“ไทย” ครองแชมป์มาร์เก็ตแชร์ IPO สูงสุดปี 63 ในเอเชียอาคเนย์
"ไทย" ครองแชมป์มาร์เก็ตแชร์ IPO สูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดีลอยท์ซึ่งเป็นบริษัทตรวจสอบบัญชีและให้คำปรึกษาด้านการเงิน เปิดเผยว่า ประเทศไทยครองส่วนแบ่งตลาดในการเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) เป็นอันดับ 1 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2563 โดยไทยมีมูลค่าการทำ IPO คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 60% ของมูลค่าการทำ IPO ทั้งหมดในภูมิภาค
สำหรับข้อมูลของดีลอยท์ระบุว่า นับตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงวันที่ 15 พ.ย. ประเทศไทยมีบริษัทที่ทำ IPO จำนวนสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 23 ราย ซึ่งแม้ว่าลดลงจาก 34 รายของทั้งปี 2562 แต่จนถึงขณะนี้ ไทยสามารถระดมทุนจากตลาด IPO ในปีนี้ได้เป็นวงเงินสูงถึง 3.94 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่าระดับ 3 พันล้านดอลลาร์ของปีที่แล้ว
ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวได้จากการที่ดีลอยท์ทำการศึกษาแนวโน้มของตลาด IPO ใน 6 ตลาดหุ้นที่สำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม
ด้าน รายงานของดีลอยท์ระบุว่า บริษัทจดทะเบียนใหม่จำนวน 100 แห่งทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น สามารถระดมทุนได้ 6.44 พันล้านดอลลาร์ตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงวันที่ 15 พ.ย. อย่างไรก็ดี ทั้งจำนวนบริษัทที่เสนอขายหุ้นและจำนวนเงินที่ระดมทุนได้นั้น ยังน้อยกว่าในปีที่แล้วซึ่งมีบริษัทจดทะเบียนใหม่จำนวน 161 แห่ง และระดมทุนได้ 7.34 พันล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ ดีลอยท์ระบุว่า ไทยสามารถครองส่วนแบ่งตลาด IPO ได้สูงสุด แม้ว่าเศรษฐกิจไทยเป็น 1 ในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับผลกระทบหนักสุดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก็ตาม
โดย ดีลอยท์ได้ทำการเปรียบเทียบระหว่างไทยและสิงคโปร์ โดยระบุว่า ไทยมีแนวโน้มแซงหน้าสิงคโปร์ขึ้นครองอันดับหนึ่งตลาด IPO ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ติดต่อกัน 2 ปีซ้อน โดยในปีนี้ สิงคโปร์มีบริษัทที่ทำ IPO เพียง 8 แห่ง และสามารถระดมทุนได้เพียง 852 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ เมื่อเทียบกับปีที่แล้วซึ่งมีบริษัทจดทะเบียนใหม่ 11 แห่ง และสามารถระดมทุนได้ 2.26 พันล้านดอลลาร์