การตัดอวัยวะช่วงขาลงยาวนาน
ข่าวใหญ่ที่มีคนพาดหัวข่าวว่า “เป็นข่าวช็อกวงการสื่อ” ส่งท้ายปี เมื่อบริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล จำกัด เจ้าของช่องโทรทัศน์ GMM25 ประกาศปิดตัวเองไปอย่างบอบช้ำเพราะมองไม่เห็นอนาคต แม้จะได้พยายามดำเนินการปรับโครงสร้างการจัดการ และเพิ่มทุนโดยมีผู้ถือหุ้นรายใหม่เข้ามาร่วมลงทุนด้วยแต่เมื่อถึงเวลาก็จำต้องตัดสินใจ “ตัดอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต” อย่างเลี่ยงไม่พ้น
พลวัตปี 2020 : วิษณุ โชลิตกุล
ข่าวใหญ่ที่มีคนพาดหัวข่าวว่า “เป็นข่าวช็อกวงการสื่อ” ส่งท้ายปี เมื่อบริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล จำกัด เจ้าของช่องโทรทัศน์ GMM25 ประกาศปิดตัวเองไปอย่างบอบช้ำเพราะมองไม่เห็นอนาคต แม้จะได้พยายามดำเนินการปรับโครงสร้างการจัดการ และเพิ่มทุนโดยมีผู้ถือหุ้นรายใหม่เข้ามาร่วมลงทุนด้วยแต่เมื่อถึงเวลาก็จำต้องตัดสินใจ “ตัดอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต” อย่างเลี่ยงไม่พ้น
การตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่บริษัทแม่ คือ GMM Grammy หรือ GRAMMY ประกาศงบไตรมาสที่สามของปีผ่านไป ที่แม้ตัวเลขทำกำไรจะยังมีให้เห็นแต่ก็ไม่ได้น่าสดชื่นเท่าใดนัก
ตัวเลขทางการเงินสิ้นสุดไตรมาสสาม มียอดขาดทุนสะสมดีขึ้นเล็กน้อยเพราะตลอด 9 เดือน มีกำไรสุทธิรวม 85.09 ล้านบาท แต่กำไรจากการดำเนินงานจริงยังคงติดลบ 17.1 ล้านบาท จากยอดรายได้รวมที่หดเหี้ยนลงเหลือเพียง 1.07 พันล้านบาท
การขาดทุนจากการดำเนินงาน แต่มีกำไรสุทธิรวมเป็นบวก จึงค่อนข้างเปราะบาง เพราะทำให้ตัวเลขขาดทุนสะสมของบริษัทกระเตื้องขึ้นเล็กน้อยเท่านั้น โชคยังดีที่บุญเก่ายังมีเหลือเฟือ ทำให้ตัวเลขส่วนผู้ถือหุ้นที่เหลือเกินกว่า 1.2 พันล้าน ยังไม่หมิ่นเหม่นอันตรายจนเกินไป
นั่นหมายความว่าการตัดลดต้นทุนดำเนินงานเพื่อชดเชยกับตัวเลขรายได้ที่หดตัวลงรุนแรง ยังคงต้องดำเนินการต่อไป จนกว่าความเปราะบางของต้นทุนและกำไรจากการดำเนินงานจะกระเตื้องขึ้น
การประกาศระงับการดำเนินงานของเครือข่ายบริษัทใต้ร่มธงที่ไม่ทำรายได้และกำไรฟื้นตัวชัดเจนจึงต้องเกิดขึ้น
ช่องโทรทัศน์ในเครือขอเตรียมที่จะหยุดดำเนินกิจการในวันที่ 31 ธันวาคมนี้ เนื่องจากประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่องอย่างช่อง ช่อง GMM 25 เพื่อ “จะมีไว้สำหรับให้บริษัทในเครือเช่าเวลา เพื่อผลิตรายการต่าง ๆ” ส่วนรายการข่าวจะมีทีมจากช่อง ONE 31 ทำการผลิตป้อน
ผลลัพธ์ของการหยุดดำเนินการผลิตเอง แต่มาให้เช่าช่องแทน และซื้อคอนเทนต์มาออกอากาศจากบริษัทในเครือ ไม่ใช่การสร้างพลังผนึก แต่เป็นปรากฏการณ์ลดต้นทุนหนีตายชัดเจน
งานนี้ แม้ทำให้พนักงานกว่า 190 ชีวิต โดยเฉพาะฝ่ายผลิตรายการข่าวต้องพ้นสภาพ และจะมีพนักงานประมาณ 50 คน ที่จะย้ายไปทำงานต่อกับบริษัทในเครือ ก็ยังถือว่าไม่ได้การันตีเลยว่า การปรับลดพนักงานจะเกิดขึ้นเป็นครั้งสุดท้ายหรือไม่
