“สทน.” เล็งชง “ศบศ.” หนุนทัวร์ผู้สูงวัยเที่ยววันธรรมดา กระตุ้นศก. โค้งสุดท้าย ปี 63

“สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ” เล็งชง “ศบศ.” หนุนโครงการทัวร์ผู้สูงวัยเที่ยววันธรรมดา กระตุ้นศก. โค้งสุดท้าย ปี 63


นายอดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ อุปนายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) เปิดเผยว่า สทน.เตรียมเสนอโครงการชวนผู้สูงวัยเที่ยววันธรรมดาผ่านทัวร์ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศผ่านบริษัทนำเที่ยว เป็นการบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ข้อเสนอดังกล่าวรัฐบาลจะให้เงินอุดหนุนผู้ที่มีอายุเกิน 55 ปีขึ้นไปพักค้างคืนช่วงวันอาทิตย์ถึงวันพฤหัสบดี ขั้นต่ำ 3 วัน 2 คืน ในอัตรา 40% หรือไม่เกินคนละ 5,000 บาท ตั้งเป้าหมายไว้ 1 ล้านคน ในช่วงเดือน พ.ย.63-เม.ย.64 ใช้งบประมาณ 5 พันล้านบาท จากงบเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่รัฐบาลตั้งไว้ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งขณะนี้ใช้ไปแล้ว 7-8 พันล้านบาท

          “มาตรการนี้ ผ่านการสำรวจความคิดเห็นมาแล้ว และคงไม่ได้ทำให้ผู้ประกอบการร่ำรวย แค่เพียงให้ได้ลืมตาอ้าปากเท่านั้น” นายอดิษฐ์ กล่าว

ทั้งนี้ สทน.คาดว่าจะเสนอเข้าที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจการผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ในวันที่ 6 พ.ย.63 และจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ราวกลางเดือน พ.ย.63 โดยประเมินว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท

ด้านนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายที่เหลือของปีนี้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ได้มอบหมายให้ ททท. เร่งกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศให้ได้เฉลี่ยเดือนละ 10 ล้านคน/ครั้ง เพื่อให้ได้ยอดทั้งปีตามเป้าที่ตั้งไว้ 80-100 ล้านคน/ครั้ง หลังจากช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.63) มียอดการท่องเที่ยวในประเทศเพียง 52.71 ล้านคน/ครั้ง

      “วันนี้คงเลยเวลาที่จะมาพูดถึงความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่เราต้องมองหาวิธีที่จะฟื้นตัวกลับมาเหมือนเดิมให้ได้” นายยุทธศักดิ์ กล่าว

ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า เราคงไม่สามารถกลับไปที่เดิมได้ แต่เราสามารถสร้างสิ่งใหม่ๆ ได้ เพื่อให้การท่องเที่ยวกลับมาเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนศรษฐกิจของประเทศได้ตามเดิม

น.ส.สมฤดี จิตรจง รองผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า การดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น พบอุปสรรคสำคัญคือการสร้างความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยให้กับคนในพื้นที่ ซึ่งต้องไม่ให้มีแรงต่อต้านเกิดขึ้น

“ทุกครั้งที่เราจะเริ่มโครงการ ก็มีผู้ติดเชื้อขึ้นมา ประเด็นสำคัญคือการยอมรับของคนในพื้นที่ หากไม่ยอมรับเราก็ต้องถอย” น.ส.สมฤดี กล่าว

ส่วนที่เอกชนร้องเรียนว่าภาครัฐไม่ให้ความสนใจที่จะช่วยเหลือนั้น การเสนอโครงการให้ ครม.พิจารณาในแต่ละครั้งนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจะต้องมีความสมบูรณ์ของข้อมูล เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องพร้อมเข้ามาร่วมสนับสนุนและผลักดัน คงไม่ใช่การออกมาเรียกร้องแล้วจะกดดันให้รัฐบาลยอมดำเนินการ

Back to top button