RT โชว์กำไร Q3 ทะลัก 138% ส่งซิก Q4 โตต่อหนุนทั้งปี “นิวไฮ” โบรกชู P/E ต่ำ-พื้นฐานแกร่ง!
RT โชว์กำไร Q3 ทะลัก 138% ส่งซิก Q4 โตต่อหนุนทั้งปี “นิวไฮ” โบรกชู P/E ต่ำ-พื้นฐานแกร่ง!
นายชวลิต ถนอมถิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ RT เปิดเผยถึงทิศทางผลการดำเนินงานในไตรมาส 4/2563 บริษัทจะมีรายได้และกำไรสุทธิเติบโตได้ดีกว่าไตรมาส 3/2563 เนื่องจากหมดช่วงฤดูฝน ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงาน หรือขับเคลื่อนโครงการได้เต็มที่ และจะสามารถรับรู้รายได้จากงานในมือรอรับรู้รายได้ (Backlog) ในไตรมาส 4/2563 ประมาณ 600-700 ล้านบาท จาก Backlog ที่มีอยู่ทั้งหมด 4,280 ล้านบาท และส่วนที่เหลือจะทยอยรับรู้ถึงปี 2565
ดังนั้นบริษัทมั่นใจว่าภาพรวมผลการดำเนินงานในปี 2563 จะมีรายได้และกำไรสุทธินิวไฮ ตามการรับรู้รายได้จาก Backlog ที่เพิ่มขึ้น โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 ผลการดำเนินงานเติบโตทำสถิติสูงสุด โดยมีรายได้รวม 2,114.73 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.31% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีรายได้รวม 1,687.48 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 204.57 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 205.24% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีกำไรสุทธิ 67.02 ล้านบาท
นอกจากนี้ บริษัทยังมีเงินสะสมรวม 343.55 ล้านบาท มีความสามารถในการจ่ายปันผลได้ตามนโยบายไม่น้อยกว่า 40% หลังจากหักค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง
นายชวลิต กล่าวต่อว่า ในช่วงที่เหลือของปี 2563 บริษัทจะเดินหน้าเข้าประมูลงานใหม่ทั้งโครงการขนาดเล็กไปจนถึงหลักพันล้านบาทเพิ่มเติม โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงหลังกลางเดือน พ.ย. 2563 จะมีการเปิดให้ประมูลงานของหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ หลังงบประมาณภาครัฐปี 2564 ได้รับการอนุมัติ ดังนี้
1.โครงการรถไฟรางคู่ 3 สัญญา ที่จะออกมาปลายปี 2563 มูลค่ารวม 72,000-75,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นในส่วนของงานอุโมงค์ 20,000 ล้านบาท คาดว่าจะได้งาน 20% ของมูลค่างานอ้างอิงจากสถิติการรับงานที่ผ่านมา และ 2.งานนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินด้วยวิธี Pipe Jacking ของหลายเส้นทาง มูลค่าตั้งแต่หลักร้อยล้านถึงพันล้านบาท แล้วแต่ระยะเส้นทาง รวมถึงงานกรมชลประทาน กรมทางหลวงพิเศษ และกรมทางหลวงชนบท เป็นต้น
โดยเชื่อว่าในปี 2564 รายได้และกำไรสุทธิจะทำนิวไฮจากปี 2563 จากการรับงานใหม่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงปัจจัยบวกด้านเศรษฐกิจ และความคืบหน้าของการคิดค้นวัคซีนป้องกัน และรักษาไวรัสโควิด-19 ซึ่งจะทำให้เดินหน้าเข้ารับงาน หรือประมูลงานในต่างประเทศได้มากขึ้น ได้แก่ เมียนมา กัมพูชา และลาว คาดว่าจะช่วยผลักดันสัดส่วนรายได้ในต่างประเทศเพิ่มเป็น 25%
อย่างไรก็ดี ความสามารถในการรับงานเข้ามาต่อเนื่อง บริษัทตั้งเป้าหมายภายในปี 2564 จะมีแบ็กล็อกแตะระดับ 6,000 ล้านบาท จากปกติเฉลี่ยอยู่ที่ 4,000-5,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถสร้างรายได้เฉลี่ยต่อปีที่ 2,000-2,500 ล้านบาท และสูงสุดที่ระดับ 7,000-8,000 ล้านบาท
“งานอุโมงค์ในประเทศไทยยังมีโอกาสในการเติบโตอีกมาก ทั้งที่เกิดจากการสร้างรถไฟรางคู่ และโครงการรถไฟต่าง ๆ ทั้งประเทศ โดยเฉพาะเส้นทางภาคอีสานและภาคเหนือ รวมถึงงานอุโมงค์ถนนที่ประเทศไทยยังไม่ได้เริ่มพัฒนาเหมือนกันประเทศที่เจริญแล้ว โครงการอุโมงค์ส่งน้ำระยะทางกว่า 60 กิโลเมตร มูลค่างานเฉลี่ย 800 ล้านบาทต่อกิโลเมตร ไปยังเขตพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจตะวันออก (EEC) และการเข้ามาประมูลงานทำอุโมงค์ในกทม.เป็นครั้งแรกในนาคต เป็นต้น ดังนั้นเชื่อว่า 10-20 ปีข้างหน้าบริษัทจะมีงานเข้ามาซัพพอร์ตอย่างต่อเนื่องแน่นอน” นายชวลิต กล่าว
