสสุดท้าย

SCB มีกำไรต่ำกว่าเดิมเกินคาด (เพราะขายบริษัทในเครือไทยพาณิชย์ประกันชีวิตออกไป  และ NIM แคบลง) ขณะที่ BBL มีกำไรกระเตื้องขึ้นชั่วคราว (จากรายได้ดอกเบี้ยดีขึ้นหลังรวมงบ Permata ในอินโดนีเซียเข้ามาเต็มไตรมาส) ส่วน KTB มีกำไรสุทธิงวด 9 เดือนแรกเพิ่มขึ้นจากปัจจัยทางเทคนิค (สภาวะดอกเบี้ยนโยบายที่ถูกปรับลดจนต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้เกิดผลบวกจากการได้รับรายได้ดอกเบี้ยพิเศษ) และ KBANK มีกำไรสุทธิไตรมาสสามเพิ่มขึ้นจากไตรมาสสองแต่ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน (เกิดจากการตั้งสำรองลดลงทางเทคนิค) สะท้อนให้เห็นว่าประเด็นความสามารถทำกำไรของแต่ละธนาคารยังคงไม่แน่นอน

ที่ไม่นับหุ้น TMB ก็เพราะว่ากำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นของธนาคารอันดับ 5 รายนี้ เกิดจากมายาภาพของการควบรวมกิจการระหว่าง TMB เดิมกับ ธนาคารธนชาต ดังนั้นหากจะดูกันให้ลึกต้องดูเทียบระหว่าง ROA กับกำไรสุทธิต่อหุ้นซึ่งจะเห็นได้ว่าไม่ได้ดีขึ้น แต่ย่ำแย่ลงด้วยซ้ำ

เหตุผลหลักของผลประกอบการที่ย่ำแย่ ก็ดังที่ทราบกันดีเพราะมาจากพิษของโควิด-19 ที่ยังไม่สร่าง แม้ว่ามาตรการล็อกดาวน์จะช่วยได้บ้าง แต่ตัวเลขผลประกอบการของลูกค้าสินเชื่อธนาคารที่ย่ำแย่ก็ยังกดดันให้ตัวเลขหนี้สูญหรือสงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น แม้จะได้รับอานิสงส์จากมาตรการผ่อนปรนบันทึกสินเชื่อจากธนาคารแห่งประเทศไทยไปจนถึงสิ้นปีนี้

ไม่เพียงเท่านั้นการเมืองในประเทศที่เริ่มร้อนระอุ จนสถานภาพของรัฐบาลเริ่มกลายเป็น เป็ดง่อย ไม่ล้ม แต่ ปกครองไม่ได้ ก็ยังมีผลต่อความเชื่อมั่นในระยะสั้นถึงกลางของผลประกอบการโดยรวมของธุรกิจที่เป็นลูกค้าของธนาคาร

อีกด้านหนึ่ง ตัวเลขผู้ที่เสียชีวิตจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เกินที่ยังคงเพิ่มในอัตราน่ากังวลทำให้แรงกดดันต่อเศรษฐกิจของโลกเพิ่มขึ้น แม้ในประเทศไม่น่ากังวลเท่าเดิมแล้ว ก็ยังคงเป็นแรงกดดันว่ากำลังซื้อระดับโลกน่าจะยังไม่กระเตื้องมากนัก

ผลลัพธ์จากการรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นทางการของสำนักข่าวเอเอฟพีเมื่อวันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม พบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่สะสมทั่วโลกถึงเวลา 05.30 น.เพิ่มเป็น 41 ล้านรายเศษ โดยเฉพาะชาติในอาเซียนอย่างอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเมียนมา ยังคงมียอดผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นในอัตราสูง และอินเดียก็ยังคงมีการแพร่ระบาดเลวร้ายเกินคาดต่อไป

สุดท้ายประเด็นค่าใช้จ่ายชดเชยการปลดพนักงานทั้ง “โดยสมัครใจ และบังคับ และการปิดสาขาเพิ่มต่อเนื่องจากปัญหาการ disruption of technology ก็เป็นแรงกดดันให้ค่าใช้จ่ายในด้านของพนักงานเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อผลประกอบการอีกโสตหนึ่ง

