พาราสาวะถีอรชุน
ทิศทางในการคลี่คลายคดีระเบิดแยกราชประสงค์และท่าเรือสะพานสาทร จากเดิมที่เหมือนเรือไร้หางเสือส่ายไปส่ายมาไร้ทิศไร้ทาง แต่หลังจากการจับกุมตัวชายต้องสงสัยได้จากอพาร์ตเมนต์ย่านหนองจอก คงทำให้ตำรวจจับต้นชนปลายได้ถูก วางแนวทางสืบสวนสอบสวนจากจุดนี้ ก่อนจะขยายผลหาความเชื่อมโยงให้ได้ว่า มีขบวนการร่วมก่อเหตุหรือไม่อย่างไร
ทิศทางในการคลี่คลายคดีระเบิดแยกราชประสงค์และท่าเรือสะพานสาทร จากเดิมที่เหมือนเรือไร้หางเสือส่ายไปส่ายมาไร้ทิศไร้ทาง แต่หลังจากการจับกุมตัวชายต้องสงสัยได้จากอพาร์ตเมนต์ย่านหนองจอก คงทำให้ตำรวจจับต้นชนปลายได้ถูก วางแนวทางสืบสวนสอบสวนจากจุดนี้ ก่อนจะขยายผลหาความเชื่อมโยงให้ได้ว่า มีขบวนการร่วมก่อเหตุหรือไม่อย่างไร
ขณะเดียวกันก็ต้องหาความเชื่อมโยงเพื่อมารองรับกับสมมติฐานของ พลตำรวจเอกสมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ที่บอกว่าคนร้ายก่อเหตุเป็นเรื่องความแค้นส่วนตัวไม่เกี่ยวกับขบวนการก่อการร้ายให้ได้ ทำไมผบ.ตร.ถึงมีบทสรุปเช่นนั้น ทั้งๆที่กระบวนการสอบสวนหลังการจับกุมตัวชายต้องสงสัยเพิ่งเริ่มต้น แต่นายใหญ่แห่งค่ายสีกากีกลับมีคำตอบให้สังคมได้อย่างรวดเร็ว
เอาเป็นว่าคนไทยทั้งประเทศไม่มีใครคลางแคลงใจต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ทุกคนต่างอยากให้คลี่คลายเรื่องนี้โดยเร็ว เพราะถือเป็นปัจจัยสำคัญว่าด้วยภาพลักษณ์ของประเทศ แต่ทุกอย่างต้องเดินไปด้วยความรอบคอบและตอบคำถามของทุกฝ่ายได้ โดยเฉพาะต่างประเทศที่จับตามองเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด หากอธิบายเขาไม่ได้ ที่หวังว่าบทสรุปของคดีจะเป็นบวกมันจะติดลบซ้ำไปเสียฉิบ
การถอดรหัสอำนาจจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับดอกเตอร์ปื๊ด ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเด็นว่าด้วยคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติหรือคปป. ล่าสุด เสรี สุวรรณภานนท์ ตั้งคำถามกับ วิษณุ เครืองาม รองนายกฯด้านกฎหมายและเนติบริกรประจำรัฐบาลและคสช. บอกว่าคปป.มีข้อเสีย แต่ไม่ได้ขยายความว่าคืออะไร
ทำให้เสรีต้องช่วยอธิบายแทนโดยไม่รู้ว่าจะตรงกับที่กูรูด้านกฎหมายรายนี้มองเห็นปัญหาหรือเปล่า ประการแรก แม้จะบอกว่าเพื่อความปรองดอง แต่อำนาจสูงกว่าคณะรัฐมนตรีและสั่งงานครม.ได้โดยที่ครม.ต้องปฏิบัติตาม ขณะที่อำนาจหน้าที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญอีกส่วนที่ระบุว่าตามที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกำหนด ถือเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก เป็นการหมกเม็ด เขียนเช็คเปล่าเอาไว้ โดยไม่รู้ว่าคืออะไร
กลายเป็นว่าคปป.มีอำนาจหนักเข้าไปอีกและจะถือเป็นยักษ์ที่มีฤทธิ์มาก อย่างไรก็ตาม หากมองในมุมของคนที่กลัวเสียของและมองจากโลกแห่งความเป็นจริง คนที่ยึดอำนาจมาแล้วคงไม่มีใครที่จะยอมก้าวลงจากอำนาจได้โดยง่าย ยิ่งถ้าขีดเส้นใต้จากคำพูดของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่บอกไว้ก่อนหน้านั้น จะลงจากหลังเสือต้องฆ่าเสือก่อน น่าจะตอบโจทย์ว่าทำไมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญถึงกล้าเขียนกฎหมายสูงสุดของประเทศออกมาแบบนี้
ศูนย์ข้อมูลและกฎหมายคดีเสรีภาพหรือไอลอว์ ได้ช่วยอธิบายเรื่องนี้ให้เกิดความกระจ่างว่า เทคนิคการเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจหลังจากการรัฐประหารไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ในการเมืองไทย เทคนิคบางอย่างถูกนำมาปรับใช้ซ้ำๆ เช่น ที่มาส.ว. บางอย่างก็เหมือนจะต้องเลิกไปตามยุคสมัย เช่น รัฐมนตรีต้องไม่เป็นข้าราชการประจำ
