พาราสาวะถี
ถามว่าประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ 2 วัน มองเห็นทางออกของประเทศได้มากขนาดไหน ในแง่ของการตอบสนองกลุ่มผู้ชุมนุมบอกได้เลยว่าหมดหวัง แต่หากเป็นในส่วนการตอบโจทย์ทางการเมืองของฝ่ายสืบทอดอำนาจก็บอกได้ว่าเป็นไปตามความต้องการ เพราะได้มีเวทีในการยกย่อง เชิดชูผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ขณะเดียวกันก็เป็นเวทีในการที่จะกล่าวหาโจมตีฝ่ายผู้ชุมนุมและฝ่ายการเมืองที่ถูกมองว่าอยู่เบื้องหลังอย่างก้าวไกลได้อย่างถูกกฎหมาย
อรชุน
ถามว่าประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ 2 วัน มองเห็นทางออกของประเทศได้มากขนาดไหน ในแง่ของการตอบสนองกลุ่มผู้ชุมนุมบอกได้เลยว่าหมดหวัง แต่หากเป็นในส่วนการตอบโจทย์ทางการเมืองของฝ่ายสืบทอดอำนาจก็บอกได้ว่าเป็นไปตามความต้องการ เพราะได้มีเวทีในการยกย่อง เชิดชูผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ขณะเดียวกันก็เป็นเวทีในการที่จะกล่าวหาโจมตีฝ่ายผู้ชุมนุมและฝ่ายการเมืองที่ถูกมองว่าอยู่เบื้องหลังอย่างก้าวไกลได้อย่างถูกกฎหมาย
ในแง่ของการเมืองนอกจากจะเป็นการได้ระบายความอัดอั้นของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจแล้ว การอภิปรายหนนี้ก็แทบจะเป็นการเปลือยกายล่อนจ้อนของขบวนการสืบทอดอำนาจในยามเข้าตาจน โดยเฉพาะประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ท่านผู้นำบอกว่าจะมีการผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 วาระในเดือนธันวาคมนี้ นั่นหมายความว่า นี่คือการสั่งให้ส.ว.ยกมือโหวตผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะกี่ฉบับก็ตาม คำถามก็คือ ไหนว่าคนที่แต่งตั้งมาเป็นอิสระสั่งไม่ได้
เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เท่ากับว่าเป็นการสารภาพการตั้งคณะกรรมาธิการยื้อเวลาแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อ 24 กันยายนที่ผ่านมาคือความผิดพลาด เป็นการแสดงออกถึงความไม่จริงใจต่อการแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะการชุมนุม และชัดเจนเป็นอย่างยิ่งว่าผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจต้องการที่จะใช้อำนาจเข้าไปจัดการปัญหาให้เด็ดขาด โดยลืมไปว่านี่ไม่ใช่ยุคของรัฐบาลเผด็จการ ดังนั้น จึงเกิดกระแสสวิงกลับอย่างรุนแรงหลังการสลายการชุมนุมเมื่อ 16 ตุลาคมที่แยกปทุมวัน
อย่างไรก็ตาม การยอมรับสภาพว่าติ๊ดชึ่งไม่ออกจากการถูกรุกไล่ของม็อบคนรุ่นใหม่ ใช่ว่าผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจะยอมจำนน มิหนำซ้ำ ยังเล่นบทศรีธนญชัยแสดงความหัวหมอทั้งตัวผู้นำและที่ปรึกษากฎหมายข้างกายอย่าง วิษณุ เครืองาม เมื่อถามในที่ประชุมรัฐสภาในโทนทางเดียวกันว่า หากให้นายกรัฐมนตรีลาออกแล้ว จะไปเอานายกฯ มาจากไหน สุดท้าย ก็ต้องใช้กระบวนการของรัฐสภา ซึ่งแน่นอนว่าส.ว.ลากตั้ง 250 เสียงย่อมมีสิทธิโหวตเลือกเหมือนเดิม
เหมือนจะเป็นการส่งสัญญาณมาแต่ไกลว่า ถ้าเดินไปตามนี้อย่างไรเสียผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจก็ยังจะได้กลับมาเป็นนายกฯ อยู่ดี ซึ่งนี่เป็นพฤติกรรมพูดเอาแต่ได้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความเห็นแก่ตัว ไม่ยอมเสียสละของท่านผู้นำ เพราะความจริงเรื่องของกระบวนการนั่นก็เรื่องหนึ่ง แต่ถ้าตัวเองไม่ประสงค์ที่จะอยู่ในตำแหน่งอีกต่อไป ก็ประกาศได้เลยว่าหลังการลาออกไม่ขอรับตำแหน่งอีก โดยขอให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาเลือกบุคคลที่เหมาะสมมาทำหน้าที่แทนต่อไป
