ทรัมป์ ไบเดน และตลาดหุ้นไทย
เช้าวันนี้ การนับคะแนนของการชิงชัยเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ น่าจะเป็น “ทอล์ก ออฟ เดอะทาวน์” ของโลก และตลาดหุ้นทั่วโลก เพราะผลการเลือกตั้งจะบ่งชี้ว่า นโยบายหลักทางทหาร เศรษฐกิจและต่างประเทศของสหรัฐฯ จะเปลี่ยนไปจากเดิมมากน้อยเพียงใด
พลวัตปี 2020 : วิษณุ โชลิตกุล
เช้าวันนี้ การนับคะแนนของการชิงชัยเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ น่าจะเป็น “ทอล์ก ออฟ เดอะทาวน์” ของโลก และตลาดหุ้นทั่วโลก เพราะผลการเลือกตั้งจะบ่งชี้ว่า นโยบายหลักทางทหาร เศรษฐกิจและต่างประเทศของสหรัฐฯ จะเปลี่ยนไปจากเดิมมากน้อยเพียงใด
ฝ่ายที่เชียร์ทรัมป์ก็คงอยากให้ทรัมป์ชนะ และฝ่ายที่เบื่อทรัมป์คงอยากเปลี่ยนตัวมากทีเดียว เพราะแนวทางทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งดูจะได้ผลสวนทางกันมากกว่า
โดยเฉพาะมาตรการเล่นงานจีนของทรัมป์ เริ่มสั่นคลอนเพราะทำให้จีนแค่เศรษฐกิจชะลอการเติบโตลงแต่ไม่อาจจะหยุดยั้งให้จีนย่ำแย่ลงมากมายดังที่คุยโม้เอาไว้
สำหรับคนที่ไม่ใช่อเมริกัน การเลือกตั้งครั้งนี้ดูจะไร้สีสันพอสมควร เพราะเหตุผลผู้ที่เข้าแข่งขันไม่มีความต่างทางนโยบายมากนัก และทางด้านบุคลิกภาพส่วนตัวก็ค่อนข้างคล้ายกันอีก โดยทั้งนายทรัมป์และนายไบเดนต่างก็อายุเกิน 70 แล้ว แต่ทรัมป์จะโดดเด่นกว่า
หากนายทรัมป์ชนะเลือกตั้ง เขาจะมีอายุ 74 ปี ตอนเริ่มครองตำแหน่งสมัยที่สอง หรือในทางกลับกันนายไบเดนก็จะเป็นผู้นำสหรัฐฯ ที่อายุมากที่สุดขณะดำรงตำแหน่งสมัยแรกในวัย 78 ปี
วิธีการเลือกตั้งนั้น รัฐธรรมนูญสหรัฐฯ กําหนดการเลือกตั้งประธานาธิบดีด้วยวิธีที่ชี้ขาดกันที่ใช้คณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) กล่าวคือประชาชนไม่ได้เลือกประธานาธิบดีโดยตรง แต่เลือกผู้ที่จะทำการเลือกประธานาธิบดีแทนพวกเขา
กล่าวคือ ประชาชนเข้าคูหาไปกาบัตรในวันเลือกตั้ง หรือลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าหากไม่สะดวกในวันนั้น (ในรอบหลายปีที่ผ่านมา การเลือกตั้งทางไปรษณีย์เป็นที่นิยมมากขึ้น ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วในปี 2016 มีคนเลือกลงคะแนนทางไปรษณีย์ถึง 21% และคาดว่าคราวนี้ จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากผลของโควิด-19 มาเป็นปัจจัยเสริม)
การที่คะแนนจากผู้มีสิทธิ์ออกเสียง หรือ Popular votes ไม่ใช่เสียงชี้ขาด ทำให้การเลือกตั้งแต่ละรัฐน่าสนใจ เพราะการที่คะแนนเสียงชี้ชะตาคือ คะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้ง ซึ่งคะแนนชี้ขาดนี้ที่เรียกว่า ผู้ชนะกวาดหมด มีความหมายมาก และการที่จำนวนประชากรที่ต่างกันในแต่ละรัฐทำให้คะแนนแบบ Electoral votes ต่างกันไปด้วย ทำให้ต้องวัดกันจากคะแนนแต่ละรัฐมาเป็นปัจจัยสำคัญ โดยมีตัวแปรชี้ขาดสำคัญคือรัฐใหญ่ที่มีประชากรมากเป็นพิเศษ อย่าง แคลิฟอร์เนีย ฟลอริดา และเท็กซัส
