ฝ่าวงล้อมเพดานหนี้สาธารณะ
ช่วงต้นปี 2563 ระดับหนี้สาธารณะของรัฐบาลอยู่ที่ 6,986,702.38 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 41.45 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP
ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์
ช่วงต้นปี 2563 ระดับหนี้สาธารณะของรัฐบาลอยู่ที่ 6,986,702.38 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 41.45 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP
แต่ผ่านมา 10 เดือน ณ สิ้นกันยาฯ 63 หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเป็น 7,848,155.88 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 861,453.50 ล้านบาท) คิดเป็นร้อยละ 49.35 ของจีดีพี
เดินหน้าเข้าใกล้กรอบความยั่งยืนทางการคลัง ซึ่งกฎหมายกำหนดเอาไว้ที่ 60% ของจีดีพี มากขึ้นทุกทีแล้ว กรอบ 60% ของจีดีพีที่ 15,901,591.50 ก็คือ 9,540,954.90 ล้านบาท
นั่นหมายถึง มีช่องว่างให้รัฐก่อหนี้เพิ่มได้แค่ร้อยละ 18.55 หรือคิดเป็นจำนวนเงินได้อีกแค่ 1,692,799 ล้านบาทเท่านั้น หากคิดจากฐานงบประมาณขาดดุลปี 2564 ที่ 6.3 แสนล้านบาท รัฐบาลจะสามารถก่อหนี้ได้เพิ่มได้อีกไม่เกิน 3 ปีงบประมาณหรือในปี 2567 เท่านั้น
เนื่องจากความมือเติบของรัฐบาล ที่จัดทำงบประมาณแบบขาดดุลเพิ่มขึ้นทุกปี อาทิ เข้ามาบริหารประเทศปีแรก ๆ ตั้งแต่ 2557-2558 ก็ตั้งงบประมาณขาดดุลแค่ 2-3 แสนล้านบาทเท่านั้น แต่งบประมาณปี 63 ที่ผ่านมา ก็ตั้งงบฯ ขาดดุลถึง 5.5 แสนล้านบาท และงบฯ ปี 64 ปัจจุบัน ก็ตั้งขาดดุลไว้ถึง 6.3 แสนล้านบาท
ไหนจะอภิมหาโปรเจกต์ประชานิยม และไหนจะถึงค่างวดจ่ายโครงการลงทุนระบบรางทั้งหลาย ฐานะการคลังของรัฐบาลประยุทธ์ อาจจะไม่ทานทนไปถึงปี 2567 แน่!
นอกจากนั้น หากเป็นไปตามการคาดการณ์ของหน่วยงานเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2563 จะติดลบในราว 8% กรอบการก่อหนี้ไม่ให้ชนเพดาน 60% ก็จะยิ่งแคบเข้ามาอีก
จากจีดีพีฐานปี 63 ที่ 15.9 ล้านล้านบาท จีดีพีฐานปี 64 ก็จะลดลงมา 1.2 ล้านล้านบาท เหลือแค่ 14.7 ล้านบาทเท่านั้น และ 60% ของจีดีพี 14.7 ล้านบาท ก็คือ 8.8 ล้านบาท
มันหมิ่นเหม่มากเลยครับกับยอดหนี้สาธารณะล่าสุด ณ เดือนกันยาฯ ที่ 7.8 ล้านล้านบาท ในขณะที่งบประมาณขาดดุลปีละ 6.3 แสนล้านบาท
ใช้เงินกันอย่างนี้ บริหารหนี้ไม่ให้เกินเพดานความยั่งยืนได้ไม่เกิน 2 ปีหรอก คงต้องหาวิธีลดหนี้สาธารณะลง ไม่งั้นคงอึดอัดแย่
รัฐบาลที่ไม่ถนัดในการหาเงิน ก็ต้องใช้เทคนิคในการลดหนี้ลง โดยการตั้งกองทุนที่ระดมทุนจากประชาชน และสถาบันทางการเงินต่าง ๆ โดยรัฐไม่ต้องเข้าค้ำประกัน และเงินที่ระดมทุนได้มา ก็ไม่ต้องบันทึกเป็นหนี้สาธารณะด้วย
รัฐบาลชุดก่อน ๆ ที่พล.อ.ประยุทธ์ชอบตำหนิ ก็ทำมาให้ดูแล้ว อาทิ กองทุนวายุภักษ์ ที่จ่ายเงินปันผลผู้ถือหน่วยลงทุนในอัตราร้อยละ 5-6 ก็เป็นการดีไซน์มาเพื่อตอบแทนผู้ออมเงิน ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากในท้องตลาดต่ำ และยังเป็นการบริหารเงินในภาครัฐ โดยไม่ต้องบันทึกเป็นหนี้สาธารณะด้วย
กองทุนธนารักษ์พัฒนา ก็เป็นการระดมทุนจากประชาชนและภาคเอกชนกว่า 2 หมื่นล้านบาท มาก่อสร้างศูนย์ราชการถนนแจ้งวัฒนะ โดยไม่ได้ใช้งบประมาณหลวงสักแดงเดียว และก็ไม่ต้องบันทึกเป็นหนี้สาธารณะด้วย
รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ก็พอมีผลงานในการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย มูลค่าระดมทุน 4.47 ล้านบาท เพื่อนำเงินไปก่อสร้างทางด่วนดาวคะนอง และทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ
ผลตอบแทนปันผลในราว 3.3% และก็ได้รับการต้อนรับจากตลาดเป็นอันดี
นอกจากนั้นก็ยังมีกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ EGATIF มูลค่าระดมทุน 20,855 ล้านบาท
นี่ก็รัฐบาลไม่ต้องเข้าค้ำประกัน และไม่ต้องบันทึกเป็นหนี้สาธารณะอีกเหมือนกัน
การจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานในโครงการต่าง ๆ จะเป็นทางออกที่ดีในการตัดยอดตัวเลขหนี้สาธารณะ ไม่ให้เกินกรอบความยั่งยืน 60% ของจีดีพี