น้ำมัน WTI พุ่งเฉียด 2% แตะ 43.77 ดอลฯ/บาร์เรล รับวัคซีนคืบหน้า-การเมืองสหรัฐ

ราคาน้ำมัน WTI พุ่งเฉียด 2% สู่ระดับ 43.77 ดอลฯ/บาร์เรล รับวัคซีนคืบหน้า-การเมืองสหรัฐ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI พุ่งขึ้นกว่า 1% ในวันนี้ ขานรับความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ซึ่งจะช่วยหนุนการฟื้นตัวของอุปสงค์น้ำมัน รวมทั้งการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เริ่มกระบวนการถ่ายโอนอำนาจให้กับนายโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ

ล่าสุด ณ เวลา 21.20 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนธ.ค. ซึ่งมีการซื้อขายที่ตลาด NYMEX เพิ่มขึ้น 71 เซนต์ หรือ 1.65% สู่ระดับ 43.77 ดอลลาร์/บาร์เรล

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้มอบหมายให้นางเอมิลี เมอร์ฟีย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานบริการทั่วไปของสหรัฐ (General Services Administration – GSA) เริ่มกระบวนการถ่ายโอนอำนาจให้กับคณะบริหารของนายโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐแล้ว ซึ่งทำให้นายไบเดนสามารถเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ที่จำเป็นในการถ่ายโอนอำนาจ เพื่อให้เขาสามารถเข้าทำหน้าที่ในทำเนียบขาวได้อย่างราบรื่น

นอกจากนี้ GSA ยังได้อนุมัติเงินกว่า 7 ล้านดอลลาร์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการถ่ายโอนอำนาจประธานาธิบดีให้กับนายไบเดน

ด้าน แอสตร้าเซนเนก้า เปิดเผยว่า วัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ซึ่งทางบริษัทพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด มีประสิทธิภาพ 90% ในการป้องกันไวรัสโควิด-19

โดย ไฟเซอร์ อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทยาใหญ่ที่สุดของสหรัฐ และ BioNTech ซึ่งเป็นบริษัทยาของเยอรมนี ได้ยื่นเรื่องต่อสำนักงานอาหารและยาสหรัฐ (FDA) เมื่อวันศุกร์ เพื่อขออนุมัติการใช้วัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ของทางบริษัทเป็นกรณีฉุกเฉิน

ทั้งนี้ ไฟเซอร์นับเป็นบริษัทแรกที่ยื่นขออนุมัติการใช้วัคซีนต้านโควิด-19 ต่อ FDA เป็นกรณีฉุกเฉิน โดยบริษัทระบุว่า วัคซีน BNT162b2 มีประสิทธิภาพมากถึง 95% ในการป้องกันไวรัสโควิด-19 ซึ่งสูงกว่าวัคซีนของโมเดอร์นา อิงค์ ซึ่งให้ผล 94.5%

นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส จะชะลอแผนการเพิ่มการผลิตน้ำมัน ขณะที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อราคาและอุปสงค์น้ำมัน

โดยโอเปกพลัสตัดสินใจปรับลดกำลังการผลิต 7.7 ล้านบาร์เรล/วันจนถึงสิ้นปี 2563 ก่อนที่จะลดกำลังการผลิตเพียง 5.8 ล้านบาร์เรล/วันตั้งแต่เดือนม.ค.2564 ซึ่งจะทำให้มีปริมาณน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 2 ล้านบาร์เรล/วันจากโอเปกพลัสไหลเข้าสู่ตลาดน้ำมันโลก

ด้าน แหล่งข่าวระบุว่า โอเปกพลัสมีแนวโน้มที่จะเลื่อนแผนการเพิ่มกำลังการผลิต 2 ล้านบาร์เรล/วันออกไป 3-6 เดือน เนื่องจากมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากการใช้มาตรการล็อกดาวน์รอบใหม่ในยุโรปเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งจะฉุดอุปสงค์น้ำมันในตลาด

โดยโอเปกพลัสจะจัดการประชุมกำหนดนโยบายการผลิตน้ำมันในวันที่ 30 พ.ย.-1 ธ.ค.

Back to top button