ว่าที่ ‘ขุนคลังหญิง’ คนแรกของสหรัฐ

ตลาดหุ้นดีดตัวเมื่อมีข่าวรั่วออกมาว่า โจ ไบเดน จะแต่งตั้งนาง “เจเน็ต เยลเลน” เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  การที่หุ้นขานรับเช่นนั้นเป็นเพราะอดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐคนนี้เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวาง เป็นนักปฏิบัติ และมองกันว่าเธอจะมุ่งเน้นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ไม่ใช่จะมาออกระเบียบใหม่ต่อธนาคารเหมือนที่วอลสตรีทได้กลัวกัน


กระแสโลก : ฐปนี แก้วแดง

ตลาดหุ้นดีดตัวเมื่อมีข่าวรั่วออกมาว่า โจ ไบเดน จะแต่งตั้งนาง “เจเน็ต เยลเลน” เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  การที่หุ้นขานรับเช่นนั้นเป็นเพราะอดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐคนนี้เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวาง เป็นนักปฏิบัติ และมองกันว่าเธอจะมุ่งเน้นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ไม่ใช่จะมาออกระเบียบใหม่ต่อธนาคารเหมือนที่วอลสตรีทได้กลัวกัน

หากได้รับการรับรองจากวุฒิสภา เยลเลนจะเป็นสตรีคนแรกที่ได้เป็นรัฐมนตรีคลังในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ด้วยวัย 74 ปี   เยลเลนเคยเป็นประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในช่วงปี 2557-2561 และเคยเป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจคนสำคัญของอดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน

เธอได้รับเครดิตว่าเป็นคนที่ช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัว หลังจากที่เกิดวิกฤติการเงินในปี 2550 และเกิดภาวะถดถอยตามมา  ในช่วงที่เป็นประธานเฟดเป็นที่รู้กันว่าเยลเลนให้ความสำคัญมากกว่าต่อผลกระทบของนโยบายของธนาคารที่มีต่อคนงานและต้นทุนของความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มมากขึ้นของอเมริกา

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้สวนธรรมเนียมปฏิบัติเมื่อเลือกที่จะไม่แต่งตั้งเยลเลนเป็นประธานเฟดสมัยที่สอง  ตั้งแต่สมัยบิล คลันตัน เป็นต้นมา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่ได้ไปยุ่งกับประธานเฟดที่แต่งตั้งโดยประธานาธิบดีคนก่อนหน้าเพื่อพยายามลดการเมืองในเฟด

หลังจากที่ได้พ้นจากตำแหน่งประธานเฟดในปี 2561 เยลเลนได้พูดถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ และความจำเป็นที่รัฐบาลวอชิงตันจะต้องดำเนินการเพิ่ม เพื่อป้องกันเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้รอดพ้นจากผลกระทบของการระบาดของไวรัสโคโรนา

ประวัติส่วนตัวของเยลเลนก็ไม่ใช่ไก่กา

เธอเป็นลูกสาวของแพทย์ประจำตระกูลและครูประถม เติบโตในนิวยอร์ก และได้ดีกรีเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย บราวน์ ก่อนที่จะได้เป็นดร.ที่เยล  ส่วนชีวิตสมรส แต่งงานกับจอร์จ เอเคอร์ลอฟ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลที่ได้พบรักกันขณะทำงานเป็นนักวิจัยที่เฟดในช่วงปี.ค.ศ. 1970  ทั้งคู่มีลูกชายหนึ่งคน ซึ่งก็เป็นศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์เช่นกัน

นอกจากทำงานกับรัฐบาลและธนาคารกลางสหรัฐแล้ว ยังเป็นศาสตราจารย์ที่ยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ แคลิฟอร์เนียที่เบิร์กเลย์ ด้วย  การไต่เต้าสู่จุดสูงสุดของอาชีพนักเศรษฐศาสตร์ ยังทำให้เธอเป็นไอคอน เฟมินิสต์คนสำคัญในโลกเศรษฐศาสตร์

เมื่อพ้นจากตำแหน่งประธานเฟดในปี 2561 หลายคนได้ยกย่องความเป็นผู้นำของเธอด้วยการเลียนแบบซิกเนเจอร์ที่ชอบใส่เสื้อคลุมปกตั้ง

