ทักษิณคิด ประยุทธ์ทำ พลวัต2015

เป็นสูตรสำเร็จสำหรับรองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่จะต้องมีงานแสดงปาฐกถาเพื่อชูวิสัยทัศน์ แต่การชูวิสัยทัศน์ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี กับในฐานะอื่น ย่อมมีความหมายแตกต่างกัน


 เป็นสูตรสำเร็จสำหรับรองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่จะต้องมีงานแสดงปาฐกถาเพื่อชูวิสัยทัศน์ แต่การชูวิสัยทัศน์ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี กับในฐานะอื่น ย่อมมีความหมายแตกต่างกัน

                งานปาฐกถาล่าสุดเมื่อวานนี้ของ รองนายกรัฐมนตรี มีสาระสำคัญหลายอย่างที่บ่งชี้ว่านโยบายของทีมเศรษฐกิจรัฐบาลชุดใหม่นี้ เป็นเช่นไรบ้าง ซึ่งเท่าที่จับใจความ พบว่ามีสาระดังต่อไปนี้

–                      สาระสำคัญของปรัชญาหรือแนวทางการบริหารนโยบายชุดนี้คือ  กระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะสั้น และวางแนวทางเพื่อการเติบโตในระยะยาว

–                      กระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะสั้นแบบเร่งด่วน คือ กระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น และให้กระทรวงอุตสาหกรรมหาทางยกระดับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในชนบท

–                      วางแนวทางรากฐานในระยะยาว เริ่มจากสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจท้องถิ่น ฟื้นนโยบายโอท็อปกลับมากระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น การท่องเที่ยว และวิสาหกิจชุมชน ทำคลัสเตอร์ส่งเสริมประเภทสินค้าที่ชัดเจน รวมทั้งพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ สร้างนักรบทางเศรษฐกิจขึ้นมาใหม่ ผลักดันให้เศรษฐกิจในประเทศเติบโตด้วยตัวเองไม่ใช่พึ่งพาจากโลกภายนอก โดยนำกิจกรรมเศรษฐกิจพอเพียงเป็นการนำร่องให้หมู่บ้าน จังหวัด ดำเนินการโดยไม่ต้องรอจากส่วนกลาง  และไม่ทำให้แรงงานมากระจุกในตัวเมือง ซึ่งสิ่งสำคัญคือผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดจะต้องคิดและดำเนินการ โดยรัฐบาลจะสนับสนุนในการลงทุน  โดยแนวคิดในการสร้างพื้นที่เศรษฐกิจจำเพาะจะแล้วเสร็จและนำเสนอนายกรัฐมนตรีได้ภายใน 1 เดือนนี้

–                      การวางแผนลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ เร่งรัดโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เช่น รถไฟทางคู่ เพื่อเชื่อมโยงการลงทุน เหนือ-ใต้-อีสาน เพื่อเชื่อมโยงแต่ละภูมิภาค ซึ่งจะเป็นการช่วยกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจไปในทุกพื้นที่ของเส้นทาง  โดยจะมองเพียงเรื่องของผลตอบแทนของโครงการไม่ได้ แต่ต้องมองไปถึงผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่จะเกิดมูลค่าเพิ่มตามมาในอนาคต โดยจะเน้นการลงทุนแบบ PPP ที่ไม่เกินฐานะทางการคลัง

–                      ขับเคลื่อนวิสาหกิจให้เป็นกำลังหลักของรัฐ และผลักดันการเพิ่มประสิทธิภาพหน่วยงานภาครัฐ เช่น รัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องด้านเศรษฐกิจเพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนให้สอดรับกับแนวทางต่างๆ โดยเริ่มต้นที่การปฏิรูปทางการเงินการคลัง ตลาดเงิน และตลาดทุน โดยทีมเศรษฐกิจ พร้อมด้วยที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน และว่าที่ผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่ รวมทั้งอีกหลายคนที่เกี่ยวข้องได้หารือเรื่องดังกล่าวแล้ว

–                      เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับตลาดโลก โดยดึงผู้ประกอบการทั้งในประเทศและต่างประเทศมาลงทุนในประเทศไทย โดยอำนวยความสะดวกเรื่องภาษี  ปรับปรุงเรื่องสิทธิประโยชน์ ยกระดับให้มีเทคโนโลยีและการสื่อสารมาช่วย   พร้อมกับเชื่อมต่ออุตสาหกรรมและท้องถิ่น ทำให้เกิดการจ้างงานในท้องถิ่น ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในอีก 1 เดือน เสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณาก่อนที่จะนำออกไปโรดโชว์ในต่างประเทศ