ในเมื่อรับกันแล้วว่าส.ว.สั่งได้ การที่จะมีการโหวตเลือกนายกฯ หลังการลาออกของคนชื่อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา คงไม่ใช่ปัญหาใหญ่ กางบัญชีรายชื่อที่ได้เสนอไว้ในการเลือกตั้ง ชัดเจนว่าไม่เอาคนจากฝ่ายค้าน ก็ยังมี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ อนุทิน ชาญวีรกูล เข้าประกวด แน่นอนว่าถ้าเป็นไปตามสูตรนี้ชื่อหลังอาจจะเป็นที่พอใจของคนทั่วไปก็ได้ ส่วนเรื่องความมั่นคงในการปฏิบัติหน้าที่นั้น เชื่อได้เลยว่า “เสี่ยหนู” ก็มีไม่แพ้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเหมือนกัน
เรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจประกาศว่าจะผ่าน 3 วาระในเดือนธันวาคมนั้น นอกเหนือจากคำสารภาพที่ว่าส.ว.ลากตั้งสั่งได้จริงแท้แน่นอนแล้ว ยังถูกมองต่อไปว่า นี่คือการยื้อเวลาแสดงถึงความไม่จริงใจของฝ่ายกุมอำนาจอีกรอบ เพราะความจริงเมื่อสภาเปิดประชุมในวันที่ 1 พฤศจิกายน หากมีความตั้งใจที่จะแก้ไขก็ไม่จำเป็นต้องรออะไร อาจจะรอแค่ร่างฉบับประชาชนของไอลอว์ ซึ่งก็ไม่น่าจะเกินกลางเดือนพฤศจิกายน
หลังจากนั้นก็สามารถพิจารณาได้ทันที โดยที่เมื่อผ่านวาระแรกไปแล้ว อาจไม่จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณาศึกษาอะไรอีกต่อไปแล้ว เพราะคณะกรรมาธิการยื้อเวลาที่ตั้งมาเมื่อเดือนกันยายน ก็ได้มีคำถามและค้นหาคำตอบแบบไม่ได้คำตอบไปหมดแล้ว ที่เหลือจึงเป็นเรื่องที่ต้องไปอภิปรายกันในสภาแล้วยกมือโหวตกันอย่างเดียว ถ้าทำเช่นนี้เชื่อได้ว่าภายในเดือนพฤศจิกายนหรือไม่เกินต้นเดือนธันวาคม กระบวนการพิจารณาเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 วาระจะเรียบร้อย
ไม่จำเป็นต้องมาอ้างว่าต้องรอกฎหมายประชามติ กฎหมายฉบับนี้อยู่ในมือรัฐบาลอยู่แล้ว อยู่ที่ว่าจะทำให้ช้าหรือเร็วเท่านั้น เพราะสุดท้ายปลายทางอย่าลืมว่าเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญหากจะให้มีส.ส.ร.มาดำเนินการ ก็จะต้องไปผ่านกระบวนการทำประชามติ ซึ่งนั่นก็ขึ้นอยู่กับเสียงของประชาชนทั้งประเทศแล้วว่า ต้องการแบบไหน ไม่แน่ว่าบางทีคนส่วนใหญ่อาจจะไม่เห็นชอบให้แก้ไขก็ได้ ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นไม่ว่าฝ่ายไหนก็ต้องยอมรับ หากกระบวนการเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ โปร่งใส
อย่างไรก็ตาม เมื่อเลือกที่จะทอดเวลาไปจนถึงเดือนธันวาคม ย่อมเกิดคำถามว่าช่วงเวลาที่รออยู่ทั้งเดือนพฤศจิกายนนั้น ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและพวกมั่นใจไหมว่ากลุ่มผู้ชุมนุมจะฝ่อ พอถึงเวลานั้นจะได้คิดอ่านกันอีกที ซึ่งถ้าคิดเช่นนั้นถือว่าผิดมหันต์ เพราะมองจากปรากฏการณ์ความเคลื่อนไหวจนถึงเวลานี้แล้ว ต้องยอมรับว่านอกจากจะไม่อ่อนล้าแล้ว ยังมีความเข้มแข็งและรวมพลังกันได้เหนียวแน่นมากขึ้นเรื่อย ๆ ชนิดที่ทำให้ฝ่ายกุมอำนาจเหนื่อยใจกันหนัก
ส่วนประเด็นเรื่องการระดมคนที่มองมุมไหนก็คือเครือข่ายของเผด็จการสืบทอดอำนาจนั้น เมื่อขับเคลื่อนกันด้วยเป้าหมายที่ชัดเจน มันก็ไม่สามารถแปรสภาพมาเป็นแรงหนุนรัฐบาลสืบทอดอำนาจได้ เว้นเสียแต่จะทำให้กลายร่างเป็นพวกอำมหิต ไปไล่ตีไล่ต่อยกับขบวนการคนหนุ่มสาว ซึ่งนั่นก็จะทำให้สังคมมองภาพไปในแง่ลบกับผู้กระทำมีตัวอย่างให้เห็นแล้วจากกรณีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ดังนั้น มาถึงนาทีนี้นอกจากการยื้อเวลาให้อยู่ในอำนาจได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว ยังมองไม่เห็นว่าสถานการณ์จะพลิกกลับมาให้ฝ่ายอำนาจสืบทอดกุมความได้เปรียบได้อย่างไร