“ส.ค้าก๊าซชีวภาพ” เร่งรัฐเคาะเกณฑ์รับซื้อไฟฟ้า 100 MW แนะตั้งราคาอิงต้นทุนเชื้อเพลิง

"ส.ค้าก๊าซชีวภาพ" เร่งรัฐเคาะเกณฑ์รับซื้อไฟฟ้า 100 MW แนะตั้งราคาอิงต้นทุนเชื้อเพลิง


นายผจญ ศรีบุญเรือง นายกสมาคมการค้าก๊าซชีวภาพไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้สมาคมฯยังรอความชัดเจนด้านหลักเกณฑ์การเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าขยายผล กำลังการผลิตรวม 100 เมกะวัตต์ ที่คาดว่าจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ประกอบการภายในปี 64 โดยต้องการให้ภาครัฐเร่งออกหลักเกณฑ์โดยเร็ว โดยราคารับซื้อไฟฟ้าควรจะสะท้อนต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ (โรงไฟฟ้าไบโอแก๊ส) ที่กว่า 2 บาทต่อหน่วย  และไม่ควรอ้างอิงราคาประมูลโครงการ SPP Hybrid Firm ที่ 2.44 บาทต่อหน่วย แต่ควรพิจารณาจากต้นทุนเชื้อเพลิงแต่ละประเทศด้วย

ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการไบโอแก๊สประมาณ 50 ราย กำลังการผลิตรวม 100 เมกะวัตต์ แต่ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบเมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมา ทำให้ล่าสุดเหลือ 33 ราย กำลังการผลิตรวมประมาณ 80 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าขยายผล โดยในจำนวนนี้มีโรงไฟฟ้าไบโอแก๊สของ บมจ. ยูเอซี โกลบอล (UAC) จำนวน 2 โรง กำลังการผลิตรวม 3 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าไบโอแก๊สของ บมจ.นอร์ทอีส รับเบอร์ (NER) จำนวน 2 โรง กำลังการผลิตรวม 4 เมกะวัตต์

“สำหรับราคารับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าขยายผล ไม่ควรใช้ราคา 2.44 บาทต่อหน่วยมาอ้างอิง เนื่องจากเป็นราคาประมูลของ SPP Hybrid Firm เนื่องจากมีต้นทุนผลิตไฟฟ้าที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาสมาคมฯ ยื่นหนังสือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเรียกร้องให้เร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า จนมาถึงรัฐบาลชุดนี้มีการออกนโยบายโรงไฟฟ้าขยายผล ดังนั้นหวังว่าจะมีการออกหลักเกณฑ์โดยเร็ว โดยคำนึงถึงความเป็นจริงเพราะ SPP Hybrid Firm เป็นการผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสาน ต้นทุนโซลาร์ถูกลงมากจากเดิม 150 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ ปัจจุบันอยู่ที่ 19 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ ขณะที่ระบบกักเก็บพลังงาน(ESS) ก็ต้นทุนถูกลง” นายผจญ กล่าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าขยายผลว่า ขณะนี้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้รายงานความคืบหน้าการจัดสรรโควต้าดังกล่าวต่อนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เบื้องต้นพบว่าโครงการโรงไฟฟ้าขยายผล จะสามารถดำเนินการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ประกอบการได้หลังเดือน มี.ค. 2564 เป็นต้นไป เนื่องจากโครงการดังกล่าวต้องรอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในช่วงต้นปี 2564 เห็นชอบในหลักการก่อน

ขณะเดียวกัน กกพ.ยังอยู่ระหว่างให้เวลาผู้ประกอบการ SPP Hybrid Firm ที่ชนะการประมูลทั้ง 14 ราย ส่งแผนการดำเนินโครงการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเติม หลังจากผิดสัญญาลงนาม PPA ไปแล้ว เพื่อพิสูจน์ว่าผู้ประกอบการยังมีความตั้งใจจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าและสามารถดำเนินการได้จริงเพื่อให้สอดคล้องกับมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่ได้ขยายเวลาการผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) จากปี 64 เป็นปี 65 ทั้งนี้ กกพ.จะสรุปผลในเดือน มี.ค.64 ว่ามีผู้ประกอบการรายใดไม่สามารถสร้างโรงไฟฟ้าได้แน่นอน เพื่อนำโควต้าในส่วนนี้ไปให้กับโครงการโรงไฟฟ้าขยายผลแทน โดยที่ผ่านมา กกพ.ได้พิจารณาเบื้องต้นและเห็นว่าน่าจะมีผู้ประกอบการบางส่วนเดินหน้าโครงการต่อไปได้ และมีบางส่วนไม่สามารถไปต่อ คาดว่ามีกำลังผลิตรวมประมาณ 100 เมกะวัตต์

Back to top button