ประเด็นคือรัฐที่คะแนนเสียงยังค่อนข้างก้ำกึ่งกันมากในบางรัฐ (ที่มีคะแนนเสียงเป็นกลาง) จนยากจะบอกล่วงหน้าได้ว่าคะแนนเสียงแบบ Electoral votes จะเป็นของฝ่ายใด คงเร้าใจน่าดูทีเดียว
ในอดีตที่ผ่านมา นายอัล กอร์ ชนะจอร์จ บุช คนลูกด้วยคะแนน Popular votes ท่วมท้น แต่แพ้คะแนน Electoral votes ในรัฐฟลอริดา เพราะมีการนับคะแนนผิดพลาดหลายครั้ง ทำให้พ่ายไปหวุดหวิด
ครั้งนี้ นายไบเดน เตรียมตัวมาดี มีคะแนน “แรงต้น” ดีมาก แต่เกิด “แผ่วปลาย” เพราะข่าวอื้อฉาวเรื่องลูกชายของเขาร่วมลงทุนในจีน ซึ่งเป็นประเด็นที่ทรัมป์งัดเอามาขยี้ในโค้งสุดท้าย
แม้ผลสำรวจล่าสุดจะพบว่าคะแนนนิยมของนายไบเดนจะยังนำอยู่ในเรื่อง Popular votes แต่คะแนนในแต่ละรัฐระบุว่านายทรัมป์ตีตื้นขึ้นมาในรัฐสำคัญ โดยเฉพาะในรัฐที่เคยก้ำกึ่งกันมาก่อนอย่าง 3 รัฐสำคัญที่มักเป็นชัยชนะของฝั่งเดโมแครต อย่างเพนซิลเวเนีย มิชิแกน และวิสคอนซิน และรัฐเหล่านี้เป็นพิกัดที่ประธานาธิบดีทรัมป์ คว้าชัยชนะมาอย่างฉิวเฉียดในศึกเลือกตั้งเมื่อปี 2016 ด้วย ส่งผลให้ศึกเลือกตั้งปีนี้เข้มข้นขึ้นและยากจะฟันธงถึงผู้ชนะที่แท้จริง
ผลสำรวจล่าสุดจากเว็บไซต์ RealClearPolitics ชี้ว่า คะแนนนิยมในตัวนายไบเดน ห่างจากประธานาธิบดีทรัมป์อยู่ 6.2% จากเดิมที่คะแนนนิยมของไบเดนจะสูงกว่าประธานาธิบดีทรัมป์อยู่ราว 8-10% ในการสำรวจที่ผ่าน ๆ มา
ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะมีใครชนะ แต่ทิศทางของตลาดหุ้นวอลล์สตรีท เริ่มเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ชัดเจนขึ้น หลังจากดัชนีดาวโจนส์ร่วงแรงมาสู่จุดต่ำสุดในรอบ 1 เดือนเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เพราะแรงขายในหุ้นเทคโนโลยีที่มีผลประกอบการย่ำแย่ลงในไตรมาสสาม
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานว่า การใช้จ่ายส่วนบุคคลของผู้บริโภคสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 1.4% ในเดือนก.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.0% หลังจากเพิ่มขึ้น 1.0% ในเดือนส.ค.
ข่าวดีดังกล่าวเริ่มจาก กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ยังเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากดีดตัวขึ้น 0.3% ในเดือนส.ค. และเมื่อเทียบรายปี ดัชนี PCE เพิ่มขึ้น 1.4% ในเดือนก.ย. หลังจากเพิ่มขึ้น 1.4% เช่นกันในเดือนส.ค.
นอกจากนั้นยังมีการเปิดเผยตัวเลขที่ดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนสิงหาคม หลายประการที่บ่งชี้ทิศทางบวกต่อเนื่อง เช่น ผลสํารวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐฯ ดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 81.8 ในเดือนต.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 81.2 จากระดับ 80.4 ในเดือนก.ย.
