BEAUTY รายได้ไตรมาส 3 โต 50% แตะ 193 ลบ. มองท้ายปีฟื้นต่อรับ “ไฮซีซั่น”

BEAUTY รายได้ไตรมาส 3 โต 50% แตะ 193 ลบ. มองท้ายปีฟื้นต่อรับ “ไฮซีซั่น”


นายแพทย์สุวิน ไกรภูเบศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิวตี้ คอมมูนิตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ BEAUTY ผู้ดำเนินธุรกิจค้าปลีกจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและบำรุงผิว เปิดเผยว่าผลประกอบการไตรมาส 3/2563 มีรายได้รวม 193.48 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50.06% จากไตรมาสก่อนที่มีรายได้รวม 128.93 ล้านบาท และมีขาดทุนสุทธิ 22.75 ล้านบาทดีขึ้น 38.61 ล้านบาทหรือคิดเป็น 62.92% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/63 ที่ขาดทุนอยู่ที่ 61.36 ล้านบาท

ขณะที่ผลประกอบการงวด 9 เดือนปี 2563 บริษัทมีรายได้รวม 592.73 ล้านบาท และมีขาดทุนสุทธิ 123.79 ล้านบาท  อย่างไรก็ตามจากการที่บริษัทดำเนินการลดค่าใช้จ่ายทำให้ค่าใช้จ่ายภาพรวมของบริษัท (SG&A) ในไตรมาส 3 เท่ากับ 121.03 ล้านบาทลดลง 43.88 %  จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 215.66 ล้านบาท หรือลดลง 12.03% จากไตรมาส 2 เท่ากับ 137.58 ล้านบาท

ทั้งนี้ ผลประกอบการในไตรมาสนี้ ของบริษัท มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจาก หลังสถานการณ์คลายล็อคดาวน์ บริษัทสามารถเปิดสาขาร้านค้าปลีกในห้างสรรพสินค้าได้ตามปกติ ประกอบกับการปรับกลยุทธ์ Business Re-engineering ปรับแนวทางบริหารจัดการและเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจทั้งระบบ ควบคุมต้นทุนการผลิตและค่าใช้จ่ายในการบริหาร

อย่างไรก็ตาม จากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อยอดขายทั้งในและต่างประเทศอย่างมีนัยยะ ประกอบกับกำลังซื้อผู้บริโภคที่อ่อนตัวลง การชะลอตัวเศรษฐกิจ จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง การจับจ่ายชะลอตัว   นอกจากนี้บริษัทเล็งเห็นผลกระทบในระยะยาวจึงมีมาตรการลดความเสี่ยงในอนาคต บริษัทได้ดำเนินกลยุทธ์หลายแนวทางเพื่อปรับโครงสร้างองค์กรให้มีความคล่องตัว เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และลดภาระค่าใช้จ่ายในอนาคต ส่งผลให้เกิดค่าใช้จ่ายที่ไม่เกิดขึ้นเป็นประจำ (Non-routine expenses)

คือ ค่าใช่จ่ายจากการปิดสาขา 19.14 ล้านบาท ตามแนวทางการปิดสาขาที่ไม่มีศักยภาพในการทำกำไร และได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทั้งนี้บริษัทเชื่อว่านโยบายดังกล่าวจะเพิ่มความคล่องตัว ลดค่าใช้จ่ายในระยะยาวต่อไป และเพิ่มความสามารถในการทำกำไรของบริษัทในอนาคต

ทั้งนี้ บริษัทมีการปรับกลยุทธ์และแผนธุรกิจตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปและประกอบกับบริษัทมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง กระแสเงินสดมีสภาพคล่อง ซึ่งทำให้บริษัทมั่นใจว่าจะสามารถพัฒนาธุรกิจให้มีความแข็งแรงเพิ่มขึ้นและผ่านพ้นวิกฤตไปได้

