PTT จ่อสร้างรง. BSA ป้อนรง.เม็ดพลาสติกชีวภาพที่อยู่ระหว่างทดลองผลิต
PTT มีแผนสร้างรง. BSA ป้อนรง.เม็ดพลาสติกชีวภาพที่อยู่ระหว่างทดลองผลิต
นายชวลิต ทิพพาวนิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจ และบริหารโครงการ หน่วยธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่า กลุ่มปตท.มีแผนจะสร้างโรงงาน Bio-Succinic Acid (BSA) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของโรงงานเม็ดพลาสติกชีวภาพชนิด Polybutelene Succinate (PBS) ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างทดลองการผลิต หลังจากการก่อสร้างโรงงานแห่งแรกของโลกที่มีการผลิตเชิงพาณิชย์ขนาด 2 หมื่นตัน/ปีแล้วเสร็จ โดยหากสามารถสร้างโรงงาน BSA ได้สำเร็จก็จะเป็นการนำวัตถุดิบอ้อย ซึ่งเป็นผลิตผลทางการเกษตรมาใช้ในกระบวนการผลิตได้
สำหรับการลงทุนโรงงาน BSA เพื่อให้เหมาะสมกับการประหยัดต่อขนาด (economy of scale) ควรอยู่ที่ระดับ 5 หมื่นตัน/ปี คาดว่าจะใช้เงินลงทุนเป็นหลัก 200-300 ล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ เมื่อปี 54 ปตท.ได้ประกาศแผนร่วมทุนกับบริษัท มิตซูบิชิ เคมิคอล คอร์ปอเรชั่น จากญี่ปุ่น จัดตั้งบริษัท พีทีที เอ็มซีซี ไบโอเคม จำกัด เพื่อสร้างโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด PBS จากน้ำตาลรายแรกของโลก ณ นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย จังหวัดระยอง โดยโรงงานมีกำลังการผลิต 2 หมื่นตัน/ปี ซึ่งตามแผนเดิมโรงงานดังกล่าวจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 57
สำหรับปัจจุบันโรงงาน PBS อยู่ระหว่างการทดสอบระบบ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าโครงการผลิตจะได้กำลังการผลิตตามที่ได้ออกแบบไว้หรือไม่ และอยู่ระหว่างยื่นขอใบรับรองมาตรฐานทั้งจากสหรัฐ และยุโรป เพื่อรองรับการส่งออกในอนาคต ซึ่งตลาดส่งออกจะเป็นตลาดหลักของโรงงาน PBS ในระยะแรก เพราะคาดว่าความต้องการใช้ภายในประเทศจะยังมีไม่มากนัก
ขณะที่ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำทำให้มีความกังวลต่อความต้องการใช้พลาสติกชีวภาพชนิดย่อยสลายดังกล่าว แต่ก็เห็นว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่ประเทศควรจะต้องมีเทคโนโลยีเป็นของตนเองเพื่อรองรับความต้องการในอนาคต
สำหรับการผลิต PBS ในขณะนี้ยังไม่ได้มีส่วนของการใช้วัตถุดิบทางการเกษตรเข้ามาเป็นวัตถุดิบ แต่เป็นการนำเข้า BSA และ Butanediol เข้ามาเป็นสารตั้งต้นในการผลิต ขณะที่วัตถุดิบทางการเกษตรอย่างอ้อย จะถูกใช้ในกระบวนการของผลิต BSA ซึ่งบริษัทร่วมทุนดังกล่าวจะเป็นผู้ดำเนินการต่อไป
ส่วนโครงการผลิตพลาสติกชีวภาพ ประเภท PLA ของกลุ่ม PTT ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการรอทาง NatureWorks พิจารณาเข้ามาลงทุน PLA ในไทย และรอการส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุนจากภาครัฐ ทั้งในรูปแบบของภาษีและเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำนั้น ล่าสุดได้ทราบว่าทางเพียวแรค ก็ให้ความสนใจจะลงทุนผลิตพลาสติกชีวภาพ PLA เช่นเดียวกันด้วย