WTI ดิ่งกว่า 4% หลุด 36 ดอลลาร์ กังวลล็อกดาวน์กระทบอุปสงค์น้ำมัน

WTI ดิ่งกว่า 4% หลุด 36 ดอลลาร์ กังวลล็อกดาวน์กระทบอุปสงค์น้ำมัน


สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ดิ่งลงกว่า 4% หลุดระดับ 36 ดอลลาร์ในวันนี้ ขณะที่นักลงทุนวิตกว่าการประกาศมาตรการล็อกดาวน์ครั้งใหม่ในยุโรปเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันนอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะน้ำมันล้นตลาด

ณ เวลา 19.13 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนธ.ค. ซึ่งมีการซื้อขายที่ตลาด NYMEX ลดลง 1.64 ดอลลาร์ หรือ 4.39% สู่ระดับ 35.75 ดอลลาร์/บาร์เรล

รัฐบาลเยอรมนีและฝรั่งเศสประกาศยกระดับการคุมเข้มมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เมื่อวานนี้ หลังพบว่าอัตราผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ทั่วยุโรปพุ่งขึ้นเกือบ 40% ภายในเวลา 1 สัปดาห์

ด้านองค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในยุโรปมากกว่า 1.3 ล้านรายในช่วง 7 วันที่ผ่านมา โดยมีจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งของตัวเลข 2.9 ล้านรายทั่วโลก และมีผู้เสียชีวิตกว่า 11,700 ราย ซึ่งพุ่งขึ้น 37% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้านี้

สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยสต็อกน้ำมันดิบพุ่งขึ้นเกินคาดในสัปดาห์ที่แล้ว โดย EIA เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐพุ่งขึ้น 4.3 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้นเพียง 200,000 บาร์เรล ขณะที่สถาบันปิโตรเลียมอเมริกา (API) ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันของสหรัฐ เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐเพิ่มขึ้น 4.6 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว

ทางด้านลิเบียได้เพิ่มการส่งออกน้ำมันในตลาดโลก ขณะที่จะเพิ่มกำลังการผลิตแตะระดับ 1 ล้านบาร์เรล/วันในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า หลังจากที่กลุ่มต่อต้านรัฐบาลประกาศยุติการปิดล้อมโรงงานน้ำมันภายในประเทศ นอกจากนี้ กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส จะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน 2 ล้านบาร์เรล/วัน โดยเริ่มตั้งแต่เดือนม.ค.2564

ทั้งนี้ โอเปกพลัสตัดสินใจปรับลดกำลังการผลิต 7.7 ล้านบาร์เรล/วันจนถึงสิ้นปี 2563 ก่อนที่จะลดกำลังการผลิต 5.8 ล้านบาร์เรล/วันตั้งแต่เดือนม.ค.2564 ซึ่งจะทำให้มีปริมาณน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 2 ล้านบาร์เรล/วันจากโอเปกพลัสไหลเข้าสู่ตลาดน้ำมันโลก

ด้านโอเปกพลัสจะจัดการประชุมในวันที่ 30 พ.ย.-1 ธ.ค.เพื่อกำหนดนโยบายการผลิตน้ำมัน

Back to top button