พาราสาวะถี
วันนี้น่าจะรู้ผลอย่างเป็นทางการสำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จะเป็น โดนัลด์ ทรัมป์ หรือ โจ ไบเดน แต่แนวโน้มของคะแนนที่ออกมาพบว่าผู้ท้าชิงมีโอกาสจะคว้าชัยอย่างสูงยิ่ง ซึ่งนั่นจะทำให้ทรัมป์กลายเป็นอดีตประธานาธิบดีคนแรกที่พ่ายแพ้การเลือกตั้งในสมัยที่สองในรอบ 28 ปี นับตั้งแต่ จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช เคยพ่ายแพ้เมื่อปี 2535 แต่ไม่ว่าใครจะได้เป็นผู้นำมะกัน มันย่อมส่งผลกระทบต่อทั้งการเมือง เศรษฐกิจและสังคมไปทั่วโลก
อรชุน
วันนี้น่าจะรู้ผลอย่างเป็นทางการสำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จะเป็น โดนัลด์ ทรัมป์ หรือ โจ ไบเดน แต่แนวโน้มของคะแนนที่ออกมาพบว่าผู้ท้าชิงมีโอกาสจะคว้าชัยอย่างสูงยิ่ง ซึ่งนั่นจะทำให้ทรัมป์กลายเป็นอดีตประธานาธิบดีคนแรกที่พ่ายแพ้การเลือกตั้งในสมัยที่สองในรอบ 28 ปี นับตั้งแต่ จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช เคยพ่ายแพ้เมื่อปี 2535 แต่ไม่ว่าใครจะได้เป็นผู้นำมะกัน มันย่อมส่งผลกระทบต่อทั้งการเมือง เศรษฐกิจและสังคมไปทั่วโลก
ไม่ว่าสถานการณ์ภายนอกจะเป็นอย่างไร แต่ภายในประเทศยังไม่เปลี่ยนแปลง มีม็อบทุกวัน อาจจะไม่เข้มข้นหรือหนาแน่นเหมือนช่วงก่อนหน้า ซึ่งก็ใช่ว่าจะแผ่ว เพียงแต่แค่รอจังหวะในการขับเคลื่อนเท่านั้น ซีกรัฐบาลอาจจะเบาใจ ยิ่งผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ เพราะจะอ้างว่าได้ถอยมาเต็มที่แล้ว ทั้งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ การตั้งคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ ที่จนถึงนาทีนี้ยังไม่รู้ว่าจะออกมาในรูปแบบใด เดินหน้าต่อไปได้หรือจะแท้งตั้งแต่เริ่มต้น
ลำพังคนที่จะมาเป็นประธานและกรรมการก็เกิดข้อคำถามแล้วว่า เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายหรือไม่ เห็นได้จากฟากขบวนการสืบทอดอำนาจ เริ่มมีการตั้งแง่กับข้อเสนอของ ชวน หลีกภัย เรื่องการเชิญอดีตนายกรัฐมนตรีมาเป็นกรรมการหรือร่วมหาทางออกให้บ้านเมือง นั่นคงเป็นเพราะได้ฟังความเห็นจาก อานันท์ ปันยารชุน แล้วทำให้เกิดความหวั่นไหว เริ่มต้นด้วยความไม่จริงใจ หวังให้ทุกอย่างเป็นไปตามความต้องการของฝ่ายกุมอำนาจมันก็เดินต่อกันลำบาก
บอกแล้วว่า สิ่งที่สังคมยังคงเคลือบแคลงและตั้งเป็นข้อกังขาสำหรับขบวนการสืบทอดอำนาจก็คือ การขยับในทุกเรื่องจะเต็มไปด้วยลูกเล่น ยึกยัก ยืดเยื้อ ดึงจังหวะซื้อเวลาอยู่ตลอด แน่นอนว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะบรรจุเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภาในวันที่ 17 พฤศจิกายน โดยมี 6 ร่างแก้ไขเดิมกับร่างฉบับไอลอว์ด้วยนั้น ก็ทำให้สงสัยกันว่าจะมีการเบี้ยวกันเกิดขึ้นอีกหรือไม่ แต่บทเรียนจาก 24 กันยายนที่ส่งผลให้ม็อบฮึกเหิมนั้น คงจะไม่มีการตุกติกเกิดขึ้นอีก
แต่รายทางระหว่างที่มีการตั้งคณะกรรมาธิการหลังรับหลักการในวาระแรก เอาแค่เงื่อนเวลาในการพิจารณาจะอยู่ที่ 30 หรือ 45 วัน ก็จะเป็นจุดสะท้อนความตั้งใจของฝ่ายสืบทอดอำนาจและองคายพแล้วว่า มีความประสงค์ต้องการจะแก้ไขและถอดสลักวิกฤติของบ้านเมืองจริง หรือทำทุกวิถีทางเพื่อให้ยื้อเวลาไปให้ได้นานที่สุด ยิ่งเวลานี้มีม็อบสนับสนุนออกมาเคลื่อนไหว แม้จะไม่ใช้ว่าปกป้องรัฐบาลโดยตรง แต่ก็เป็นสัญญาณทำให้เห็นว่ามีฝ่ายตรงข้ามกับขบวนการคนรุ่นใหม่
