เปิดหุ้นได้-เสียประโยชน์ค่าเงินบาทแข็ง โบรกฯชี้เสี่ยงหลุด 30 บ./ดอลฯ

เปิดหุ้นได้-เสียประโยชน์ค่าเงินบาทแข็ง โบรกฯชี้เสี่ยงหลุด 30 บ./ดอลฯ


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า คาดเงินบาทอาจทยอยแข็งค่าไปที่ระดับ 29.00-29.25 บาท/ดอลลาร์ฯ ในช่วงปลายปี 2564 ท่ามกลางแรงหนุนจากปัจจัยที่อ่อนแอของเงินดอลลาร์ฯ โดยเฉพาะแนวโน้มการดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของเฟด เพื่อช่วยสร้างความเชื่อมั่นและประคองเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจากปัจจัยพื้นฐานของไทยที่เกิดจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด และความเป็นไปได้ที่จะมีกระแสเงินทุนไหลเข้าตลาดการเงินในเอเชียและไทยต่อเนื่อง

ด้านนักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2563 ที่ผ่านมา อยู่ที่ 30.08 บาท/ดอลลาร์ ถือเป็นระดับแข็งค่าสุดในรอบ 11 เดือน โดยนับตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค.6 โดยในระหว่างวันเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 29.98-30.08 บาท/ดอลลาร์ คาดทางการเข้ามาดูแลเงินบาทไม่ให้แข็งค่ามากเกินไป โดยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทสัปดาห์หน้าไว้ระหว่าง 30.00-30.15 บาท/ดอลลาร์

จากปัจจัยดังกล่าวทีมข่าว “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” จึงทำการสำรวจข้อมูลกลุ่มธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากเงินบาทแข็งค่า และได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่ามานำเสนอ โดยอาศัยข้อมูลจากโบรกเกอร์ชั้นนำของไทย อาทิ บล.เคทีบี (ประเทศไทย,บล.ทรีนีตี้ และบล.ทิสโก้ ซึ่งระบุในบทวิเคราะห์ดังนี้

บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า หุ้นที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากค่าเงินบาทแข็งค่า ได้แก่

1) กลุ่มสายการบิน THAI, AAV, BA มีโครงสร้างต้นทุนเป็นเงินสกุลดอลลาร์ราว 60% ค่าเงินบาทแข็งค่าจะทำให้ต้นทุนลดลง อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้อาจจะได้ผลบวกไม่มากเนื่องจากจำนวนเที่ยวบินที่ลดลง

2) กลุ่มพลังงาน เนื่องจากมีเงินกู้สกุลเงินดอลลาร์ส่งผลให้มีการบันทึก unrealized fx gain เรียงลำดับมากสุด ได้แก่ PTT, PTTGC, TOP ขณะที่ฝั่งรายได้และค่าใช้จ่ายจะเกิด natural hedge

3) กลุ่มโรงไฟฟ้า เนื่องจากมีเงินกู้สกุลเงินดอลลาร์ส่งผลให้มีการบันทึก unrealized fx gain เข้ามา อย่างไรก็ตาม รายการดังกล่าวเป็นเพียงรายการทางบัญชีและไม่ได้มีผลกระทบต่อกระแสเงินสด ทั้งนี้หุ้นที่มี impact จากประเด็นดังกล่าวประกอบด้วย GULF, BGRIM, GPSC, RATCH, WHAUP, GUNKUL

4) อื่นๆ

TVO จะได้ต้นทุนนำเข้าวัตถุดิบที่ถูกลง (บริษัทนำเข้าถั่วเหลืองจากต่างประเทศราว 75-80%) ทุกๆ 1 บาทที่แข็งค่า จะทำให้กำไรเพิ่มขึ้นประมาณ +7%

TKN ประเมินจะได้ผลบวกเล็กน้อย เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายเป็นดอลลาร์มากกว่ารายได้เล็กน้อย

ทั้งนี้ หุ้นที่น่าสนใจจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นยังชอบ GPSC (ถือ/เป้า 85.00 บาท) จากแนวโน้มกำไรไตรมาส 4/2563 ที่จะทำสถิติสูงสุดใหม่ และ TVO (ซื้อ/เป้า 37.00 บาท) อาจจะทำให้กำไรมีแนวโน้มดีกว่าคาดเดิม

 

ส่วนหุ้นที่คาดว่าจะได้รับผลลบจากค่าเงินบาทแข็งค่า  ได้แก่

1) กลุ่มอิเลกทรอนิกส์ เนื่องจากรายได้ส่วนใหญ่มาจากการส่งออก การแข็งค่าของเงินบาททุกๆ 1 บาท จะมีผลทำให้กำไรของ KCE ลดลง -6% และ HANA ลดลง -5%

2) กลุ่มอาหาร เนื่องจากมีรายได้ส่วนใหญ่จากต่างประเทศ โดยเรียงลำดับทุกการแข็งค่า 1 บาทจะส่งผลต่อกำไรลดลงดังนี้ STA -6%, TU -5%, CPF -5%, ASIAN -5%, GFPT -2%

