“สุพัฒนพงษ์” เผยรัฐบาลเตรียมมาตรการเชิงรุก ดึงดูดนักลงทุน มั่นใจไตรมาส 2 ปีหน้า ศก.ฟื้น
“สุพัฒนพงษ์” เผยรัฐบาลเตรียมมาตรการเชิงรุก ดึงดูดนักลงทุน มั่นใจไตรมาส 2 ปีหน้า เศรษฐกิจฟื้น
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจไทยปี 2564” ในงานดินเนอร์ทอล์ค โดยเชื่อว่า ในปี 64 เป็นโอกาสสำหรับประเทศไทย ดังนั้น รัฐบาลจึงได้พัฒนาความพร้อมของโครงการต่างๆ ให้มากที่สุดในระหว่างที่ยังมีสถานการณ์โควิด-19 เพื่อเตรียมความพร้อมรับการลงทุนในอนาคต
ประเทศไทยมีระดับเศรษฐกิจอันดับ 2 ของอาเซียน มีเงินทุนสำรองเพียงพอถึง 8.5 ล้านล้านบาท และมีตลาดทุนที่เข้มแข็ง สามารถออกตราสารทุนที่เป็นยอมรับของตลาดโลกได้ และยังมีการเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้งในส่วนถนน ท่าเรือ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่จะเริ่มมีการก่อสร้างในปี 64 และจะมีการเริ่มลงทุนจริงในปี 65
“ผมเชื่อว่า ในไตรมาส 2 ในปี 64 ประชาชนจะสัมผัสได้ถึงการฟื้นตัวจริงจัง แต่ความสำเร็จขึ้นอยู่กับภาคเอกชนไทย รัฐบาลเตรียมทุกอย่างพร้อมที่สุดเท่าที่จะพร้อมได้” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว
ทั้งนี้ นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ในปี 64 ยังต้องพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศ ทั้งการลงทุนภาครัฐ การลงทุนภาคเอกชน เพื่อรักษาการเติบโตเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่สิ่งที่รัฐบาลต้องการเห็นคือ การดึงดูดอุตสาหกรรมใหม่ๆ เข้ามาลงทุนอย่างจริงจังในประเทศ เพื่อเปลี่ยน Portfoilo ของรายได้ที่ยังอาศัยการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นหลัก ให้กลายไปเป็นอุตสาหกรรมใหม่ๆ
ในปีหน้าจะมีทีมปฏิบัติเชิงรุกตั้งแต่ต้นปี โดยรัฐบาลจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดดึงดูดนักลงทุนเข้ามาประเทศไทย และได้เริ่มมาตรการไปแล้ว ทั้งมาตรการเปิดประเทศสำหรับนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจ ซึ่งอาจจะไม่ต้องกักตัว 14 วัน และมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนเป็นการเฉพาะ รวมทั้งมาตรการที่เปิดให้ต่างชาติสามารถเข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทยและได้วีซ่าระยะยาว 10 ปี
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่ต้องการความร่วมมือจริงๆ คือ ความมั่นใจจากภาคเอกชน หากเราร่วมมือปฏิบัติการเชิงรุกทั้งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ก็จะสามารถร่วมกันดึงนักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้
ด้านนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า หากถึงสิ้นปีไม่มีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไปจากนี้ โดยเฉพาะสถานการณ์โรคโควิด-19 ไม่มีการระบาดรอบ 2 เศรษฐกิจของไทยก็คงค่อยๆขยับตัวดีขึ้น แต่สิ่งที่ต้องระมัดระวังความไม่แน่นอนยังสูงมาก
นายดนุชา กล่าวว่า แม้จะมีข่าวดีเรื่องการผลิตวัคซีน แต่คงยังไม่เกิดขึ้นในเร็วๆนี้ จึงทำให้ยังจำเป็นต้องดูแลภาคการท่องเที่ยวให้สามารถอยู่ต่อไปได้ ซึ่งรัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ หรือส่งเสริมหน่วยงานรัฐจัดสัมนาในต่างจังหวัดมากขึ้น อีกทั้งยังต้องจับผลการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกาที่มีการเปลี่ยนตัวประธานาธิบดีก็อาจทำให้รัฐบาลสหรัฐปรับเปลี่ยนนโยบาย ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่อาจส่งผลกระทบกับไทยในปีหน้า
นายดนุชา กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีโอกาสในการเติบโต โดยเฉพาะจากความแข็งแกร่งด้านสาธารณสุขที่สามารติดตามควบคุมโรคโควิดได้ดีเป็นจุดขายสำคัญ สามารถปรับปรุงจุดแข็งที่มมีต่อยอดไปที่การลงทุน Wellness Center หรือ สถานที่ดูแลคนชราจากต่างประเทศ ถือโอกาสในการนำนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพเข้ามามากขึ้น ซึ่งรัฐมีแพลตฟอร์มรองรับไว้ เช่น การออกวีซ่าแบบพิเศษ อีกส่วนหนึ่งที่ภาคเอกชนสามารถช่วยได้
“ถ้าภาคเอกชนสามารถใช้จุดแข็งของประเทศไทย คุยกับเครือข่ายของท่านในต่างประเทศที่เป็นบริษัทใหญ่ๆ แล้วดึงเขาเข้ามาลงทุนไทยได้ แม้จะยังไม่เกิดการลงทุนในปีหน้า แต่มันจะสร้างบรรยากาศและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งจะดีต่อประเทศในระยะยาว” นายดนุชา กล่าว
นายดนุชา กล่าวว่า สิ่งที่เห็นหลังจากเกิดโควิด-19 คือ พื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังเข้มแข็ง โดยเฉพาะในด้านอุตสาหกรรมอาหารและภาคการผลิต และการขนส่ง โลจิสติกส์ แต่โครงสร้างภาพรวมเศรษฐกิจยังจำเป็นต้องพึ่งพาภาคส่งออกและภาคท่องเที่ยวเป็นหลัก จึงจำเป็นต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อให้สามารถรองรับวิกฤติในครั้งต่อๆไปได้