ในบางยุคบางสมัยการสืบทอดอำนาจก็เป็นไปในลักษณะเหนียมอายซ่อนรูป เช่น รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 หรือบางยุคสมัยก็ตรงไปตรงมาไม่เกรงใจใคร เช่น รัฐธรรมนูญฉบับปี 2534 ผลของลักษณะที่แตกต่างกันคือ ถ้าอายสักหน่อยอายุก็จะยาวขึ้น แต่ถ้าไม่เกรงใจใครอายุก็จะสั้นลง ทฤษฎีนี้ไม่รู้ว่าจะนำมาใช้กับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้หรือไม่
ต้องไม่ลืมว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ใช่มีแค่คปป.ที่ยัดไส้มาในช่วงท้าย แต่ยังมีมาตรการหลายๆเรื่องที่ไม่เป็นประชาธิปไตยตามหลักสากล ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะโยกย้ายนายทหาร ตำรวจและข้าราชการไม่ได้ รวมไปถึงการนำเสนอนโยบายของพรรคการเมือง หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นนโยบายประชานิยม อาจถูกลงโทษถึงขั้นยุบพรรคและตัดสิทธิทางการเมืองได้
นอกจากนั้น ยังมีเรื่องของอำนาจองค์กรอิสระที่มีอย่างมากจนรัฐบาลและรัฐสภาแตะต้องไม่ได้ การคงอำนาจพิเศษของฝ่ายตุลาการที่ไม่เคยยึดโยงกับประชาชน และข้อเสนอให้มีรัฐบาลปรองดองแห่งชาติในรัฐธรรมนูญ ก็เพื่อเปิดทางสำหรับนายกฯคนนอก ซึ่งในส่วนขององค์กรอิสระนั้นถือว่าเป็นตัวการที่สร้างปัญหาช่วยสุมไฟของความขัดแย้งมาโดยตลอด
ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยหลายประเทศองค์กรอิสระจัดเป็นสถาบันทางการบริหาร มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างดุลยภาพระหว่างการบริหารที่มีประสิทธิภาพกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งลักษณะสำคัญขององค์กรเหล่านี้คือ ต้องเป็นอิสระและเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะการที่ถูกออกแบบและกำหนดให้ผู้บริหารองค์กรมีความเป็นอิสระ เป็นกลาง มีธรรมาภิบาล เพื่อเป็นเครื่องรับประกันว่าความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่จะต้องมีอยู่จริง ตรงไปตรงมาตามข้อเท็จจริงของกฎหมาย
นั่นหมายความว่า คุณสมบัติของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต้องมีความเป็นกลางและมีธรรมาภิบาล หากใครก็ตามที่ปราศจากคุณสมบัติเหล่านี้ คณะกรรมการสรรหาต้องไม่เลือกเข้ามา และคนเหล่านี้ก็ไม่ควรมีสิทธิเข้ามารับตำแหน่งอย่างเด็ดขาดแต่ที่ผ่านมาหลายเหตุการณ์สำหรับประเทศไทย คนที่อยู่ในองค์กรเหล่านั้นได้แสดงออกให้เห็นแล้วว่าไม่ได้มีคุณสมบัติดังกล่าว
ตัวอย่างเช่น มีกรรมการการเลือกตั้งบางคนออกมาโพสต์โชว์สื่อในทำนองงานใหญ่ให้ต้องเอียง ย่อมสะท้อนภาวะความไม่เป็นกลางได้เป็นอย่างดี ขณะที่บางองค์กรถึงขั้นเปิดพจนานุกรมตัดสินคดีโดยไม่แยแสต่อหลักนิติรัฐ นิติธรรมแม้แต่น้อย รวมไปถึงคำพูดคำจาที่ออกมาจากจิตใต้สำนึกซึ่งสะท้อนอคติได้อย่างชัดเจนกรณีตัดสินการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐบาลต้องรอให้ถนนลูกรังหมดไปจากประเทศไทยเสียก่อน
เรื่องแบบนี้ต่างหากที่สังคมคลางแคลงใจจนกระทั่งเริ่มเกิดวิกฤตศรัทธากับองค์กรอิสระ เพราะถ้าเป็นคดีของนักการเมืองหรือข้าราชการฝ่ายประชาธิปไตย คดีจะวิ่งเร็วกว่ารถไฟความเร็วสูง แต่ถ้าเป็นคดีของนักการเมืองและข้าราชการที่สนับสนุนการรัฐประหาร กว่าจะขยับไปแต่ละขั้นได้มันเชื่องช้าขนาดเต่าต้องเรียกพี่ แต่สิ่งนี้ผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญกลับไม่ได้ตระหนักถึง
เมื่อเป็นเช่นนั้น ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ว่าจะมีคปป.หรือไม่ก็ตาม เชื่อแน่ว่าคนจำนวนไม่น้อยต่างมองกันว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีปัญหา โดยปัญหาที่เกิดขึ้นล้วนแล้วแต่มาจากชนชั้นนำที่หวาดกลัวประชาธิปไตย หวาดกลัวเสียงของประชาชน ดังนั้น รัฐธรรมนูญลักษณะนี้จึงไม่ช่วยแก้วิกฤตประเทศ แต่จะยิ่งทำให้เกิดปัญหารุนแรงมากขึ้น