“ม.หอการค้า” ชี้มาตรการกระตุ้นศก. หนุนดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค ต.ค. กระเตื้อง

"ม.หอการค้า" ชี้มาตรการกระตุ้นศก. หนุนดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค ต.ค. กระเตื้อง


ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ต.ค.63 อยู่ที่ 50.9 จาก 50.2 ในเดือน ก.ย.63

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 43.9 จาก 42.9 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ อยู่ที่ 49.0 จาก 48.2 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตเท่ากับ 59.9 จาก 59.4

ปัจจัยบวก ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปี 63 คาดหดตัวน้อยลงเหลือ -7.7% จากเดิมที่คาดไว้ที่ -8.5% , ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปรับตัวลดลง, รัฐบาลมีมาตรการเยียวยาผลกระทบโควิด-19 รวมถึงการออกมาตรการฟื้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี ทั้ง “เราเที่ยวด้วยกัน” “คนละครึ่ง” และ”ช้อปดีมีคืน”, ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น ทำให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้มากขึ้น

ขณะที่ปัจจัยลบ ประกอบด้วยความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองเรื่องการชุมนุม, กังวลโควิด-19 ระบาด, ผู้บริโภคกังวลค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวในระดับสูง, กังวลเรื่องเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่า และ สหรัฐตัด GSP สินค้าไทย 231 รายการ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนต.ค. ปรับตัวดีขึ้น แม้ว่าผู้บริโภคจะมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศค่อนข้างมาก เนื่องจากผู้บริโภคได้รับผลทางจิตวิทยาในเชิงบวกหลังจากรัฐบาลออกมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาต่อเนื่องหลายมาตรการ ประกอบกับราคาพืชผลเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ม.หอการค้าไทย คาดว่าผู้บริโภคยังคงชะลอการใช้จ่ายไปอย่างน้อยจนถึงไตรมาส 4 ของปีนี้ จนกว่าสถานการณ์โควิดของโลกจะคลายตัวลง ซึ่งต้องติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐว่าจะสามารถฟื้นเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ได้อย่างเป็นรูปธรรมได้มากน้อยเพียงใด และสถานการณ์ทางการเมืองไทยจะดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไร ซึ่งปัจจัยทั้ง 2 จะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคตเป็นอย่างมาก

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะด้านกำลังซื้อของประชาชน ทั้งในโครงการคนละครึ่ง โครงการช้อปดีมีคืน โครงการเราเที่ยวด้วยกัน รวมทั้งมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายที่อาจจะออกมาเพิ่มเติมในเฟส 2 นั้น เชื่อว่าจะเป็นตัวชี้วัดดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนพ.ย. และ ธ.ค.นี้ หากสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไม่เป็นอุปสรรคในเชิงลบ ประกอบกับมีปัจจัยสนับสนุนจากต่างประเทศทั้งการที่นายโจ ไบเดน ได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ, สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกที่ปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดที่เริ่มคลี่คลายลง

          “ปัจจัยเหล่านี้ จะทำให้เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยมีการตอบสนองในเชิงบวก และจะเริ่มเห็นสัญญาณความเชื่อมั่นที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น แม้จะเห็นภาพของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่สะดุดลงไปบ้างในเดือนก.ย. ถ้าไม่มีอุปสรรคอื่นๆ เข้ามา ความเชื่อมั่นจะเริ่มดีขึ้น” นายธนวรรธน์ ระบุ

ส่วนปัจจัยลบที่ยังคงต้องเฝ้าระวัง เพราะมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปีนี้ด้วย ได้แก่ สถานการณ์โควิดโลก รวมทั้งปัญหาการเมืองในประเทศ

ทั้งนี้ ม.หอการค้าไทย ประเมินว่ามีโอกาสเป็นไปได้สูงที่เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะอยู่ที่ระดับ -7 ถึง -7.5% และหากรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชน ในเฟส 2 ออกมาอย่างต่อเนื่องก็คาดว่าจะมีเม็ดเงินลงไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจช่วงไตรมาส 1 ปี 64 ได้อีกราว 60,000 ล้านบาท ซึ่งอาจจะทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกปีหน้ามีโอกาสกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ โดย ม.หอการค้าไทย คาดว่าจะเริ่มเห็นความเชื่อมั่นผู้บริโภคและเศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวได้ในไตรมาส 2 ของปี 64

“การเติมเงินเข้าไปอีก 60,000 ล้านบาท จะช่วยเป็นหลักประกันให้เศรษฐกิจฟื้น และการส่งออกควรจะดีขึ้นหลังจากโจ ไบเดนมา ดังนั้นเศรษฐกิจไตรมาสที่ 1 โมเมนตัมจะเป็นบวก และถ้าอัดมาตรการดี ๆ เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวเป็นบวกได้ในไตรมาสที่ 1 เลยก็ได้” นายธนวรรธน์ ระบุ

Back to top button