“สธ.” เร่งหาสาเหตุบุคลากรการแพทย์ รพ.เอกชน-ASQ ติดโควิด กำชับจนท.ปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน
“สธ.” เร่งหาสาเหตุบุคลากรการแพทย์ รพ.เอกชน-ASQ ติดโควิด กำชับจนท.ปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน
นพ.จักรรัฐ พิธยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้ เริ่มพบการติดเชื้อภายในประเทศอยู่ในวงจำกัดของบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาลเอกชนคู่ปฏิบัติการของ Alternative State Quarantine (ASQ) ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค และสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ได้ร่วมลงพื้นที่ดำเนินการสอบสวนโรค ติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและเสี่ยงต่ำ
ข้อมูลสอบสวนโรคในเบื้องต้น ผู้ติดเชื้อเป็นบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลแห่งเดียวกันรวม 5 ราย ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชนคู่ปฏิบัติการของ ASQ โดยรายแรกเริ่มมีอาการและตรวจพบเชื้อเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.63 (เป็นผู้ป่วยที่รายงานแล้วเมื่อวันที่ 5 ธ.ค.63) และในวันนี้พบเพิ่ม 4 ราย ซึ่งรายที่ 2 ของกลุ่มก้อนนี้ตรวจพบเชื้อเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.63 ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานและพักห้องเดียวกันกับผู้ติดเชื้อรายแรก,
ต่อมารายที่ 3 ตรวจพบเชื้อเมื่อวันที่ 5 ธ.ค.63, รายที่ 4 ตรวจพบเชื้อเมื่อวันที่ 5 ธ.ค.63 เข่นกัน และให้ประวัติว่าเริ่มมีอาการเล็กน้อยเมื่อวันที่ 29 พ.ย.63 และรายที่ 5 ตรวจพบเชื้อเมื่อวันที่ 6 ธ.ค.63 แต่ไม่มีอาการ ทั้งหมดเป็นเพื่อนร่วมงานของผู้ติดเชื้อรายแรก
ทั้งนี้ เบื้องต้นตรวจผู้สัมผัสรวม 280 ราย เป็นกลุ่มเสี่ยงสูง 51 ราย ผลตรวจทั้งหมดไม่พบการติดเชื้อ และกลุ่มเสี่ยงต่ำ 229 ราย ผลออกแล้ว 14 รายไม่พบการติดเชื้อ และยังรอผลอีก 215 ราย
ส่วนสาเหตุของการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์กลุ่มดังกล่าว อยู่ระหว่างการสอบสวนและการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ทั้งนี้ จะได้มีการรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมและแถลงให้ทราบต่อไป
นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการไปยังโรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่งให้กำชับบุคลากรเข้มงวดการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล และสั่งการให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ติดตาม กำกับดูแลมาตรฐานของสถานกักกันทุกรูปแบบ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ
ในส่วนของผู้โดยสารที่เดินทางเที่ยวบินเดียวกับผู้ติดเชื้อหญิงอายุ 51 ปีใน จ.สิงห์บุรี ขณะนี้ยังไม่มีรายงานพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม หากผู้โดยสารที่เดินทางในเที่ยวบินเดียวกันหรือวันเดียวกัน มีความกังวล สามารถสอบถาม รับคำปรึกษาที่สายด่วน 1422 หรือสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้ประสานงานกับกระทรวงคมนาคม เข้มงวดมาตรการควบคุมป้องกันโรคของสนามบิน และบนเครื่องบิน เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาชน
ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวถึงกรณีพบผู้ติดเชื้อเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานใน ASQ อยู่ระหว่างการสอบสวนหาสาเหตุร่วมกับกรมควบคุมโรค ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและเสี่ยงต่ำเข้าสู่ระบบการกักกันและเฝ้าระวังอาการทั้งหมดแล้ว ขณะนี้ยังไม่พบผู้ติดเชื้อ
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าโรงแรมที่เข้าร่วมเป็น ASQ ต้องผ่านมาตรฐาน 6 ด้านตามที่กำหนด และโรงพยาบาลที่เป็นคู่สัญญาต้องปฏิบัติตามหลักการควบคุมจัดการโรคติดต่อ การเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคโควิด 19 (Infectious Control) และแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษา กรณีโรคโควิด 19 (CPG) อย่างเคร่งครัด โดยวันที่ 9 ธ.ค.63 จะประชุมชี้แจงและซักซ้อมแนวปฏิบัติตามคู่มือปฏิบัติงาน (SOP) ผ่านระบบ Web-ex และ Zoom Meeting อีกครั้ง โดยขอให้ผู้ปฏิบัติงานใน ASQ ดำเนินการอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการเข้าเก็บตัวอย่างตรวจหาเชื้อและการถอดชุดป้องกัน ที่ต้องดำเนินการอย่างถูกต้องและระมัดระวัง เนื่องจากเป็นจุดเสี่ยงที่อาจทำให้ติดเชื้อได้
นพ.ธเรศ กล่าวว่า สถานกักกันที่รัฐจัดให้และสถานกักกันที่รัฐกำหนด เป็นกลไกสำคัญในการคัดกรองและควบคุมโรคโควิด-19 ที่มาจากต่างประเทศ โดยปัจจุบันมี State Quarantine (SQ) 25 แห่ง Alternative State Quarantine (ASQ) 116 แห่ง Alternative Local Quarantine (ALQ) 39 และ และ Alternative Hospital Quarantine (AHQ) 183 แห่ง
ปัจจุบันมีผู้เดินทางเข้ามาสู่ระบบการกักกันทุกรูปแบบ 171,016 คน อัตราการติดเชื้อ 0.67% หากพิจารณาเฉพาะส่วนของ ASQ อยู่ที่ 0.54% ถือว่ายังไม่สูงผิดปกติ สำหรับโรงพยาบาลคู่สัญญาที่เข้ามาดูแลผู้เข้ากักตัวในส่วนของโรงแรม ASQ มีจำนวน 17 แห่ง ดังนั้น โรงพยาบาล 1 แห่งจึงเป็นคู่สัญญากับโรงแรมหลายแห่ง