นอกจากนี้ บริษัทยังเห็นโอกาสหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย งานในต่างประเทศจะกลับฟื้นตัวและเดินหน้าอีกครั้ง เช่น ประเทศเมียนมาที่ยังต้องการพลังงานไฟฟ้าอีกมากกว่า 6,000 เมกะวัตต์ (MW) ส่วนในสปป.ลาวโครงการเขื่อนเอกชนขนาดใหญ่หลายแห่งจะเดินหน้าลงทุนอีกครั้ง เพื่อรองรับการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นในอนาคต แม้ว่าปัจจุบันจะเกิดโอเวอร์ซัพพลาย 40-50%
นายชวลิต กล่าวว่า เป้าหมายสูงสุดคือมาตรฐานผลงานก่อสร้างชั้นเลิศ ส่งมอบงานให้ลูกค้าตรงเวลา ในราคายุติธรรม และคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ ทั้งนี้ บริษัทมีแผนจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้ เพื่อก่อสร้างโรงซ่อมและอาคารเก็บวัสดุแห่งใหม่ ซื้อเครื่องจักร อุปกรณ์ และพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนภายในบริษัท เพื่อรองรับการขยายงานโครงการในอนาคต
นายสมภพ ศักดิ์พันธ์พนม ประธานกรรมการ บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด หรือ APM ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวเสริมว่า RT จะเป็นหุ้นไอพีโอที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุน นิติบุคคล รายย่อย และนักลงทุนสถาบัน ด้วยจุดเด่นที่เป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านวิศวกรรมโยธาและธรณีเทคนิค
โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากการลงทุนของภาครัฐตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจงานโครงสร้างพื้นฐานในหลายโครงการ ทั้งระบบขนส่งราง งานถนน ระบบบริหารจัดการน้ำในประเทศ ซึ่งงานก่อสร้างเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานมีมูลค่างานสูง และเป็นงานที่มีการก่อสร้างต่อเนื่อง ต้องอาศัยความรู้ความสามารถจากบริษัทที่มีประสบการณ์และความชำนาญพิเศษ ซึ่งมีผู้รับเหมาจำนวนน้อยรายที่ดำเนินธุรกิจได้แบบ RT
ขณะเดียวกัน มั่นใจว่า RT จะมีโอกาสรับงานได้อีกมากในอนาคต โดยเฉพาะงานโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐที่ทยอยประกาศออกมา อีกทั้งบริษัทมีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง และมีความสามารถบริหารต้นทุนการก่อสร้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ สะท้อนจากผลกำไรสุทธิในช่วง 4 ไตรมาสย้อนหลัง (1 ต.ค. 2562-30 ก.ย. 2563) มีกำไรสุทธิ 267 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีกำไรสุทธิ 229.47 ล้านบาท (1 ก.ค. 2562-30 มิ.ย. 2563)
ดังนั้น ส่งผลให้กำไรสุทธิต่อหุ้น (Earnings Per Share) เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 0.24 บาทต่อหุ้น จากเดิม 0.21 บาทต่อหุ้น ขณะที่อัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E) ที่ราคาเสนอขายหุ้นละ 1.92 บาท อยู่ที่ 8 เท่า จากเดิมอยู่ที่ 9.20 เท่า
นายวิชา โตมานะ กรรมการผู้จัดการ สายงานวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุน RT กล่าวว่า การกำหนดราคาขายไอพีโอของ RT ที่ 1.92 บาทต่อหุ้น ได้ให้ส่วนลดกับนักลงทุนประมาณ 20%
ด้านบทวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ประเมินราคาเหมาะสมของ RT ที่ 2.20 บาท โดยคาดว่าในปี 2563-2564 กำไรปกติจะเติบโต 62% และ 12% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ตามรายได้ที่ขยายตัว และ Gross Margin ที่ปรับขึ้นจากงานอุโมงค์รถไฟทางคู่มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ที่มีมาร์จิ้นดี ปัจจุบันมีแบ็กล็อกมากกว่า 4,300 ล้านบาท โดยจะสามารถรับรู้ถึงปี 2563 และรองรับประมาณการปี 2564 แล้ว 72% รวมถึงมีโอกาสรับงานเพิ่มจากทั้งในประเทศ และประเทศเพื่อนบ้าน
อนึ่ง ผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 3/2563 บริษัทมีกำไรสุทธิ 67.25 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 135.88% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีกำไรสุทธิ 28.51 ล้านบาท และมีรายได้รวม 673.40 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.60% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีรายได้รวม 643.75 ล้านบาท เนื่องจากมีการรับรู้รายได้จากโครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ช่วงมาบตาเบา-ชุมทางถนนจิระ