AAV เข้าไอซียู.!?
เห็นงบไตรมาส 3/2563 ของบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV ที่ตัวเลขขาดทุนสูงถึง 1,836 ล้านบาท แล้วต๊กกะใจ..ขาดทุนแบบนี้อาการน่าเป็นห่วง สถานภาพไม่ต่างจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI และบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK ที่ก่อนหน้านี้ต้องเดินทางเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการผ่านศาลล้มละลายกลางไปตามระเบียบ (พัก)...
สำนักข่าวรัชดา
เห็นงบไตรมาส 3/2563 ของบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV ที่ตัวเลขขาดทุนสูงถึง 1,836 ล้านบาท แล้วต๊กกะใจ..ขาดทุนแบบนี้อาการน่าเป็นห่วง สถานภาพไม่ต่างจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI และบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK ที่ก่อนหน้านี้ต้องเดินทางเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการผ่านศาลล้มละลายกลางไปตามระเบียบ (พัก)…
สาเหตุที่ AAV ขาดทุนบักโกรกขนาดนี้ มาจากรายได้ที่วูบหายไป 75% เหลือแค่ 2,403 ล้านบาท ถึงแม้ค่าใช้จ่ายรวมจะลดลง 46% อยู่ที่ 5,520 ล้านบาท แต่ลดลงในสัดส่วนที่น้อยกว่ารายได้ที่หายไป นั่นหมายถึงการบริหารจัดการต้นทุนยังไม่ดีพอ..!!
ส่งผลให้ AAV มีตัวเลขขาดทุนจากการดำเนินงานปาไป 3,117 ล้านบาท…
และยิ่งน่าตกใจ เมื่อเข้าไปดูงบแสดงฐานะการเงินของบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด ลูกบังเกิดเกล้าของ AAV สิ้นสุด ณ วันที่ 30 ก.ย. 2563 มีสินทรัพย์ 49,494 ล้านบาท ขณะที่หนี้สินพุ่งไปแตะ 51,497 ล้านบาท เท่ากับว่าลูกรักคนนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวแล้วน่ะสิ
หนักไปกว่านั้น ส่วนของผู้ถือหุ้นยังติดลบ 2,003 ล้านบาท…
ถ้าสถานการณ์เป็นอย่างนี้ นั่นแปลว่า AAV ต้องเดินตามรอย THAI กับ NOK เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการผ่านศาลล้มละลายกลางใช่หรือไม่..?
โอ้ววพระเจ้าช่วยกล้วยทอด…AAV จะต้องเข้าห้องไอซียูแล้วเหรอเนี่ย…น่าเป็นห่วงจริง ๆ
ส่วนจะคาดหวังไตรมาส 4 ก็ไม่น่าจะดีไปกว่านี้ เพราะถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีการเปิดน่านฟ้าอย่างเป็นทางการ (จะเปิดได้เมื่อไหร่..? ยังไม่มีใครตอบได้) ขณะที่สถานการณ์โควิดก็ยังไม่คลี่คลาย ในหลาย ๆ ประเทศสถานการณ์ยังเข้าขั้นวิกฤติ แม้ตอนนี้จะมีวัคซีนออกมาแล้วก็ตาม
เท่ากับว่า AAV ตกอยู่ในภาวะเลือดไหล…ต้องเผชิญวิบากกรรมกันต่อไป
พอไปดูงบกระแสเงินสดก็ขาดมือ ขาดสภาพคล่องอย่างหนัก โดยสิ้นสุด ณ วันที่ 30 ก.ย. 2563 AAV มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานติดลบ 335 ล้านบาท ส่วนกระแสเงินและรายการเทียบเท่าเงินสดลดลง 1,548 ล้านบาท ขณะที่กระแสเงินสดและเทียบเท่าต้นงวด (1 ม.ค. 2563) อยู่ที่ 3,982 ล้านบาท แต่ปลายงวด (30 ก.ย. 2563) ลดลงเหลือแค่ 2,351 ล้านบาท
นั่นหมายความว่า กระแสเงินสดหายไประหว่างงวด 1,631 ล้านบาท
ขณะที่ก่อนหน้านี้ AAV เป็นหนึ่งในสายการบินที่ไปขอซอฟต์โลน (สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ) จากภาครัฐ เพื่อมาประคองธุรกิจ เพราะต้องยอมรับว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้ AAV มีชะตากรรมเช่นนี้ เกิดจากคำสั่งปิดน่านฟ้าเพื่อสกัดกั้นโควิดของรัฐบาล อันนั้นก็เข้าใจได้…แต่รัฐบาลก็ควรมีมาตรการออกมาเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบหน่อยมั้ย…
แต่ถึงวันนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนใด ๆ มีแต่ลดภาษีน้ำมันเครื่องบินจาก 4.726 บาทต่อลิตร เหลือ 0.20 บาทต่อลิตร ให้เท่านั้น
เรียกว่าขออย่างหนึ่ง แต่ดันไปให้อีกอย่างหนึ่ง ไม่ต่างจากการเกาไม่ถูกที่คันนะเนี่ย..!!
ก็ไม่รู้ว่าจะรอให้ภาคธุรกิจเจ๊งไปก่อนหรืออย่างไร..? จึงจะเข็นมาตรการออกมาได้ ถึงเวลานั้นอาจจะสายเกินแก้ไปแล้วมั้ง
ผู้หลักผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องน่าจะคิดให้ไว…ลงมือทำให้เร็วหน่อยก็ดีนะ
อย่าลืมว่าคุณูปการของ AAV ทำให้คนไทยมีโอกาสได้ใช้บริการสายการบินมากขึ้น ในราคาที่เอื้อมถึงและจับต้องได้…
จะปล่อยให้สายการบินโลว์คอสต์แห่งนี้ล้มไปต่อหน้าต่อตาจริง ๆ หรือเนี่ย..?
ไม่ใจไม้ไส้ระกำไปหน่อยเหรอคะ…
…อิ อิ อิ…