นั่นก็เป็นเหตุทำให้มีการเสนอว่าในคณะกรรมการปรองดองนั้นต้องมีตัวแทนจากฝ่ายผู้ชุมนุมทั้งสองฝั่งด้วย ทั้งที่ควรจะมีแค่ฝ่ายที่เรียกร้องให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจลาออก นี่ก็เป็นภาพสะท้อนให้มองกันได้ต่ออีกหนึ่งช็อตว่า มีความพยายามจะใช้กลไกที่ตั้งขึ้น ให้มีสัดส่วนของฝ่ายที่สนับสนุนตัวเองมากกว่าฝ่ายตรงข้าม เรียกได้ว่าไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็เอาด้วยกล ทำทุกวิถีทางโดยไม่สนใจว่าสิ่งที่ทำและวิธีที่ใช้มันจะถูกผิดและได้รับความไว้วางใจ เชื่อใจจากสังคมส่วนใหญ่หรือไม่
อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ดูเหมือนว่าสถานการณ์ของม็อบจะซาลง ทำให้ฝ่ายสืบทอดอำนาจได้ใจ จึงทำให้เกิดการขยับกันในหลายเรื่องเพื่อแสดงให้เห็นว่ากุมความได้เปรียบมากกว่า และหนักไปในทางที่ไม่เกรงใจเสียงประชาชนด้วย ซึ่งนั่นมันจะกลายเป็นช่องให้ฝ่ายเคลื่อนไหวยิบหยกไปเป็นประเด็นในการเรียกมวลชนได้เพิ่มขึ้นมาอีก แม้จะไม่ลดเพดานของข้อเสนอแต่ก็จะเกิดการจัดเรียงลำดับความสำคัญในการเรียกร้องและเพิ่มมาตรการหนักเบาที่พร้อมจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ
อย่าลืมว่าเครือข่ายในการสื่อสาร การเรียกระดมพลของคนรุ่นใหม่นั้นทำได้รวดเร็ว ยิ่งในเวลานี้แกนนำหลักได้รับการปล่อยตัวมาแล้ว เชื่อได้เลยว่าต้องมีการคิดอ่านเพื่อขยับไม่ให้เกิดการขาดตอน ต้องอย่าลืมว่าเวลานี้ทุกอย่างในประเทศไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป สิ่งที่เคยคิดว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นก็ได้เห็นกันแล้ว แม้คนจำนวนไม่น้อยจะมองว่าม็อบคนรุ่นใหม่ได้เลยจุดที่สูงสุดไปแล้ว แต่กระบวนการเคลื่อนไหวโดยเฉพาะฝ่ายประชาธิปไตยไม่มีคำว่าสูงสุดหรือจะหยุดเมื่อไหร่
สัญญาณของการเปลี่ยนแปลงนั้นทำให้เราเห็นแล้วตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมาตั้งแต่กรกฎาคมถึงตุลาคม ช่วงเวลาเท่านี้ทำให้เราได้เห็นว่าคนรุ่นใหม่นั้นคิดอ่านกันอย่างไรและขยับขับเคลื่อนกันแบบไหน ชนิดที่ฝ่ายความมั่นคงซึ่งเคยตั้งรับกับม็อบแบบเดิม ๆ พลิกตำรารับมือไม่ทัน มาตรการที่เคยใช้ได้ผลทุกยุคทุกสมัยกลับกลายเป็นสากกะเบือ ที่เห็นได้ชัดคือการตัดช่องทางการสื่อสารของกลุ่มนัดหมายชุมนุม จากที่อดีตแค่สั่งปิดทีวีหรือวิทยุชุมชน คนที่เป็นแนวร่วมก็ไร้หนทางรับสารจากฝ่ายแกนหลักแล้ว
หนนี้ไม่ได้เป็นอย่างนั้น ขณะเดียวกัน การกระจายตัวการรับรู้ของคนรุ่นใหม่ที่ขยายวงไปทั่วประเทศและไม่ได้ขีดวงอยู่แค่นิสิต นักศึกษา แต่ลงลึกไปถึงเด็กในระดับมัธยมศึกษา ก็เป็นการส่งสัญญาณให้เห็นแล้วว่า หากยังคิดและทำกันแบบเดิม จะทำให้ถูกเด็กถอนหงอกเอาง่าย ๆ เชื่อได้เลยว่าอีกแค่ไม่กี่อึดใจผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและเครือข่าย ก็จะต้องเตรียมการรับมือกับการรุกรอบใหม่ ส่วนปลายทางจะนำไปสู่อะไรนั้น ตรงนี้ขึ้นอยู่กับฝ่ายกุมอำนาจว่ามีความอำมหิตหรือไม่
สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่หวังพึ่งรายได้จากการท่องเที่ยว โดยการเปิดรับนักท่องเที่ยวประเดิมในบางพื้นที่บางจังหวัด และมีความพยายามจะลดเวลาการกักตัวลง ด้วยการใช้ความเห็นทางการแพทย์เพื่อมาสนับสนุนความต้องการของฝ่ายบริหาร แต่ทั้งหมดเมื่อยังไม่มีวัคซีนมันก็คือความเสี่ยง ล่าสุด กรณีรัฐมนตรีต่างประเทศและการค้าของฮังการีที่เป็นแขกของรัฐบาลติดเชื้อโควิด-19 ก็น่าจะเป็นบทพิสูจน์แล้วว่า หากมองแต่เม็ดเงินเพื่อพยุงเศรษฐกิจที่ท่านผู้นำและคณะหมดปัญญาหาหนทางแล้ว มันก็จะกลายเป็นการผลักภาระรับความเสี่ยงจากการระบาดของโรคมาให้ประชาชนรับไปแบบเต็ม ๆ