“สธ.” แจงไทม์ไลน์ “แพทย์” กทม. ติด “โควิด” รายที่ 7 ยันความเสี่ยงแพร่เชื้ออยู่ในวงจำกัด

"สธ." แจงไทม์ไลน์ “แพทย์” กทม. ติด “โควิด” รายที่ 7 กรุ๊ปเดียวกับเคสยืนยันก่อนหน้า ยันความเสี่ยงแพร่เชื้ออยู่ในวงจำกัด


นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค เปิดเผยรายละเอียดของผู้ป่วยที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ รายที่ 7 ที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า ผู้ป่วยรายนี้อยู่ในกลุ่มเดียวกับบุคลากรทางการแพทย์ 6 รายที่ติดโควิดไปก่อนหน้า โดยผู้ป่วยรายที่ 7 มีประวัติเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยรายที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่เริ่มป่วยคนแรก อีกทั้งผู้ป่วยรายที่ 7 ยังพักอาศัยร่วมห้องเดียวกับผู้ป่วยรายที่ 6 ก่อนที่จะทราบว่าผู้ป่วยรายที่ 6 ติดเชื้อโควิด

“ทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นในกลุ่มเดียวกัน เริ่มจากผู้ติดเชื้อรายแรก ติดเชื้อจากสถานที่กักกันทางเลือก (ASQ) หลังจากนั้น มีกิจกรรมนอกเวลางาน ใช้ชีวิตประจำวันร่วมกัน เช่น พักที่เดียวกัน รับประทานอาหารด้วยกัน” นพ.โสภณ กล่าว

โดยผู้ป่วยรายที่ 7 ได้รับการตรวจครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.63 แต่ไม่พบเชื้อ ซึ่งตามมาตรฐานของการเฝ้าระวังและกักกันโรค ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง จะต้องได้รับการดูแลโดยได้อยู่ในสถานที่กักกันตั้งแต่วันที่ 8 ธ.ค.แล้ว  และมีการติดตามประวัติการสัมผัสตามไทม์ไลน์ดังนี้

วันที่ 4 ธ.ค. ทำงานใน ward เดียวกับผู้ป่วยรายที่ 4

วันที่ 5-7 ธ.ค. อยู่คอนโดฯ เดียวกับผู้ป่วยรายที่ 6, รับประทานอาหารกับผู้ป่วยรายที่ 6

วันที่ 8 ธ.ค. เก็บ Swab NS ครั้งที่ 1 ผลตรวจไม่พบเชื้อ

วันที่ 9-11 ธ.ค. พักในพื้นที่กักกันของ รพ. โดยไม่มีอาการ

วันที่ 12 ธ.ค.  มีอาการเจ็บคอ แน่นจมูก ผลตรวจพบเชื้อ

“ในวันที่ 8 ธ.ค. เมื่อเพื่อนร่วมห้องพักตรวจพบเชื้อ ผู้ป่วยรายที่ 7 นี้ก็เข้ารับการตรวจด้วย แต่ยังไม่พบเชื้อ และเข้าสู่สถานที่กักกัน ผ่านมาอีก 4 วัน คือ 12 ธ.ค. เริ่มมีอาการเจ็บคอ แน่นจมูก จึงได้รับการตรวจเชื้อซ้ำอีก และครั้งนี้ทำให้พบว่าติดโควิด-19 จึงอยู่ในการดูแลรักษาของแพทย์ จะเห็นได้ว่าวันที่ 8-12 ธ.ค. จะอยู่ในที่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับผู้อื่น จึงถือว่ามีความปลอดภัยสูง เพราะช่วงเวลาดังกล่าว ผู้ป่วยรายที่ 7 นี้ยังไม่มีอาการแต่อย่างใด และอยู่ในสถานที่ที่เป็นเอกเทศ และ 2 รายนี้ตอนนี้ก็อยู่ใน รพ.แล้ว” นพ.โสภณ กล่าว

พร้อมย้ำว่า กรณีของบุคลากรทางการแพทย์นี้จึงไม่ต้องกังวล ซึ่งหากผู้ที่พักอยู่ในคอนโดฯ เดียวกับผู้ป่วยทั้ง 2 รายนี้ หากไม่มีอาการป่วย ก็ถือว่าเป็นกลุ่มที่ไม่เสี่ยง แต่หากสงสัยและมีอาการป่วย เพราะมีการใกล้ชิดกับผู้ป่วยในระยะก่อนหน้า โดยมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส สามารถไปขอรับการตรวจที่สถานพยาบาลใกล้บ้านได้ ส่วนกลุ่มผู้ที่มีความเกี่ยวข้องก็ได้รับการตรวจและติดตามอาการให้ครบทั้ง 14 วัน

“ผลการสอบสวน ก็พบว่าความเสี่ยงยังจำกัดอยู่ในเฉพาะกลุ่มนี้ที่เป็นผู้ร่วมงานกัน ขอให้ประชาชนไม่ต้องตระหนก แต่ขอให้ตระหนักกับความสำคัญในการป้องกันโรคต่อ ซึ่งในการป้องกันการติดเชื้อโควิดนี้ เรามีโอกาสติดเชื้อจากสถานที่อื่นๆ ได้เช่นกัน ดังนั้นมาตรการสำคัญ คือ การสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ลดโอกาสเสี่ยงในการเข้าไปอยู่ในที่ที่มีคนจำนวนมาก และล้างมือบ่อยๆ ส่วนสถานที่พัก ก็ต้องหมั่นทำความสะอาดในจุดที่มีการใช้พื้นที่ร่วมกันบ่อยๆ เช่น ราวบันได ลูกบิดประตู เครื่องใช้ต่างๆ หากปฏิบัติตัวได้ตามนี้ โอกาสจะได้รับเชื้อก็จะน้อย” นพ.โสภณ ระบุ

ส่วนกรณีที่ในปีหน้ามีโอกาสที่ประชาชนจะได้รับการฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 นั้น ประเทศไทยมีแผนรองรับนักท่องเที่ยวในกลุ่มนี้เข้าประเทศอย่างไรนั้น นพ.โสภณ กล่าวว่า ประชาชนจำนวนหนึ่งจะได้รับการฉีดวัคซีน ซึ่งวัคซีนของแต่ละบริษัทอาจให้ประสิทธิผลที่แตกต่างกัน โดยในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขเองมีคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกำลังศึกษาประเด็นนี้ แต่คาดว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนและได้รับการยืนยันว่ามีภูมิคุ้มกันแล้ว จะได้รับการปฏิบัติและดูแลที่แตกต่างไปจากปัจจุบันนี้ที่ผู้เดินทางเข้าไทยทุกคนจะต้องเข้ารับการกักตัว 14 วัน

“การเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับคนที่จะเข้ามามากขึ้นจากการที่ฉีดวัคซีนแล้วมีภูมิคุ้มกันนั้น ก็น่าจะมีการผ่อนคลายมาตรการ ทำให้เราสามารถรองรับและดูแลคนที่เดินทางเข้ามาจากต่างประเทศได้มากขึ้น ส่วนรายละเอียด แนวทาง และวิธีปฏิบัตินั้น จะออกมาในเร็วๆ นี้” ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป ระบุ

Back to top button