การที่ปิดช่องผลิตรายการ และหยุดดำเนินกิจการ ช่อง GMM25 แต่จะเหลือไว้สำหรับให้ทางบริษัทในเครือเช่าสถานีเพื่อผลิตรายการต่าง ๆ และบริษัท GMMCH จะกลายเป็นบริษัททางอ้อมผ่านการถือหุ้นโดย ONE ที่จะกลายเป็นผู้ถือหุ้น GMMCH ทั้ง 100% โดยโยก นายถกลเกียรติ วีรวรรณ ผู้บริหารคนหนึ่งเข้ามาดูแลภาพรวมของทั้งสองช่องแทน คือผลของสภาวะ ตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์ที่เลี่ยงไม่พ้นจากทั้งการที่ 1) เม็ดเงินในอุตสาหกรรมโฆษณาเกินครึ่ง แต่แนวโน้มกลับลดลงเรื่อยมา โดยมีสาเหตุหลักจากภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนแปลง ผู้ชมหันไปเสพสื่อออนไลน์กันมากขึ้น 2) ถูกซ้ำเติมจากวิกฤตโควิด-19 ยิ่งกระทบหนัก ข้อมูลจาก Nielsen เผยเม็ดเงินโฆษณาในทีวีช่วง 10 เดือน ปี 2563 มีมูลค่า 51,131 ล้านบาทลดลง 12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งมีมูลค่า 58,128 ล้านบาท
รายได้รวมช่วง 9 เดือนของ GRAMMY คิดเป็นรายได้จากการดำเนินงาน ลดลง 29.2% จากงวดเดียวกันของปีก่อน จากผลกระทบของการที่กิจกรรมของบริษัทที่มีการรวมตัวของคนหมู่มากไม่สามารถดำเนินงานได้ตามปกติแม้จะบรรเทาลงจากการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนร่วมค้าและบริษัทร่วมจำนวน 63.0 ล้านบาท ก็ยังไม่เพียงพอให้กำไรฟื้นตัวจริงจัง
ที่ผ่านมา GRAMMY พยายามดิ้นรนหลายทางเช่นการจับมือกับ Tencent Music Entertainment Group บริษัทธุรกิจมิวสิคสตรีมมิ่งรายใหญ่ที่สุดในจีน ให้บริการที่เสริมช่องทางการขายลิขสิทธิ์เพลงให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น และต่อยอดธุรกิจเพลงไทยสู่ตลาดสากล และรุกด้าน
ธุรกิจขายตรงแบบชั้นเดียว SLM ขายสินค้าที่มีศิลปินร่วมกันเป็นเจ้าของ แต่ยังไม่ดีมากเพียงพอ ยังมีลักษณะลองผิดลองถูก
ล่าสุดวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมาแจ้งมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเกี่ยวกับการจัดโครงสร้างธุรกิจโดยจะมีการจำหน่ายทรัพย์สินของบริษัท คือ การขายหุ้น GMMCH การเข้าทำสัญญาแต่งตั้งตัวแทนการตลาดสถานีโทรทัศน์ช่อง GMM25, สัญญาอนุญาตให้ใช้ชื่อและลิขสิทธิ์รายการทางสถานีโทรทัศน์ช่อง GMM25 และอีกหลายบริษัท
โครงสร้างใหม่ดังกล่าว รวมถึงการหาทางอัดฉีดทุนใหม่ที่ลือกันว่าหาทุนใหม่ “หมอเสริฐ” นายปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ เข้ามาร่วมวง แทนกลุ่มสิริวัฒนภักดีที่จากไป
แม้ GRAMMY ระบุว่าการเข้าทำธุรกรรมดังกล่าวจะทำให้บริษัท มีเงินทุนที่เพียงพอสำหรับการขยายธุรกิจของบริษัท และการลงทุนในอนาคต ที่ให้ผลตอบแทนที่มากกว่า และดำเนินการชำระคืนเงินกู้ของกลุ่มบริษัท เพื่อลดดอกเบี้ยและลดภาระการค้ำประกัน ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทมีฐานะทางการเงินที่มั่นคงมากขึ้น และมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นต่อไป แต่นักลงทุนที่ผ่านการเห็นอาณาจักรบันเทิงรายใหญ่แห่งนี้ “เตี้ยลงสาละวัน” คงตัดสินใจได้เองว่าจะยังคงเชื่อ “น้ำยา” ของผู้บริหารค่ายนี้ต่อไปอีกเพียงใด
ความพยายามที่จะปรับตัวหนีตายของ GRAMMY หลายปีมานี้ กับข้อเท็จจริงในการดำเนินงานที่สวนทางกันตลอด ทำให้หลายคนเลิกฝันถึงการหวนคืนกลับสู่ “ยุคทอง” ที่เคยเฟื่องฟูจนขึ้นอันดับนำของบริษัทที่มีเงินสดและกำไรสะสมท่วมบริษัท มาเป็นกิจการที่ต้องกระเสือกกระสนเป็น “ปลาหมอแถกเหงือก” ไปค่อนข้างมาก
ถือเป็นสถานการณ์ที่น่าอึดอัดอย่างยิ่ง สำหรับทั้งผู้บริหาร และผู้ถือหุ้น