“บอร์ดยุทธศาสตร์ชาติ” ไฟเขียวแผนแม่บท ปฏิรูปประเทศ-ฟื้นศก. ใต้แนวคิด “ล้มแล้วลุกไว”
“บอร์ดยุทธศาสตร์ชาติ” ไฟเขียวแผนแม่บท ปฏิรูปประเทศ-ฟื้นศก. ใต้แนวคิด “ล้มแล้วลุกไว”
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งที่ 3/2563 โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุม โดยที่ประชุมเห็นชอบใน 3 เรื่อง ประกอบด้วย
1.ร่างแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ทั้ง 13 ด้าน ได้แก่ การเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม เศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สาธารณสุข สื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ สังคม พลังงาน การป้องกันและปราบปรามทุจริตและประพฤติมิชอบ การศึกษา วัฒนธรรม กีฬา แรงงานและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งมีเป้าหมายเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ มีกิจกรรมปฏิรูปที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock) รวม 62 กิจกรรม และมีกฎหมายที่ต้องจัดทำหรือปรับปรุงแก้ไข จำนวน 45 ฉบับ โดยได้สั่งการเพิ่มเติมให้สรุปผลความสำเร็จของแผนฯ ในช่วงที่ผ่านมา เพื่อให้เห็นถึงความก้าวหน้าและประเด็นที่ควรให้ความสำคัญในการปฏิรูปประเทศ
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) เพื่อใช้เป็นกรอบในการดำเนินงานระยะต่อไปหลังจากที่ได้มีการประกาศใช้แล้ว โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานกิจกรรมตามแผนการปฏิรูปฯ เดิม คู่ขนานไปกับกิจกรรม Big Rock และสื่อสารสร้างความเข้าใจกิจกรรม Big Rock เพื่อถ่ายทอดสู่หน่วยปฏิบัติ โดยให้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการที่ระบุระยะเวลาและวิธีการดำเนินการที่ชัดเจน รวมทั้งให้มีการกำหนดกรอบงบประมาณเป็นการเฉพาะ เพื่อนำไปสู่การจัดทำโครงการที่ส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายตามผลอันพึงประสงค์ที่กำหนด
2.ร่างแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ อันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 พ.ศ. 2564-2565 (ฉบับสมบูรณ์) คณะกรรมการฯ เห็นชอบร่างแผนแม่บทเฉพาะกิจฯ ซึ่งมีแนวคิด “ล้มแล้วลุกไว” หรือ Resilience โดยกำหนดเป้าหมายเพื่อให้ “คนสามารถยังชีพอยู่ได้ มีงานทำ กลุ่มเปราะบางได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง สร้างอาชีพและกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น เศรษฐกิจประเทศฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะปกติ และมีการวางรากฐาน เพื่อรองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่” มี 3 มิติการพัฒนา ได้แก่ 1.การพร้อมรับ (Cope) 2.การปรับตัว (Adapt) 3.การเปลี่ยนแปลงเพื่อพร้อมเติบโตอย่างยั่งยืน (Transform) เพื่อพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสสำหรับการพัฒนาประเทศต่อไป ซึ่งจะทำให้ประเทศมีการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืนภายใต้หลัก 3 ขั้นการพัฒนา ได้แก่ Survival (การอยู่รอด) Sufficiency (พอเพียง) และ Sustainability (ยั่งยืน)
ส่วนประเด็นการพัฒนาประกอบด้วย 4 ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ในระยะ 2 ปีข้างหน้า ได้แก่ 1.การเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากภายในประเทศ (Local Economy) ลดความเสี่ยงในการพึ่งพาต่างประเทศ 2.การยกระดับขีดความสามารถของประเทศ รองรับการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว (Future Growth) ส่งเสริมอุตสาหกรรมและบริการที่มีโอกาสและศักยภาพภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลงและบริบทโลกใหม่ 3.การพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของคนให้เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ (Human Capital) เพื่อการยกระดับและปรับทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดงานและโครงสร้างเศรษฐกิจ พร้อมเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤต และ 4.การปรับปรุงและพัฒนาปัจจัยพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศ (Enabling Factors) ให้สอดรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่จะส่งผลกระทบต่อศักยภาพของประเทศ