โพลสํารวจซึ่งจัดทําโดยสํานักข่าวเอ็นบีซี นิวส์ และวอลล์สตรีท เจอร์นัล ระบุว่า โจ ไบเดน ผู้สมัครชิงตําแหน่ง ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรคเดโมแครต มีคะแนนนิยมทั่วประเทศนําหน้าโดนัลด์ ทรัมป์ คู่ชิงจากพรรครีพับลิกัน ก่อนที่การเลือกตั้ง ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะมีขึ้นในวันที่ 3 พ.ย.นี้
ผลการเลือกตั้งของสหรัฐฯ จะส่งผลลัพธ์เชิงบวกต่อตลาดหุ้นไทยมากน้อยเพียงใด ยังเป็นคำถามที่น่ากังวลไม่น้อย เพราะไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา เดือนเศษแล้ว นอกเหนือจากความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศที่รัฐบาลเริ่มมีลักษณะ “เป็ดง่อยมากขึ้นแล้ว” ยังมีคำถามในเรื่องผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนกลุ่มต่าง ๆ ควบคู่ไปด้วย
ล่าสุดผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 5 แห่ง ส่งสัญญาณเชิงลบชัดเจนยิ่งขึ้น ระบุว่า พอร์ตลูกหนี้ยังเปราะบาง เอ็นพีแอลยังขาขึ้น เร่งเดินหน้าช่วยลูกหนี้เต็มสูบ
BBL ผู้บริหารออกมายอมรับว่า คุณภาพหนี้สินเชื่อด้อยลง เร่งช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มจนกว่าพ้นวิกฤติในขณะที่ KTB หรือ กรุงไทยชี้ว่า พอร์ตเอสเอ็มอีอ่อนแอ ต้องจับตาใกล้ชิด ขณะที่ “KBANK” หรือ กสิกรไทยยังย้ำให้ความสําคัญกับความสามารถชําระหนี้ มากกว่าเน้นเติบโตภายใต้เศรษฐกิจชะลอ ด้าน SCB หรือ ไทยพาณิชย์ ก็ คาดมีลูกหนี้ต้องช่วยต่อราว 3 แสนล้าน จากที่เข้าโครงการช่วยเหลือ 6.3 แสนล้าน
นอกจากนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดผลสํารวจแนวโน้มสินเชื่อ โดยผลสํารวจสถาบันการเงิน และนอนแบงก์เกี่ยวกับ มาตรฐานการให้สินเชื่อภาคธุรกิจในไตรมาส 4 ปีนี้ พบว่า แบงก์มีแนวโน้มเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อแก่ภาคธุรกิจ โดย เฉพาะสินเชื่อที่ให้แก่ธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งสถาบันการเงินมีแนวโน้มเพิ่ม Margin สําหรับลูกค้ากลุ่มเสี่ยงและเพิ่มความเข้มงวดของเงื่อนไข ประกอบสัญญาเงินกู้ ขณะที่มาตรฐานการให้สินเชื่อแก่ SMEs มีแนวโน้มเข้มงวดขึ้นโดยเฉพาะกับลูกค้าใหม่และกลุ่มธุรกิจที่ต้องใช้เวลาฟื้นตัวนาน
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีผลสำรวจ ของบรรดา 200 ซีอีโอ ไทย “ที่ระบุว่า ยังคงผวา 2 ปัจจัยหลัก คือการแพร่ระบาดระลอก 2” ของโควิด-19 และความวุ่นวายทางการเมือง โดยที่ซีอีโอ 77.4% หนุนแก้รัฐธรรมนูญลดขัดแย้ง ขณะที่ซีอีโอกว่า 76% หวั่นโควิดระบาดรอบสองจะเป็นตัวแปรสําคัญ ทำให้ต้องเน้น การเร่งรักษาสภาพคล่อง กระแสเงินสด บางส่วนชะลอลงทุน ขณะที่ “ไม่เชื่อ” ว่ากรรมการสมานฉันท์ แก้วิกฤติได้
ข้อมูลที่ว่ามา ระบุชัดเจนว่า ตัวแปรจากทรัมป์หรือไบเดน จึงไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวลต่อตลาดหุ้นไทยในอนาคตอันใกล้มากนัก เมื่อเทียบกับตัวแปรจากปัจจัยในประเทศ