3) อุตสาหกรรมอื่นที่ได้ผลกระทบเชิงลบจากค่าเงินบาทแข็งยังคงมีสาเหตุจากรายได้ส่วนใหญ่มาจากการส่งออก ได้แก่

SMPC ประเมินทุกๆ 1 บาทที่แข็งค่าทำให้กำไรลดลง -8-10%

MEGA ประเมินทุกๆ 1 บาทที่แข็งค่าทำให้กำไรลดลง -7%

EPG ประเมินทุกๆ 1 บาทที่แข็งค่าทำให้กำไรลดลง -4%

 

บล.ทรีนีตี้  ระบุในบทวิเคราะห์ว่า เงินบาทมีโอกาสกลับมาแข็งค่าที่สุดในรอบปี โดยเงินบาทยังคงแข็งค่าอย่างต่อเนื่องและมีโอกาสที่จะหลุดระดับ 30 บาทต่อดอล์ลาร์ (ล่าสุดอยู่ที่ระดับ 30.20 บาทต่อดอล์ลาร์) หลังจากมีการไหล่เข้าของ Fund Flow เข้ามามากขึ้น

ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ได้เลื่อนการแถลงมาตรการดูแลค่าเงินบาท จากเดิมในวันที่ 9 ธ.ค. ออกไปก่อน คาดว่าจะยิ่งมีแรงเก็งกำไรค่าเงินบาทเข้ามาอีก และ Fund flow ไหลเข้ามามากขึ้น จนอาจทำให้เงินบาทแข็งค่าทำสถิติใหม่ของรอบนี้ได้ Implication: กลุ่มหุ้นนำเข้าสินค้าอย่างเช่น COM7, SYNEX, SPVI และ JMART ที่น่าจะได้รับผลบวกจากเงินบาทที่แข็งค่า

 

บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคคราะมอง SET แกว่งไซด์เวย์อัพ จากความหวังวัคซีนและมาตรการกระตุ้นศก.สหรัฐฯ ขณะที่บาทแข็งค่าสุดใหม่ของปีนี้ แตะระดับ 30 บ./$ ช่วยหนุนแนวโน้ม Fund Flows ไหลเข้าต่อเนื่อง

อีกทั้งผสานกับรัฐบาลทยอยกระตุ้นการใช้จ่ายและการท่องเที่ยวภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งปรับปรุงโครงการ เราเที่ยวด้วยกัน, โครงการ คนละครึ่ง เฟส 2 และการเติมเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 500 บ./คน/เดือน เป็นเวลา 3 เดือน (ม.ค.  มี.ค.)

อย่างไรก็ดี สัญญาณเทคนิคอยู่ในเขต Overbought ต่อเนื่อง และกำลังก่อตัว Negative Divergence ต้องระวังความผันผวนจากแรงขายทำกำไรระยะสั้น โดยเฉพาะก่อนช่วงหยุดยาวสัปดาห์นี้ แนวรับ 1470-72, 1460 แนวต้าน 1484-85, 1500

ทั้งนี้บาทแข็งค่าเป็นผลดีต่อหุ้นนำเข้าสินค้า-วัตถุดิบต่างประเทศ หุ้นโรงไฟฟ้า รวมทั้งหุ้นพลังงาน-ปิโตรเคมีที่คาดจะมีกำไรจาก FX – SYNEX, TVO / GULF, EGCO BGRIM / PTT, PTTGC แต่จะเป็นลบต่อหุ้นส่งออกทั้งอิเล็กฯ-อาหาร

ด้านนางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า หลังจากข่าวความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนและทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มดีขึ้นในช่วงเดือน พ.ย.63 ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนลงอย่างรวดเร็วประมาณ 3.5% ซึ่งเป็นระดับอ่อนค่าที่สุดในรอบ 2 ปีครึ่ง ทำให้สกุลเงินภูมิภาคหลายประเทศปรับแข็งค่าขึ้นมาก อาทิ เงินหยวนแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 2 ปีครึ่ง เงินวอนเกาหลีใต้และเงินดอลลาร์สิงคโปร์แข็งค่าสุดในรอบ 3 ปี เงินดอลลาร์ไต้หวันแข็งค่าสุดในรอบ 23 ปี

เช่นเดียวกับเงินบาทก็ได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกเช่นเดียวกัน โดยตั้งแต่เดือน พ.ย.ที่ผ่านมา แข็งค่าขึ้น 3.5% เทียบกับเงินวอนเกาหลีใต้ที่แข็งค่าขึ้น 4.5% และเงินรูเปียห์อินโดนีเซียแข็งค่าขึ้น 3.9% อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับต้นปี เงินบาทยังอ่อนค่าอยู่เล็กน้อย

ทั้งนี้ ธปท. ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทและได้เข้าดูแลเพื่อชะลอความผันผวนที่จะกระทบต่อการปรับตัวของภาคเศรษฐกิจจริง รวมถึงจะติดตามสถานการณ์ในตลาดการเงินอย่างใกล้ชิด

*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button