ทั้งนี้ แผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติฯ (ฉบับสมบูรณ์) เป็นแผนระดับที่ 2 ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560 โดยเป็นฉบับเพิ่มเติมจากแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 23 ประเด็น ดังนั้น เพื่อให้การแปลงร่างแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติฯ (ฉบับสมบูรณ์) ไปสู่การปฏิบัติ สามารถดำเนินการได้บูรณาการและสอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คณะกรรมการฯ จึงได้เห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนร่างแผนแม่บทเฉพาะกิจฯ ไปสู่การปฏิบัติ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบในการจัดทำโครงการ/การดำเนินงานประจำปีงบประมาณ 2565 เพิ่มเติมจากโครงการสำคัญประจำปีงบประมาณ 2565 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563 รวมทั้งให้สำนักงบประมาณใช้เป็นกรอบจัดสรรงบประมาณในปีงบประมาณ 2565 ร่วมกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 23 ประเด็นในปัจจุบัน
3.แนวทางการจัดทำแผนระดับที่ 3 ที่เป็นแผนปฏิบัติการด้าน… เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี คณะกรรมการฯ เห็นชอบแนวทางการจัดทำแผนปฏิบัติการด้าน… ซึ่งเป็นแผนปฏิบัติของหน่วยงานของรัฐ เพื่อเป็นการแปลงยุทธศาสตร์ชาติและแผนระดับที่ 2 ไปสู่การปฏิบัติ ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นชอบให้ สศช. เสนอ (1) (ร่าง) แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) (2) ร่างแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 พ.ศ. 2564-2565 (ฉบับสมบูรณ์) และ (3) แนวทางการจัดทำแผนระดับที่ 3 ที่เป็นแผนปฏิบัติการด้าน… เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ได้รับทราบ 1.การเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ โดยเห็นชอบให้แต่งตั้งนายทศพร ศิริสัมพันธ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ และอดีตเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อรับตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดิน
2.ความก้าวหน้าการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศผ่านระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) โดยได้สั่งการเพิ่มเติมให้หน่วยงานดำเนินการรายงานผลการดำเนินการโครงการ/การดำเนินงาน และนำเข้าแผนระดับที่ 3 เข้าในระบบ eMENSCR ตามที่ระเบียบว่าด้วยการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2562 กำหนด เพื่อเป็นช่องทางให้ภาคประชาชนและภาคีการพัฒนามีส่วนร่วมในการติดตามตรวจสอบการดำเนินการภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
3.การจัดตั้งศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) เพื่อเป็นกลไกเชิงนโยบายในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาความยากจนและการพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างบูรณาการและเป็นรูปธรรม โดยใช้ข้อมูลจากระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform : TPMAP) เป็นข้อมูลหลักในการดำเนินการ เนื่องจากระบบ TPMAP เป็นเครื่องมือเชิงนโยบายแรกของประเทศที่สามารถระบุกลุ่มเป้าหมายของการพัฒนาได้ทั้งในครัวเรือนและบุคคล โดยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการเชิงพื้นที่ ครอบคลุมทุกกลุ่มเปราะบาง ทั้งเกษตรกร ผู้เคยต้องรับโทษ ผู้มีหนี้สิน ผู้ที่ทำงานอยู่นอกภูมิลำเนา
ทั้งนี้ ให้นำกรณีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาในต่างประเทศมาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมกับบริบทและขีดความสามารถของประเทศไทย เพื่อความคุ้มค่าของการใช้เงินงบประมาณของประเทศต่อไป
4.หลักสูตรยุทธศาสตร์ชาติ ให้มีการขยายผลการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนแบบออนไลน์ (Massive Open Online Course: MOOCs) วิชายุทธศาสตร์ชาติสำหรับกลุ่มเป้าหมายนิสิต นักเรียน นักศึกษา
นอกจากนี้ ต้องเร่งสร้างการตระหนักรู้ให้กับข้าราชการทุกระดับต่อไป เพื่อให้การแปลงยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติสามารถเป็นไปได้อย่างบูรณาการต่อไป