เยลเลนมีประวัติในการทำงานกับรัฐบาลวอชิงตันมายาวนาน ก่อนที่ประธานาธิบดีบารักโอบามาจะแต่งตั้งเธอเป็นประธานเฟดในปี 2557 เคยเป็นคณะกรรมการบริหารของเฟดมาร่วมสิบปี โดยรวมถึง 4 ปีในฐานะรองประธานเฟด

ในตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง เยลเลนน่าจะชี้นำคณะบริหารของไบเดนในการตอบโต้ทางเศรษฐกิจต่อการระบาดของไวรัสโคโรนา ซึ่งได้ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ หดตัวอย่างรุนแรงสุดในรอบหลายทศวรรษและทำให้คนอเมริกันกว่า 10 ล้านคนต้องตกงาน นอกจากนี้กระทรวงการคลังยังต้องดูแลเกี่ยวกับนโยบายภาษี หนี้สาธารณะ  การเงินระหว่างประเทศและมาตรการคว่ำบาตรต่าง ๆ

มีการมองกันว่า เยลเลนเป็นตัวเลือกที่สามารถสร้างความพึงพอใจให้กับพวกหัวก้าวหน้าและพวกสายกลางในพรรคเดโมแครตได้  และแม้แต่สมาชิกพรรครีพับลิกันบางคนก็เคยสนับสนุนการแต่งตั้งเธอเป็นประธานเฟดในสมัยโอบามา

มีมุมมองจากโรเบิร์ต ริช อดีตรัฐมนตรีแรงงาน ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ด้านนโยบายสาธารณะเสรี ว่า เยลเลนไม่ได้เป็นพวกปีกซ้ายเหมือนคนอื่น ๆ ที่มีข่าวลือว่าจะได้รับการเสนอชื่อ อย่างเช่น วุฒิสมาชิก อลิซเบธ วอร์เรน  แต่เธอยังเข้าใจปัญหาค่าแรงหยุดชะงัก  การเหยียดเชื้อชาติในเชิงระบบ และความเหลื่อมล้ำที่มีต่อเศรษฐกิจและสังคม

แม้แต่วอร์เรนก็ยกย่องเยลเลนในฐานะที่เคยเป็นผู้ออกกฎระเบียบต่อธนาคาร ความฉลาด ความเข้มแข็ง และ การยึดมั่นในหลักการของเธอ

อย่างไรก็ดี ใครมองอย่างไรก็ไม่สำคัญเท่ากับวอลสตรีทมองเธอ

การให้ความสำคัญต่อการจ้างงานแทนที่จะให้ความสำคัญกับเงินเฟ้อของเยลเยนในสมัยที่เป็นประธานเฟด ทำให้เธอได้รับการกล่าวขานว่าเป็นประธานเฟดที่อยากให้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อที่จะกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้วยการทำให้การกู้ยืมถูกลง

แม้ว่าในสมัยของเยลเลน เฟดได้ขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2551  แต่วอลสตรีทก็ยกย่องเธอ แม้ว่ายังคงมีการถกเถียงอย่างรุนแรงถึงการตัดสินใจของเธอ

ภายหลังจากที่มีข่าวว่าเยลเลนจะมาเป็นขุนคลัง แกรี่ โคห์น อดีตผู้บริหารของโกลด์แมน แซคส์ และที่ปรึกษาเศรษฐกิจประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวว่า ไบเดนได้ “ตัวเลือกที่ยอดเยี่ยม” และจากการที่ได้เคยทำงานกับเธอในสมัยเป็นประธานเฟด เขาไม่สงสัยเลยว่า เธอจะสามารถควบคุมสถานการณ์ที่สหรัฐฯ จำเป็นต้องส่งเสริมเศรษฐกิจที่จะเป็นผลดีต่อทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่กำลังลำบากเช่นนี้

แม้ว่าจะมีความกังขาบ้างในเรื่องอายุที่มากแล้ว แต่ปฏิกิริยาในตลาดหุ้น และนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ “ไม่ยี้” กับการเลือกของ โจ ไบเดน  ซึ่งก็น่าจะเป็นสัญญาณที่ดีต่อตลาดหุ้น ถ้าหากว่าวุฒิสภาสหรัฐฯ รับแรงเธอจริง ๆ

Back to top button