กำไรสุทธิและกำไรสุทธิต่อหุ้น ของธนาคารหลักอย่าง SCB, KTB, KBANK, BBL, และ BAY ที่ต่ำกว่าระยะเดียวกันปีก่อนประมาณมากกว่าค่าเฉลี่ย 40% บ่งบอกว่าค่าพี/อีของหุ้นธนาคารพาณิชย์ และบุ๊กแวลูในปัจจุบันยังคงสูงเกิน มีโอกาสฉุดหรือถ่วงดัชนี SET ให้ต่ำเตี้ยต่อไปอีกในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้

มุมมองของนักวิเคราะห์ที่ประเมินและแนะนำให้ ซื้อ หุ้นกลุ่มธนาคารที่ออกมาอย่าง เกรงใจ (ถ้าไม่ใช่โลกสวยเพราะเห็นราคาหุ้นต่ำกว่าบุ๊กแวลูเป็นแถบ) จึงมาพร้อมกับการปรับลดราคาเป้าหมายปีนี้ลงเป็นประเด็นที่นักลงทุนต้องกังวลกันต่อไป

ว่ากันตามข้อเท็จจริง ธนาคารที่มีสินเชื่อรายย่อยสัดส่วนสูงสุด คือ บริษัทในกลุ่มทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) ที่มีผลประกอบการลดลงต่ำสุดในบรรดาหุ้นธนาคาร เนื่องจากมีเครือข่าย สมหวังเงินสั่งได้ประคองเอาไว้ กำไรสุทธิลดลง 14.2% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2562 และ 18.1% เมื่อเทียบกับ 9 เดือนของปีก่อน เพราะมีรายได้ค่าธรรมเนียมปรับตัวลดลงอย่างมากที่ 14.1% อีกทั้งรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจนายหน้าประกันภัยและค่าธรรมเนียมจากเงินให้สินเชื่อ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการปล่อยสินเชื่อใหม่ที่ลดลง

รวมทั้งมีผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss: ECL) เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ของปีก่อนหน้า สะท้อนความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในภาวะที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูง อย่างไรก็ดีเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรก ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นมีทิศทางที่ดีขึ้น จากการตั้งสำรองล่วงหน้าไปแล้วบางส่วน ตามมาตรฐานบัญชีใหม่ หักกลบให้รายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจจัดการกองทุนยังคงมีการเติบโตได้ดี ตามปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น และการออกกองทุนที่หลากหลายในสภาวะตลาดทุนผันผวน ไม่สามารถช่วยได้มากนัก

การชะลอตัวของสินเชื่อทุกภาคธุรกิจตามภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว ประกอบกับการปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวังและเข้มงวดมากขึ้นตามความเสี่ยงที่สูงขึ้น ในส่วนของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ที่ยังคงไม่แน่นอน ทำให้การตั้งสำรองหนี้สูญต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เกิดขึ้นจ้าละหวั่นไปทั่ว

ธนาคารใหญ่อย่าง SCB, BBL และ KBANK เร่งกันออกหุ้นกู้มาขายในตลาดตราสารหนี้ด้วยอัตราดอกเบี้ย 3 ปีแรกที่ค่อนข้างสูง เพื่อระดมเงินเสริมสภาพคล่องด้วยวงเงินค่อนข้างสูง ถือเป็นเรื่องที่ไม่ปกติอย่างยิ่ง แม้จะเข้าใจกันได้ถึงมาตรการป้องกันความเสี่ยง แต่นั่นก็เป็นแรงกดดันต่ออนาคตถึงความสามารถในการทำกำไรที่ชัดเจน

ความเสี่ยงในเรื่องการตั้งสำรอง เพราะความกังวลว่า NPL และโอกาสในการตั้งสำรองส่วนเกินไว้บางส่วนเพื่อรองรับคุณภาพหนี้ที่อาจแย่ลง จากการที่สัดส่วน NPL อาจทรงตัวหรือเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ไปจนถึงต้นครึ่งแรกของปีหน้า จึงน่าจะยังเป็นวิบากกรรมที่ได้เห็นกันต่อไป

วิบากกรรมของหุ้นกลุ่มธนาคาร ยังคงเป็นโจทย์ให้นักลงทุนต้องทำการบ้านหนักต่อไปอีกอย่างน้อยก็ถึงต้นปีหน้ากันเลยทีเดียว

ถือเป็นบทพิสูจน์ความอึดในระยะกลางก็ว่าได้

Back to top button