ฤดูหนาวกับโควิด-19
องค์การอนามัยโลกออกคำเตือนประเทศต่าง ๆ ทางซีกโลกเหนือว่า มหันตภัยจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่ขึ้นถึงจุดสูงสุด จนกว่าจะผ่านฤดูหนาวนี้ไปเสียก่อน
พลวัตปี 2020 : วิษณุ โชลิตกุล
องค์การอนามัยโลกออกคำเตือนประเทศต่าง ๆ ทางซีกโลกเหนือว่า มหันตภัยจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่ขึ้นถึงจุดสูงสุด จนกว่าจะผ่านฤดูหนาวนี้ไปเสียก่อน
คำเตือนดังกล่าว เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า เชื้อโคโรนา ไวรัสเติบโตแพร่ระบาดได้ดียิ่งในช่วงอากาศเย็นถึงหนาว
แม้คำเตือนจะเริ่มออกมา แต่สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ก็รุดหน้า ไปไกลอีกครั้ง ที่ยังผลให้ดัชนีตลาดหุ้นในสหรัฐฯ ต้องระวังตัวมากเป็นพิเศษ หลังจากมีรายงาน
เกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่พุ่งขึ้นในสหรัฐฯ รวมทั้งความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ของสหรัฐฯ
ศูนย์วิทยาศาสตร์และวิศวกรรมเชิงระบบ (CSSE) แห่งมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ เปิดเผยว่า สหรัฐฯ พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในวันศุกร์ที่ผ่านมา ซึ่งสูงถึง 83,700 ราย ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แซงสถิติเมื่อกลางเดือนก.ค. ซึ่งขณะนั้นพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ประมาณ 77,300 ราย
ตัวเลขดังกล่าวทำให้ผู้เชี่ยวชาญกังวลว่า ฤดูหนาวในปีนี้จะทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลงอีก โดย นพ.สก็อตต์ ก็อตต์ลิเอ็บ อดีตประธานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ (FDA) กล่าวเตือนว่า สหรัฐฯ จะเผชิญกับการแพร่ระบาดอย่างหนักของไวรัสโควิด-19 โดยเริ่มตั้งแต่สัปดาห์นี้
ตัวเลขล่าสุดวานนี้ของผู้ป่วยทั่วโลกทำสถิติใหม่เช้าวานนี้เกิน 43 ล้านคนแล้ว โดยที่ประเทศในยุโรปอย่างฝรั่งเศสมีผู้ป่วยรายใหม่มากกว่าวันละ 30,000 คน ตอกย้ำอันตรายที่มาพร้อมกับ ฤดูหนาวที่กำลังจะมาเยือนว่า อาจจะทำให้จำนวนผู้ที่ติดเชื้อเกินกว่า 50 ล้านคน ในขณะที่แม้จะมีข้ออ้างถึงการค้นพบวัคซีนป้องกัน แต่ขั้นตอนของการทดสอบยังไม่เสร็จ ทำให้ต้องระวังกันต่อ
เมื่อสถานการณ์บีบคั้นให้ต้องเฝ้าระวังกันต่อไปอีกจนถึงเดือนมีนาคมปีหน้า สิ่งที่เราจะได้เห็นคือ
– การเฝ้าระวังด้วยมาตรการล็อกดาวน์ และ social distancing จะยังคงมีเข้มข้นต่อไป ส่งผลลบต่อภาวะเศรษฐกิจที่กำลังซื้อหรืออุปสงค์มวลรวมในระดับต่ำต่อไป มีผลต่อการจ้างงาน และการลงทุนในภาพรวม
– ภาคธุรกิจที่เปราะบางมายาวนาน เช่นท่องเที่ยว การขนส่ง และโรงแรม ร้านอาหาร จัดแสดงสินค้า และอสังหาริมทรัพย์ น่าจะยังคงต้องกระเสือกกระสนกันต่อไป กับรายได้ และกำไรที่ย่ำแย่
– บางภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอีคอมเมิร์ซ และเอ็ม คอมเมิร์ซน่าจะเก็บเกี่ยวผลลัพธ์เต็มที่มากต่อไป จากการที่ลูกค้าทั้งที่เป็นภาคธุรกิจและผู้บริโภคต้องปรับวิถีดำเนินชีวิตใหม่
– แรงกดดันจากการล่มสลายและปรับตัวของภาคธุรกิจ จะทำให้กระทบต่อธุรกรรมทางการเงินลึกซึ้งในระยะยาวอย่างมีนัยสำคัญ ปัญหา NPLs และดอกเบี้ยที่ต่ำติดพื้นหรือปริมาณเงินที่ล้นตลาด จะทำให้ราคาสินค้าและเงินเฟ้อต่ำติดพื้นเข้าข่ายภาวะเงินฝืดเรื้อรัง
ภาพรวมที่เกิดขึ้น ส่งผลต่อราคาหุ้นในตลาดอย่างมีนัยสำคัญ แม้สำหรับนักเก็งกำไรบางคนแล้วโอกาสหากำไรกันได้เสมอ แม้ในยามมืดมน หากอ่านจังหวะของตลาดได้แม่นยำ
ปรากฏการณ์โดดเด่นจากนี้ไปที่เราจะได้เจอจากตลาดเงินและตลาดทุนของโลกคือ
ธนาคารกลางทั่วโลกจะต้องการมาตรการกดดอกเบี้ยให้ต่ำลงต่อเนื่องยาวนานหลายเดือน ขณะที่ธนาคารกลางหลักของโลกทุนนิยม จะต้องทำการคงมาตรการ ดอกเบี้ยติดลบ และคง QE ต่อไป
ปรากฏการณ์ที่คุ้นเคยอย่างดีหลายปีนี้ กับคำ 2 คำคือ 1) บอนด์ยีลด์ติดลบ 2) ดอกเบี้ยติดลบ จะยังดำเนินต่อไป ไม่ว่าหลายคนก็ยังงง ไม่ค่อยเข้าใจว่ามันคืออะไร และสำคัญอย่างไร
คำตอบเบื้องต้นที่พอรู้แบบเดาสุ่ม ซึ่งก็ไม่ผิดอะไร คือ มันเป็นกระบวนการสมคบคิดใหม่ระหว่างธนาคารกลางกับนักเก็งกำไรตลาดเงินตลาดทุน
ทางเลือกของตลาดที่มีดอกเบี้ยติดลบคือ หอบเงินเข้าตลาดหุ้น หรือตลาดตราสารหนี้ หรือหนีไปลงทุนต่างประเทศในรูป Carry trade (หากำไรจากอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่ดอกเบี้ยสูงกว่า)
ดอกเบี้ยติดลบ และบอนด์ยีลด์ติดลบ จึงเป็น “แฝดสยาม อิน-จัน” ที่แยกไม่ออก หรือคนละด้านของเหรียญ
จากนี้ไป คงไม่ต้องถามแล้วว่า ทำไมจึงเกิดขึ้น และเกิดเมื่อใด…แต่ต้องถามว่าจะสิ้นสุดเมื่อใดและอย่างไร …ซึ่งว่าไปแล้วก็หาคำตอบยากเช่นกัน เว้นเสียแต่โควิด-19 จะหยุดระบาดกะทันหัน
ยามนี้ จึงไม่ต่างอะไรกับ คนตาบอดคลำช้าง