แนวทางทั้งหมดนี้ ฟังแล้วคุ้นๆ ยิ่งนัก หากไม่คิดอะไรมาก และมองผิวเผิน ก็คือโครงการที่รัฐบาลทักษิณ และยิ่งลักษณ์ คิดแล้วทำมาก่อนแล้ว และมีคนต่อต้านจนไม่สำเร็จลุล่วง เพราะตั้งข้อรังเกียจว่าเป็น “ประชานิยม” นั่นเอง  เพียงแต่รองนายกฯสมคิด ไม่ได้ใช้คำนี้เท่านั้นเอง

ถามว่า แนวทางที่ว่ามา มีอะไรใหม่จากเส้นทางที่รัฐบาลทักษิณ และยิ่งลักษณ์ได้คิดและทำไปแล้ว ตอบได้คำเดียวว่า ไม่มีอะไรใหม่ และไม่มีอะไรเลวร้าย เพราะแนวทางดังกล่าวไม่มีใครจดลิขสิทธิ์หรือสิทธิบัตรเอาไว้ แม้อาจจะมีคนกระแนะกระแหนว่า  “ทักษิณคิด ประยุทธ์ทำ” ก็ไม่ควรแก่การใส่ใจ และต้อง พกหินมากกว่าพกนุ่น  เพราะท้ายที่สุด ประชาชนและประเทศได้รับประโยชน์ ก็น่าจะเพียงพอ

ข้อเท็จจริงจากประสบการณ์ซึ่ง เหมา เจ๋อ ตง เคยบอกกับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์  ปราโมช ในอดีตที่ว่า “วิธีต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ คือ การไม่ปราบคอมมิวนิสต์ และใช้อาวุธของคอมมิวนิสต์ต่อสู้”  ที่สามารถนำมาประยุกต์ได้ไม่ยาก นั่นคือ การเอาชนะทักษิณและพวก ไม่ใช่การไล่ล่าปราบปราม แต่การใช้“หนามยอกเอาหนามบ่ง” นั่นคือ เอานโยบายที่ดีและเป็นประโยชน์ของทักษิณและพวกมาใช้ให้เต็มที่ ดังที่ทีมงานเศรษฐกิจของรัฐบาลภายใต้การนำของรองนายกฯสมคิดกำลังเสนอแนะต่อสังคมอยู่

 ในตำราทางเศรษฐศาสตร์มหภาคแล้ว เป็นที่ยอมรับกันว่า  ในยามที่เศรษฐกิจหน้าสิ่วหน้าขวาน การใช้ประชานิยม อัดฉีดเงินรัฐเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อในผู้มีรายได้น้อย (ชนชั้นรากหญ้า) เป็นสูตรสำเร็จ เพราะคนที่มีรายได้น้อยนั้น เมื่อได้รับเงินมา 100 จะไม่บริโภคแค่ 100 แต่จะบริโภคมากเกินกว่า 100 เสมอตามหลักการ  “ความโน้มเอียงในการบริโภคของคนที่มีรายได้ต่างกัน(related propensity to consume) ซึ่งไม่ได้มีอะไรพิเศษพิสดาร

การกระตุ้นอย่างเร่งด่วนเพื่อสร้างกำลังซื้อรากหญ้าด้วยวงเงิน 50,000-100,000 ล้านบาท ผ่านกองทุนหมู่บ้าน ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไร  แม้ว่าอาจะมีกรณีที่เงินทองรั่วไหลจากการฉ้อฉลอยู่บ้าง แต่ถึงแม้จะมีการรั่วไหลก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่โตที่ต้องกังวล เพราะสิ่งที่น่ากังวลมากกว่าคือ หากไม่มีการกระตุ้นกำลังซื้อในระดับรากหญ้าจนพังพินาศ การใช้เงินเพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจที่พังไปแล้วในภายหลัง จะสิ้นเปลืองมหาศาล และอาจไม่ได้ผลเลย

การใช้มาตรการหรือแนวทางเศรษฐกิจแบบที่ทักษิณเคยกระทำ  จะทำให้คนลืมทักษิณ และพวกง่ายดายกว่าการไล่ล่าทักษิณ และพวกด้วยวิธีการที่อนารยะในนามของคุณธรรมที่จับต้องไม่ได้ แบบที่ทำกันมาเกือบ 1 ทศวรรษ

 

 

Back to top button