แผนปรับกลยุทธ์ตลาดในประเทศ มุ่งเน้นขยายช่องทางการจำหน่ายที่มีการขยายตัวสูง อาทิ อีคอมเมิร์ซ ช่องทางสินค้าอุปโภค สินค้าประจำวัน (Consumer Product) กลุ่มสินค้า Fast Moving Consumer Goods ( FMCG ) เจาะกลุ่มผู้ค้าส่งเครื่องสำอางรายใหญ่ในจังหวัดหัวเมืองใหญ่( Local Distributor ) พร้อมทั้งขยายช่องทางการจำหน่ายออนไลน์ที่หลากหลาย เพิ่มความสามารถการนำเสนอสินค้าควบคู่กัน โดยสามารถซื้อขายผ่านเว็บไซต์ของบริษัท  อีคอมเมิร์ซและระบบแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ชั้นนำต่างๆ

พัฒนาโมเดลการขายใหม่ อาทิ  “บิวตี้ออนไลน์ช็อป” ลูกค้าที่เคยใช้บริการที่สาขาให้สามารถสั่งซื้อผ่านออนไลน์ได้ทันที ทุกสาขาจะมีช่องทางการสั่งซื้อสินค้าทั้งหน้าร้านสาขา(Offline Store) และผ่านระบบออนไลน์ได้ทั้ง 2 รูปแบบ  รวมทั้งสร้างโมเดลธุรกิจที่หลากหลายร่วมกับพันธมิตรที่เป็นแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อเพิ่มโอกาสในการขาย

ช่องทางร้านค้าปลีก (Retails) บริษัทได้ปรับโครงสร้างองค์กรให้มีความคล่องตัว เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และลดภาระค่าใช้จ่ายในอนาคต โดยปิดสาขาที่ไม่มีศักยภาพในการเติบโต เพิ่มช่องทางการขายออนไลน์เข้ามาทดแทน เพื่อการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ในวงกว้าง และไม่มีข้อจำกัด ซึ่งบริษัทเชื่อว่านโยบายดังกล่าว จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในระยะยาว และเพิ่มความสามารถในการทำกำไรของบริษัทในอนาคต

สำหรับธุรกิจภาคการส่งออก ประเทศจีนปัจจุบันเริ่มมีคำสั่งซื้อเข้ามาแล้วหลังจากเปิดเมือง คาดว่าภายในไตรมาส 4/63 จะเริ่มเห็นยอดขายและกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น ทั้งในประเทศจีนและประเทศในการปกครองเช่น ฮ่องกง อย่างไรก็ตามบริษัทมีการปรับแผนออกสินค้าใหม่ที่มีกำไรดีมาชดเชยยอดขายที่ลดลง และร่วมมือกับตัวแทนจำหน่ายในประเทศจีนพัฒนาสินค้าใหม่ออกสู่ตลาดในไตรมาส 3 เรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้บริษัทยังโฟกัสช่องทางจำหน่ายกลุ่มประเทศคลายล็อคดาวน์ กลุ่มประเทศในเขต (South East Asia)  อาทิ กัมพูชา เวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย แม้จะมีคำสั่งซื้อบ้างแต่ยังติดเรื่องระบบการขนส่ง การปิดด่านผ่านทาง คาดว่าจะส่งผลกระทบในระยะสั้น เพราะสินค้าไทยและสินค้า BEAUTY  ยังคงมีความต้องการหลังสถานการณ์คลี่คลาย  ซึ่งบริษัทมีการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับตัวแทนจำหน่าย สนับสนุนด้านการตลาดและสินค้าเพื่อปรับกลยุทธ์ธุรกิจตามสถานการณ์ที่ปรับเปลี่ยนต่อเนื่อง

“ธุรกิจ BEAUTY ยังมีโอกาสในการเติบโตจากการปรับกลยุทธ์ดังกล่าว และการสร้างช่องทางจำหน่ายใหม่ๆ การได้รับคำสั่งซื้อสินค้าจากตัวแทนจำหน่ายประเทศจีนและประเทศอื่นๆอย่างต่อเนื่องเป็นสัญญาณที่ดี สินค้า BEAUTY ยังคงได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคจีนและประเทศเขตเอเซีย อย่างไรก็ตามสถานการณ์ดังกล่าวยังคงส่งผลกระทบต่อผลประกอบการในช่วงที่เหลือ คาดว่ายอดขายและกำลังซื้อจะฟื้นตัวในปี 2564” นายแพทย์สุวิน กล่าว

Back to top button