“ทริสฯ” จัดเรตติ้งหุ้นกู้ BAM วงเงิน 1 หมื่นลบ. ที่ A- สะท้อนรายได้มั่นคง-หนี้สินต่ำ
"ทริสฯ" จัดเรตติ้งหุ้นกู้ BAM วงเงิน 1 หมื่นลบ. ที่ A- สะท้อนรายได้มั่นคง-หนี้สินต่ำ
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM ที่ระดับ “A-” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” พร้อมทั้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 1 หมื่นล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “A-” ด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ อันดับเครดิตของหุ้นกู้ชุดใหม่ใช้แทนอันดับเครดิตหุ้นกู้เดิมที่ได้รับการจัดอันดับเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2563 เนื่องจากบริษัทมีความประสงค์ที่จะเพิ่มวงเงินรวมของหุ้นกู้เป็น 1 หมื่นล้านบาท จากเดิมไม่เกิน 5 พันล้านบาท อันดับเครดิตสะท้อนถึงความชำนาญและความเป็นผู้นำในตลาดบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของบริษัท บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ในการดำเนินงานและขยายธุรกิจ
โดยอันดับเครดิตพิจารณาถึงรายได้หลักของบริษัทที่ค่อนข้างมั่นคงและแข็งแกร่ง ตลอดจนระดับการก่อหนี้ที่ต่ำและการกระจายตัวที่ดีของแหล่งเงินทุนด้วย จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ซึ่งโดยหลักคือความเสี่ยงในด้านการกำหนดราคาซื้อสินทรัพย์และการกระจุกตัวในภาคอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมองว่าความเชี่ยวชาญของบริษัทในการตั้งราคาซื้อและการกระจายตัวของประเภทสินทรัพย์และสถานที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์จะช่วยลดทอนความเสี่ยงดังกล่าวลงได้มาก
ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 กำไรสุทธิของบริษัทอยู่ที่ 835 ล้านบาท ลดลง 79% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และต่ำกว่าประมาณการที่ทริสเรทติ้งคาดไว้ กำไรที่ลดลงเกิดจากรายได้ดอกเบี้ยซึ่งมีการปรับเป็นเกณฑ์เงินสดปรับตัวลดลง เงินสดรับจากทั้งธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPLs) และทรัพย์สินรอการขาย (NPAs) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 อยู่ที่ 5.9 พันล้านบาท ลดลง 46% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการมีเงินสดรับจากการชำระหนี้ของลูกหนี้รายใหญ่รายหนึ่งในไตรมาสแรกของปี 2562
นอกเหนือจากนั้น บริษัทได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 ทำให้เงินสดรับจากการติดตามหนี้และรายได้ดอกเบี้ยซึ่งมีปรับเป็นเกณฑ์เงินสดนั้นลดลง เนื่องจาก 1) กรมบังคับคดีต้องปิดทำการชั่วคราวในเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2563 ทำให้การบังคับหนี้และคดีต่าง ๆ หยุดชะงักไป 2) มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ให้ลูกหนี้งดชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยส่งผลต่อเงินสดรับและรายได้ดอกเบี้ยของบริษัท ทริสเรทติ้งคาดว่าผลประกอบการและเงินสดรับของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นในครึ่งหลังของปี 2563 จากการที่บริษัทกลับมาดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ
โดยการเพิ่มขึ้นของ NPLs และ NPAs ในตลาดจากสภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอ น่าจะเป็นโอกาสที่บริษัทจะสามารถซื้อสินทรัพย์เพื่อบริหารของบริษัทมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม หากบริษัทมีการเพิ่มการซื้อสินทรัพย์มากจนทำให้ภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นในระยะยาวต่อเนื่อง ก็อาจเป็นผลลบกับอันดับเครดิตของบริษัทได้เช่นกัน ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ที่ 2.26 เท่า เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2562 ที่ 2.21 เท่า โดยหลังจากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่มูลค่า 1 หมื่นล้านบาท จะทำให้อัตราส่วนเพิ่มขึ้นอยู่ที่ประมาน 2.5 เท่า
สำหรับแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะรักษาผลประกอบการทางการเงินที่แข็งแกร่งและดูแลให้ระดับการก่อหนี้อยู่ในระดับต่ำเอาไว้ได้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับเพิ่มขึ้นได้หากผลประกอบการทางการเงินของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างมั่นคงและอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ต่ำกว่า 1.5 เท่าอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับลดลงหากสถานะในการก่อหนี้ของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการขายธุรกิจในเชิงรุกโดยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนสูงกว่า 2.75 เท่าอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาหนึ่ง หรือผลประกอบการทางการเงินของบริษัทถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญ